พิธีตั้งศาลพระพรหม
การตั้งศาลพระพรหม
การตั้งศาลพระพรหมผู้ทำพิธีตั้งอาจจะเป็นหมอชาวบ้านหรือพราหมณ์ก็ได้แต่ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม จะทำให้การตั้งศาลพระพรหมบังเกิดผลดี มีความเจริญรุ่งเรืองแก่เจ้าของบ้าน เจ้าของกิจการ
สถานที่ตั้งศาลพระพรหม มีหลักการพิจารณาดังนี้
1. ที่ตั้งศาลต้องเป็นบริเวณพื้นดิน มิใช่บริเวณเดียวกับพื้นของตัวบ้าน
2. หากไม่มีพื้นที่ที่เป็นพื้นดิน สามารถทำการตั้งศาลบนชั้นดาดฟ้าได้ แต่ส่วนใหญ่ศาลที่ตั้งบนดาดฟ้าจะเป็นศาลเทพต่างๆ เช่นพระพรหม หรือ พระนารายณ์ มิใช่พระภูมิเจ้าที่
3. จุดที่ตั้งของศาลต้องไม่ถูกเงาของตัวบ้านทอดลงมาทับ
4. ที่ตั้งของศาลควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
5. อย่าตั้งศาลให้อยู่ใกล้กับตัวบ้านมากนัก
6. อย่าหันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
7. ไม่ควรตั้งศาลให้หันหน้าตรงกับประตูหน้าบ้าน
8. ตั้งศาลให้ห่างจากรั้วหรือกำแพงบ้านอย่างน้อย 1 เมตร
9. ถ้าสามารถยกพื้นที่ตั้งศาลให้สูงขึ้นสัก 1 คืบ จากพื้นดินได้ ก็เหมาะสมอย่างยิ่ง
10. ความสูงของศาล ควรสูงเหนือระดับสายตาของผู้เป็นเจ้าของบ้านขึ้นไปเล็กน้อย
อุปกรณ์ตั้งศาลพระพรหม
1. องค์พระพรหม (สำคัญที่สุดในศาล)
2. ตุ๊กตาชาย หญิง ตุ๊กตาช้างม้า (ถือเป็นข้าทาสบริวาร)
3. ละครรำ
4. กระถางธูป
5. แจกัน
6. เชิงเทียน
7. ธูป เทียน ทองคำเปลว
8. แผ่นเงิน ทอง นาค
9. อิฐเงิน ทอง นาค
10. พลอยนพเก้า
11. ไม้มงคลเก้า
12. โพธิ์เงิน ทอง
13. ฉัตรเงิน ทอง
14. โอ่งเงิน ทอง
15. ผ้าสามสี
16. น้ำอบ แป้งเจิม น้ำมันหอม
17. ข้าวตอก ถั่ว งา
18. ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วน
เครื่องสังเวยศาลพระพรหม
1. บายศรี 1 คู่
2. หัวหมู 1 คู่
3. กุ้งพล่า ปลายำ
4. เผือก มันต้ม
5. ปลาช่อนนอนตอง
6. ถั่ว งา นมข้น
7. ผลไม้มงคล 9 ชนิด
8. ขนมคาว หวาน 9 ชนิด
9. ต้มแดง ต้มขาว
10. มะพร้าวน้ำหอม
11. หมากพลู
12. พวงมาลัยดาวเรือง ดอกไม้สด
ขั้นตอนการตั้งศาลพระพรหม โดยพราหมณ์
1. เจ้าของสถานที่เชิญท่านพราหมณ์ไปดูสถานที่ตั้ง เลือกทำเลและทิศที่เหมาะสำหรับตั้งศาลพระพรหม
2. ท่านพราหมณ์ดูฤกษ์ยามที่เหมาะสม
3. เจ้าของสถานที่เลือกซื้อศาล พร้อมอุปกรณ์ตั้งศาล และเครื่องสังเวย
4. เมื่อถึงฤกษ์ตามวันที่กำหนด เจ้าของบ้านต้องจัดเตรียมเครื่องสังเวยไว้เพื่อเตรียมทำพิธี ท่านพราหมณ์ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ จะวางในฐานชิ้นล่างสุดของศาลพระพรหม สิ่งที่นำมาวางรากฐานประกอบไปด้วย แผ่นเงิน-ทอง-นาค, อิฐเงิน-ทอง-นาค, พลอยนพเก้า, ข้าวตอก ถั่ว งา, ดอกไม้ 9 สี และไม้มงคล 9 ชนิด คือ
- ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึงความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา
- ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยทำอะไรมีแต่คนเกื้อหนุน
- ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีชัยชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ
- ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีทรัพย์สิน มีเงิน มีทองใช้ไม่ขัดสน
- ไม้ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุขทางกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย
- ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
- ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเครารพนับถือและยำเกรง
- ไม้พะยูง หมายถึง พยุงฐานะให้ดีขึ้น
- ไม้กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อ หนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง
5. ท่านพราหมณ์สวดมนต์ทำพิธี และอันเชิญองค์พระพรหมขึ้นสู่ศาล
6. เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว เชิญเจ้าของสถานที่ไหว้ และแจกจ่ายอาหารให้กับบริวารเพื่อเป็นอาหารทิพ ถือว่าผู้ใดได้รับประทานอาหารจากพิธีแล้วจะไม่ป่วยไข้และทำการค้าราบรื่นร่ำรวย