โลกจะเป็นอย่างไรหากไร้ฉลาม
Blogpost โดย Sophie Schroder
พอล ฮิลตัน กำลังจ้องมองเหล่าฉลามจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกตัดครีบทั้งเป็น หลังจากนั้นพวกมันก็ต้องตายลงด้วยความทุกข์ทรมาน
ภาพที่เห็นทำให้เขาแทบกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ได้
เมื่อปีก่อน พอล ฮิลตันร่วมเดินทางไปกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ในฐานะช่างภาพเชิงสารคดี เพื่อถ่ายทำสารคดีเปิดโปงอุตสาหกรรมการจับปลาทูน่าอย่างไร้การควบคุม ซึ่งเขาไม่ได้พบเพียงแค่ปลาทูน่าจำนวนมหาศาล (จนน่าตกใจ) ที่ถูกจับได้เท่านั้น แต่เขายังค้นพบว่ามีฉลามอีกนับร้อยนับพันตัวที่ถูกฆ่าทุก ๆ ปี เพียงเพื่อนำครีบของมันมาทำเป็นอาหาร
พอล อุทิศชีวิตมากว่า 10 ปี เพื่อสืบสวนและเปิดโปงอุตสาหกรรมอันโหดเหี้ยมนี้ และพยายามจะยุติการกระทำเช่นนี้ แต่ฉลามบางสายพันธุ์ก็มีจำนวนลดลงกว่าร้อยละ 90 ….เวลาของพวกมันใกล้หมดลงแล้ว
“ฉลามคือนักล่าในห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทร” พอลกล่าว “หากพวกมันสูญพันธุ์ไป พวกเราจะต้องเจอกับปัญหาที่ใหญ่หลวง”
จากออสเตรเลียประเทศบ้านเกิดจนมาถึงบาหลี เมืองที่พอลอาศัยอยู่ในปัจจุบัน พอลสนใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ตั้งแต่เมื่อเขายังเล็ก เขามีความสุขทุกครั้งที่เล่าเรื่องที่เขาแอบปล่อยเต่าที่เด็ก ๆ ในเมืองจับมา
เมื่ออายุ 21 ปี ด้วยความอยากเห็นโลกกว้าง พอลจากบ้านมาเรียนต่อที่ลอนดอน และเริ่มศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์การถ่ายภาพ
“หลังจากนั้น ผมประสบความสำเร็จกับอาชีพช่างภาพโฆษณาในฮ่องกง เมื่อครั้งที่ผมยื่นผลงานภาพถ่ายให้พวกเขาดู เขาบอกกับผมว่าภาพของผมหลุดโฟกัส และถามผมว่า คุณอยากเป็นช่างภาพจริง ๆ เหรอ ?” พอลหัวเราะ “ผมตอบไปว่า ‘ใช่’ แล้วผมก็ได้งานนั้น”
บทสนทนานั้นนำไปสู่งานประจำที่ ยูโรเปี้ยน เพรสโฟโต้ เอเจนซี่ ในฮ่องกง
“ผมเดินไปตามถนนทุกวันเพื่อมองหาเรื่องราวที่พอจะนำมาทำเป็นสารคดีได้ ผมรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่เดินผ่านตลาดอาหารทะเลที่ผมมองเห็นกองครีบฉลาม มันทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจ”
ในปี พ.ศ.2548 เป็นปีที่ดิสนีย์แลนด์ฮ่องกงเปิดเป็นครั้งแรก พวกเขาขอให้พอลถ่ายภาพอาหารในศูนย์อาหาร พวกเขาซักถามเกี่ยวกับเงื่อนไขของการถ่ายรูปของพอล และพอลก็ตอบกลับไปว่า เขาไม่ขอถ่าย หูฉลาม แล้วพอลก็ถูกถอดออกจากการถ่ายภาพในครั้งนั้นทันที
“ตอนนั้น ผมคิดว่าต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างแล้ว” พอลกล่าว
เขาพบกับเพื่อนเก่าที่ชื่อ อเล็กซ์ ฮอฟฟอร์ด ทั้งคู่วางแผนเดินทางไปรอบโลก จากเมืองโมซัมบิกในแอฟริกา สู่เยเมนในตะวันออกกลาง ไปถึงอินโดนิเซียและประเทศไทย เพื่อสืบสวนการค้าครีบฉลาม
พวกเขาอัดวิดีโอสั้น ๆและเขียนหนังสือเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษชื่อว่า Man & Shark ซึ่งเป็นหนังสือสารคดีสองภาษาเล่มแรกที่อธิบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการล่าครีบฉลามทั่วโลก
“ในขณะนั้นยังไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้เลย ทั่วฮ่องกงสามารถขายหูฉลามเป็นอาหารได้แบบไม่มีขีดจำกัด การบริโภคหูฉลามไม่สามารถควบคุมได้เลย”
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของพอล ได้เปิดโปงบางส่วนของตลาดมืดที่ทำลายสัตว์ในตระกูลเดียวกับฉลาม ซึ่งก็คือปลากระเบนปีศาจและปลากระเบนราหู
