"อ่าวปัตตานี" กับระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลาย
"อ่าวปัตตานี" กับระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลาย
จังหวัดปัตตานีมีทรัพยากรชายฝั่งที่สำคัญคือ "อ่าวปัตตานี" เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของเอเชีย อ่าวปัตตานีมีพื้นที่ผิวน้ำ 74 ตารางกิโลเมตร อ่าวปัตตานีเป็นอ่าวกึ่งเปิดเนื่องจากมีแหลมโพธิ์ยื่นออกไปในทะเลยาว ประมาณ 18.5 กิโลเมตร พื้นที่ตอนในจึงกลายเป็นอ่าว แหลมโพธิ์ที่ยื่นออกไปช่วยกำบังคลื่นลม ทำให้การหมุนเวียนของน้ำจึงมีเฉพาะภายในอ่าว โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภายในอ่าวเหมาะสำหรับเป็นที่แวะพักจอดเรือ อ่าวปัตตานีรับน้ำจืด แร่ธาตุ และตะกอนจากแม่น้ำสำคัญสองสาย คือ แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำยะหริ่ง ทำให้ภายในอ่าวมีสภาพกร่อย และกลายเป็นอ่าวที่เก็บกับดักตะกอนและแร่ธาตุต่างๆ โดยความเค็มแปรผันตามฤดูกาล อ่าวปัตตานีมีสัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากะพง ปลากระรัง ปาดุกทะเล กุ้งกุลาดำ กุ้งแช่บ๊วย หอยแครง ปูม้า หอยแมลงภู่ หอยนางรม รวมทั้งพืชน้ำ เช่น สาหร่ายหลายชนิดโดยเฉพาะ สาหร่ายผมนาง (Glacilaria) เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญจากท้องทะเลในอ่าวปัตตานี
เดิมอ่าวปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านชีวภาพสูงมาก เป็นอ่าวที่สำคัญในการเป็นแหล่งอนุบาล แหล่งอาหาร แหล่งผสมพันธุ์ และแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการใช้ประโยชน์อ่าวปัตตานีอย่างไร้ทิศทางและไม่เป็นระบบ ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆมากมายเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งเป็นปัญหาที่เกิดจากการดำเนินนโยบายอย่างไม่มีแบบแผนของภาครัฐ และปัญหาของภาคเอกชนบุกรุกพื้นที่ ส่งผลให้ระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีถูกทำลาย จนเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วและอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น การขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ บนฝั่งแม่น้ำและบริเวณปากอ่าวปัตตานี การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน
ในปัจจุบันระบบนิเวศน์และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีได้ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วและอยู่ในภาวะวิกฤติ สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ บนฝั่งแม่น้ำและบริเวณปากอ่าวปัตตานี การขยายตัวของพื้นที่นากุ้ง การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน และสาเหตุสำคัญที่สุดเกิดจากการทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์หน้าดินและพื้นที่สาหร่ายโดยเรืออวนรุน อวนลาก ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียแหล่งผลิตอาหารยังชีพ ต้องอพยพทิ้งถิ่นอาศัยไปหางานทำที่มาเลเซีย และประสบปัญหาความยากจนและปัญหาด้านต่างๆ เป็นลูกโซ่ตามมาอย่างมากมาย
ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ชาวบ้านต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหา "อวนรุน อวนลาก" ทั้งทะเลในและทะเลนอก ก่อนที่จะไม่มีปลาหรือสัตว์ทะเลหลงเหลืออยู่ให้ลูกหลานของเราเองในอนาคตอันใกล้นี้