ก.พลังงาน รุก สานต่อนโยบายรัฐบาล จัดการขยะเป็นพลังงานและลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ก.พลังงาน รุก สานต่อนโยบายรัฐบาล จัดการขยะเป็นพลังงานและลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ยันมีโรงไฟฟ้าขยะ ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)แล้ว 135.48 เมกะวัตต์ คาดปี 2560 เกิดการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 348 เมกะวัตต์ และขยะจากอุตสาหกรรม 10 เมกะวัตต์ พร้อมตั้งเป้าหมายปลายแผนAEDP รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนได้ 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ในปี 2579
นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายส่งเสริม และปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในกลุ่มขยะของเสียเพื่อผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาล โดยขณะนี้พบว่าการผลักดันโรงไฟฟ้าขยะได้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการใช้พลังงานจากขยะชุมชนที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (CommercialOperation Date :COD) แล้วทั้งสิ้น 135.48 เมกะวัตต์ โดยกระทรวงพลังงานคาดว่าในปี 2560 จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนได้เพิ่มเป็น 348 เมกะวัตต์ และสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 10 เมกะวัตต์ โดยกระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายในระยะยาวตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้ได้ 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ เพื่อลดปัญหาการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะของเสียในประเทศในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) สำหรับไฟฟ้าจากขยะ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้เห็นชอบเมื่อปลายปี 2557 และสำหรับขยะอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (2558 – 2562) ซึ่งได้ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนได้ผลเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง และเกิดโครงการหรือแผนงานที่จะบริหารจัดการขยะที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรแบบกระจายศูนย์ โครงการศึกษาออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัด เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานจากขยะ เช่น ขอความร่วมมือในการแก้ไขผลักดันกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการบริหารจัดการขยะ และโรงไฟฟ้าขยะ รวมถึงการประสานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) สนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำโซนนิ่ง (Zoning) บริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพจากพลังงานทดแทน โดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานจากขยะเป็นลำดับแรกอีกด้วย
.........................................................