ในอินโดนิเซีย สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่รักสงบเหล่านี้ถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์เต็มที พวกมันถูกล่าเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมสมุนไพรระดับพรีเมี่ยมในตลาดจีน
ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของพอลและเพื่อน ๆ เพราะในปี พ.ศ.2556 กระเบนเหล่าดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (CITES) โดยอนุสัญญานี้ไม่อนุญาตให้ล่าปลากระเบนในอินโดนิเซีย
และในปีเดียวกันนี้เอง รายงานของ ไวลด์เอด (WildAid) แสดงให้เห็นถึงการลดลงของการบริโภคซุปหูฉลามลดลงถึงร้อยละ 80
พอลบอกกับเราอีกว่า “ผมยังมีความหวังที่เราจะได้รับชัยชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ตระหนักเกี่ยวกับปัญหานี้มากกว่าใคร พวกเขาคือเจนเนอร์เรชั่นแห่งการเปลี่ยนแปลง”
แต่ก็ยังมีภารกิจที่จะต้องทำต่อไป เพราะเทรนด์ใหม่ในประเทศจีนเริ่มมีการพูดถึงการนำน้ำมันจากฉลามที่มีโอเมก้า 3 มาบริโภค และจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นหากเป็นน้ำมันจากฉลามวาฬ
เรื่องราวนักสืบจำเป็น พอลและอเล็กซ์ที่ทำหน้าที่เป็นร่วมกันสืบสวนกระบวนการล่าฉลามวาฬอย่างผิดกฎหมายได้รับความสนใจจาก หลุยส์ ไซโฮโยส ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัลออสการ์ เดอะ โคฟ (The Cove)
หลุยส์ได้ร่วมงานในโครงการภาพยนตร์เรื่อง การสูญหายของสายพันธุ์(Racing Extinction) เขาขอให้พอลเข้ามาช่วยเหลือโครงการในส่วนของเกาะฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่
“การสืบสวนเรื่องฉลามวาฬของเรากำลังมุ่งสู่ทางแยก แต่เมื่อหลุยส์ติดต่อเข้ามาหาผมและชวนร่วมงานในการถ่ายภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ ผมก็ยิ่งรู้สึกลังเลเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวตนของตนเอง” พอลกล่าว
“แต่หลุยส์ก็คุยกับผมและบอกผมว่า บางครั้งคุณก็ต้องยืนหยัดขึ้นเพื่อส่งเสียงบอกกับโลกว่า เราจำเป็นต้องมีผู้คนที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำมากขึ้น เขาโน้มน้าวใจผมแบบนั้น แม้ว่าผมจะยังกังวลกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้”
ภาพยนตร์เรื่องการสูญหายของสายพันธุ์ (Racing Extinction) ถูกฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับตลาดมืดที่อันตรายที่สุดของโลกและการสืบสวนถึง 6 พฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดปรากฏการณ์การสูญพันธุ์ ซึ่งประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประเด็นที่กระตุกหัวใจของมนุษย์เราได้ดีเพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเสียตั้งแต่ตอนนี้แล้ว สัตว์อีกหลายสายพันธุ์ที่ไม่ใช่แค่ฉลามก็จะสูญพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล
พอลยังเสริมอีกว่า “ผมไม่คิดว่าเราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการจับฉลามอย่างยั่งยืน ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องหยุดการล่าฉลามและปล่อยให้พวกมันใช้ชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ชีวิตที่พึ่งพากับระบบห่วงโซ่อาหาร ผมไม่ได้คาดหวังให้ทุก ๆ คนมารักสายพันธุ์ฉลามแต่คิดว่ามนุษย์ควรจะเห็นถึงผลกระทบของธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากเผ่าพันธุ์มนุษย์อาศัยอยู่บนโลกราว ๆ สี่ล้านปี”