กินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน กินขนมโก๋ ติดทั้งฟันและเหงือก
ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมา “ขนม” มีผู้กล่าวว่า คำเดิมน่าจะมาจาก คำว่า “เข้าหนม” คำว่า “เข้า” เขียนตามแบบโบราณ ในปัจจุบันเขียนว่า “ข้าว” ส่วน “หนม” จึงแปลว่าหวาน “เข้าหนม” จึงแปลว่า ข้าวที่ผสมกับน้ำอ้อย น้ำตาล ให้รสหวานขึ้น โดยในพงศาวดารเมืองน่าน (ประชุมพงศาวดาร ภาค 10) เรียกขนมว่า เข้าหนม และชาวไทยลื้อก็เรียกว่า เข้าหนม เช่นกัน และต่อมาภาษาคงจะกร่อนมาเป็น “ขนม” แบบที่เขียนในปัจจุบัน
ขนม จัดเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่กับข้าว และอยู่คู่สำรับข้าวของคนไทยมาแต่ครั้งโบราณโดยเชื่อกันว่า คนไทยกินขนมมาแต่ครั้งสุโขทัย โดยมีหลักฐานพบคำว่า “ขนม” ในไตรภูมิพระร่วง และในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีตลาดขายขนมที่เรียกกันว่า “ป่าขนม” ในสมัยโบราณ มีการทำขนมโก๋ ภาษาใต้ เรียกว่า “ขนมเกาะ” เป็นขนมพื้นบ้านที่นิยมรับประทานและเป็นขนมมงคลที่ใช้ในงานแต่งงานในการจัดขันหมาก เพราะภาษาใต้เรียกว่า”ขนมเกาะ”เปรียบเสมือนว่าจะต้องเกาะกันเหนียวแน่น เหมือนขนมเกาะ ตามประเพณีดั้งเดิมจะใช้เป็นขนมในการไปเคารพผู้หลักผู้ใหญ่
ขนมโก๋ปลาทอง
ขนมโก๋ห่อกระดาษสีแถมลูกโป่ง
ขนมโก๋มีไส้ 2 อย่าง
ขนมโก๋ เป็นแป้งหวานสีขาว รูปทรงต่างๆ ลวดลายสวยงาม แป้งขนมโก๋ ผลิตจากปลายข้าวเหนียวที่แช่น้ำแล้วนึ่งให้สุก อบลดความชื้นจนแห้งแล้วบดให้ละเอียด แป้งชนิดนี้หยาบกว่าแป้งข้าวโม่น้ำทั่วไปเนื่องจากผลิตจากข้าวสุก
ลักษณะที่โดดเด่นของขนมโก๋ คือ มีรสชาติ กลมกล่อม เหนียวนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง หวานพอดี
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. แป้งขนมโก๋สำเร็จรูป (แป้งข้าวเหนียว)
2. น้ำตาล
3. ไส้ขนม (ฟัก,งา,น้ำตาล) ไส้หวาน/ไส้เค็ม เพิ่มเกลือ
สูตรแป้ง 1 กิโลกรัม
น้ำตาล 1.1 กิโลกรัม
ไส้ขนม : ฟัก 1 กิโลกรัม
น้ำตาล 1.5 กิโลกรัม
เกลือ 1 ช้อนชา
ขั้นตอนการผลิต
1. เตรียมอุปกรณ์
2. ตวงแป้ง น้ำตาล ตามสูตร
3. นำส่วนผสม มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำมานวด ประมาณ 30 นาที จนกระทั่งแป้งขนมนิ่ม
4. นำแป้งใส่ในแป้นพิมพ์ แล้วเคาะออกมาวางไว้ ประมาณ 2 ชั่วโมง บรรจุใส่ถุง พร้อมจำหน่าย
ขนมโก๋อ่อน
เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต
เทคนิค: จะต้องนวดแป้งให้นิ่มที่สุด เท่าที่จะนิ่มได้
เคล็ดลับ: ไส้ขนมจะต้องกวนจนเหนียว
ภูมิปัญญา: กรรมวิธีการผลิตเป็นการสืบทอดกันมาแต่โบราณ