ต้นกําเนิดที่มาของต้นยางพาราในประเทศไทย
ขโมยเพื่อมนุษยชาติ
ขโมย เป็นการกระทำที่เลวร้าย เป็นที่รังเกียจของชนทุกชาติ และทุกยุคสมัย แต่ก็มีคนประเภทหนึ่งอ้างว่า การขโมยพันธุ์พืช ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อมนุษยชาติ โดยพันธุ์พืชดีที่เจ้าของผสมขึ้นมาใหม่ หรือค้นหามาได้ และรักษาไว้ด้วยความหวงแหนเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวเอง จึงขโมยไปเผยแพร่ให้ปลูกกันอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมาก
แน่นอนว่าคนที่อ้างเช่นนี้ ก็คงเป็นอื่นไปไม่ได้ คือคนที่ขโมยพันธุ์พืชนั่นแหละ แต่การกระทำของเขาก็พิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดในวันนี้แล้วว่า เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ชาติจริงๆ
ยกตัวอย่างซักเรื่องก็ได้ อย่างการขโมย “พันธุ์ยางพารา”
ยางพาราไม่ใช่พืชพื้นเมืองของไทย เป็นพืชลุ่มน้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ ชาวมายาเรียกกันว่า “ต้นไม้ร้องไห้” เพราะจะมียางไหลออกมาเมื่อเปลือกถูกกรีด แต่ที่เรียกกันว่า “ยางพารา” ก็เพราะเมืองพาราซึ่งเป็นเมืองท่าของประเทศบราซิล เป็นศูนย์กลางการค้ายางพันธุ์นี้ จึงระบุให้ชัดว่าเป็นยางที่มาจากแหล่งใด
ชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาใต้ รู้จักยางพารามาหลายพันปีแล้ว แต่คนยุโรปเพิ่งรู้จักเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมานี้เอง และรู้จักนำยางมาทำเครื่องใช้ต่างๆเมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมานี้
ยางเป็นพืชที่บราซิลหวงแหน ออกกฎหมายห้ามนำพันธุ์ออกนอกประเทศโดยเด็ดขาด แต่ในปี ๒๔๑๙ รัฐบาลอังกฤษก็จ้างคนขโมยเมล็ดยางเป็นลำเรือ เอาไปเพาะที่สวนพฤกษชาติ KEW ในกรุงลอนดอน ได้ต้นยางเพียง ๓,๐๐๐ ต้นจากเมล็ดราว ๗๐,๐๐๐ เมล็ด และเมื่อเห็นว่าอากาศในอังกฤษไม่เหมาะสมกับการเติบโตของยาง จึงนำกล้ายาง ๑,๙๐๐ ต้นใส่เรือมาปลูกในศรีลังกา อินโดเนเซีย และมลายู อาณานิคมของตน
การเดินทางของยางพารามาสู่ประเทศไทยนั้น มีบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เดินทางไปมาเลเซีย คิดจะนำยางมาปลูกในไทยบ้าง แต่รัฐบาลอังกฤษหวงพันธุ์ยางที่ขโมยมาเหมือนกัน ไม่ยอมให้นำออก
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี มหาอำมาตย์โท
ต่อมาในพ.ศ.๒๔๔๔ พระสถลสถานพิทักษ์ หลานชายผู้เป็นเจ้าเมืองตรังต่อจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เดินทางไปดูงานที่อินโดนีเซีย แอบนำกล้ายางกลับมาได้ โดยเอาสำลีชุบน้ำหุ้มรากแล้วห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้น บรรจุใส่ในลังไม้ ๔ ลัง พอแอบขนลงเรือได้ก็สั่งให้เรือรีบเดินทางกลับมาก่อนทันที
พระสถลสถานพิทักษ์นำกล้ายางรุ่นแรกนี้ ไปปลูกที่บ้านพักในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ปรากฏว่าต้นยางเจริญเติบโตได้ดีมาก จึงได้ขยายขึ้นเรื่อยๆ จนมีสวนยางถึง ๔๕ ไร่ จากนั้นพระยารัษฎานุประดิษฐ์จึงจัดให้ข้าราชการไปเรียนวิชาปลูกยาง เพื่อนำไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านรู้จักทำสวนยางและกรีดยาง หาพันธุ์ยางดีๆไปแจกจ่ายให้ชาวใต้ปลูกยางกันแพร่หลาย แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ยางเทศา” และยกย่องพระยารัษฎานุประดิษฐ์ว่าเป็น “บิดายางพาราไทย”
จะเห็นว่าการเผยแพร่พันธุ์ยางพาราที่บราซิลหวงแหนนั้น เริ่มด้วยการขโมย จึงทำให้ยางแพร่หลายกระจายไปหลายประเทศ และโลกได้ใช้ประโยชน์จากยางมากมาย
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มาเลเซียคุยโขมงว่าพบยางพาราพันธุ์ดีที่สุดของโลก นักการเกษตรไทยกลุ่มหนึ่งก็หูผึ่งทันที ติดต่อขอไปดูงานที่รัฐเคด้า ซึ่งทางมาเลเซียก็ตอบรับด้วยความยินดี นักเกษตรไทยทั้งชายและหญิงจึงใช้รถตู้ ๑ คันเป็นพาหนะ ข้ามแดนไปที่สถานีเพาะยางพันธุ์ใหม่ของมาเลเซีย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียนำชมสวนยาง กลุ่มหนึ่งก็ล้อมหน้าล้อมหลังซักถามด้วยความสนใจ อีกกลุ่มหนึ่งแอบเด็ดยอดยางซุกซ่อน ฝ่ายหญิงบางคนซ่อนยอดยางมาในยกทรง พอได้ครบจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็พยักหน้าส่งสัญญาณให้ฝ่ายซักถามรู้ จากนั้นก็รีบลากลับกะทันหัน จนฝ่ายมาเลเซียยืนงงที่ดูยังไม่ทันทั่ว และเตรียมอาหารไว้ต้อนรับเก้อ
เมื่อข้ามแดนกลับมา ก็รีบเอายอดยางพันธุ์ดีไปเปลี่ยนต้นตอที่แอบซ่อนไว้ตอนก่อนข้ามเขตแดนเข้าไป ทุกคนต่างเร่งรีบเปลี่ยนยอดต้นตอพันธุ์เก่าของไทยเป็นพันธุ์ใหม่ของมาเลเซีย ด้วยความครึกครื้นรื่นเริงที่ทำงานครั้งนี้สำเร็จราบรื่นด้วยดี ผู้ชายที่ทำหน้าที่เปลี่ยนยอด ยังยกยอดยางขึ้นมาดม แล้วหยอกล้อเพื่อนสาวว่า
“ใครเป็นคนเอายอดนี้มานะ หอมกว่าทุกยอดเลย”
ก็หมายถึงยอดที่ซ่อนมาในยกทรงนั่นแหละ
นี่ก็เป็นเบื้องหลังที่ไทยมียางพันธุ์ดีไม่แพ้มาเลเซีย และเป็น “การขโมยเพื่อมนุษยชาติ?”