โห้. เป็นแบบนี้จริงๆเหรอ? หาดแสงจันทร์ จ. ระยอง ที่โค้งเป็นครึ่งวงกลมทั่วหาด
โห้. เป็นแบบนี้จริงๆเหรอ???
CR Pic : @QueenXinee
Raitiam Atjivanantha ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า
จริงครับ
สังคมไทยขาดความรู้ในเรื่องนี้ อย่างมาก
การกัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศไทยในทุกภูมิภาคที่ติดทะเล มีสาเหตุมาจากการสร้างสิ่งแปลกปลอมรบกวนชายหาด เช่น รอดักทราย (groin) เขื่อนกันคลื่น (breakwater, jetty, seawall) ทั้งสิ้น การก่อสร้างเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการกัดเซาะ แต่กลับทำลายชายหาดเสียเอง
นอกจากนี้ ยังเกิดจากการพัฒนาหรือรูปแบบการใช้ที่ดินชายฝั่ง ซึ่งมีผลกระทบต่อชายหาดทั้งสิ้น เช่น การสร้างอาคารบำบัดน้ำเสียติดชายหาด การตัดถนนริมชายหาด การถมทะเลสร้างท่าเรือ การสร้างโครงสร้างแข็งบนชายหาด เช่น ตลิ่ง ทางเดิน อาคารสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ การทำนากุ้ง ฯลฯ
มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ชายหาดมีกระบวนการฟื้นฟูตัวเอง จากการสะสมตะกอนชายฝั่ง บางครั้งทรายจะหายไป แต่มันก็จะกลับมา แต่กิจกรรมของมนุษย์ไปยับยั้งกระบวนการชายหาดเหล่านั้น ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ จนเกิดการกัดเซาะ (ใน ตปท. มีการกำหนดระยะถอยร่นชายฝั่ง ห้ามตั้งถิ่นฐานในระยะ 500 ฟุต) และหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าของที่ดิน คิดว่าเป็นปัญหา จึงแก้ปัญหาโดยการทำโครงสร้างแข็งขึ้นมาป้องกัน ซึ่งในต่างประเทศพบว่า มันไร้ประสิทธิภาพและยังเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง เพราะแม้โครงสร้างแข็งเหล่านั้นจะป้องกันบริเวณที่ก่อสร้างนั้นได้ชั่วคราว แต่คลื่นจะเลี้ยวเบนจาก ปฏิกิริยา end effect ไปกระทบกับชายหาดบริเวณถัดไป ยิ่งป้องกันด้วยวิธีนี้ และด้วยโครงสร้างแข็งที่มีขนาดใหญ่เท่าใด แรงปะทะของคลื่นย่ิงสูงขึ้น (กรณีปากพนัง) การกัดเซาะยิ่งรุนแรงขึ้น และเป็นลูกโซ่ ไม่มีที่สิ้นสุด
ในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับชายฝั่ง เช่น กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ คือตัวการหลักที่ทำให้ปัญหาการกัดเซาะรุนแรงขึ้น และมากกว่าผลกระทบที่เกิดจากเอกชน โดยขาดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงสาเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริง
การดำเนินการของหน่วยงานรัฐเหล่านี้ ใช้งบประมาณไปอย่างสูญเปล่า ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานนับสิบปี และจะเกิดขึ้นต่อไป ส่วนหนึ่งภาครัฐจูงใจชาวบ้านว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะสามารถแก้ปัญหาได้ เพื่อให้ได้ใช้งบประมาณ
ตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ ชายหาดชลาทัศน์ ชายหาดสะกอม จ.สงขลา ชายหาดหัวไทร-ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ชายหาดแสงจันทร์ จ.ระยอง (ในภาพบริเวณโรงแรม Kantary Bay Rayong) และชายหาดพัทยา เป็นต้น
ชายหาดเป็นสมบัติของทุกคนบนโลกที่ธรรมชาติใช้เวลารังสรรค์มานับล้านปี แต่กำลังจะพินาศไป อย่างไม่มีวันหวนคืน ด้วยความไม่รู้ และกิเลสของมนุษย์
ช่วยกันแชร์ ความรู้นี้ไปให้มากที่สุดครับ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ และลูกหลาน
บุคคลที่กำลังทำงานและให้ความรู้ในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด มีอาทิ Sakanan Platong Sasin Chalermlarp และบุคลากรของ มอ. สงขลา
Raitiam Atjivanantha