(ย้อนรอย) “ขุนรองปลัดชู” และ วีรชนที่ทำเพื่อ”ชาติ”ผู้ถูกลืม
ช่วงนี้ดูเหมือนจะมีภาพยนตร์เรื่องเล็กๆที่เป็นกระแสพูดถึงในวงกว้าง และเป็นการกระโดดมารับบทบาทการแสดงครั้งแรกของ เช็ก สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ คนต้นเรื่อง แห่ง “คนค้นคน”
เรื่องย่อๆก็คือ ขุนรองปลัดชู ทหารหาญแห่งเมืองวิเศษชัยชาญ หัวหน้ากองอาทมาต มีกำลังพล 400คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความสามารถในการศึกและมีวิชาอาคมแกร่งกล้า ที่ซึ่งอาสาเข้าทำศึกสงครามกับกองทัพพม่าในศึกคราวเดียวกันกับชาวบ้าน บางระจัน โดยกองอาทมาตเข้าร่วมกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ รับหน้าที่เป็นกองสอดแนมข้าศึก ตั้งหลักที่เมืองกุยบุรี (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน) จนกระทั่งวันหนึ่งปะทะเข้ากับกองทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาว กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูต่างก็ดาหน้าเข้าสู้กับข้าศึกแบบลืมตายถวายชีพ
แต่ด้วยกำลังพลที่มีเพียง 400 คน ฤาจะสู้กับกองทัพพม่าที่มีกำลังพลเรือนหมื่น กองอาทมาตผู้เก่งกล้าค่อย ๆ ทะยอยโดนฆ่าตายไปทีละคน ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังกำดาบอยู่ในมือ จนกระทั่งนายกองคนเก่งโดนจับตัว ไพร่พลที่เหลือจึงโดนไล่ลงทะเลจมน้ำตายไปก็มาก โดนช้างไสงาเข้าแทงตายก็มาก (เนื่องจากมีวิชาอาคมมีดดาบฟันแทงไม่เข้า พม่าจึงใช้วิธีนี้) จึงถือเป็นการปิดตำนานกองอาทมาตลงในที่สุด เหลือไว้เพียงแต่ตำนานเล่าขานมาถึงปัจจุบัน (ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.zonezap.com )
ตัวอย่างภาพยนตร์ \”ขุนรองปลัดชู\”
เรียกได้ว่ากระตุ้น “ต่อมรักชาติ”ให้กับคนส่วนหนึ่งได้มาก ถึงกับพูดว่าเป็นภาพยนตร์ที่กำลังสะท้อนคนเล็กๆน้อยๆที่ถูกหลงลืมในประวัติศาสตร์ของประชาชน
แต่สิ่งที่เป็นคำถามคือ ในสมัยดังกล่าวสิ่งที่เรียกว่า “ชาติ” ดูเหมือนจะเป็นการยกที่ผิดฝาผิดตัวกับวีรกรรมดังกล่าว เหมือนเป็นการเอาบริบทปัจจุบันที่มีความเป็น “รัฐชาติ”แล้วไปอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต
หากย้อนไปดุูความหมายของคำว่า “ชาติ”นั้น หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันกันในทางสายโลหิต เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือมีวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองร่วมกันในขณะนั้นอยุธยามีสถานะเพียงแค่แคว้นใหญ่ที่มีดินแดนบริวารเท่านั้น โดยการปกครองแบบรวมศูนย์
การนิยามคำว่าชาติในสมัยใหม่ในความหมายของ “รัฐชาติ” นั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ “อธิปไตย” ในการปกครองแบบสมบูรณญาสิทธิราชย์นั้น ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยแท้จริงหรือ? ถ้าหากเราเอาสิ่งที่ขุนรองปลัดชูทำนั่น จึงอยู่บนคำถามว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นไปเพื่อ “ชาติ”อันหมายถึงประชาชน พี่น้องร่วมชาติ หรือ “หน้าที่”ที่จำต้องทำตามที่ได้รับการบัญชาจาก “องค์อธิปัตย์” และหากจะบอกว่าวีรกรรมครั้งดังกล่าวนั้นเป็นการปกป้อง กลุ่มคนที่มีเผ่าพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมเดียวกันหรือไม่นั้น อาจจำต้องพิสูจน์ถึงหลักฐานส่วนอื่นๆประกอบ
บทความดังกล่าวมิได้มีเจตนาลบหลู่ความเชื่อของวีรชนผู้เสียสละ แต่เป็นการตั้งคำถามกลับไปว่า เมื่อมีการจะนำภาพยนตร์ดังกล่าวกำลังทำหน้าที่ “เครื่องมือทางการเมือง” อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่? และถ้าจะต้องรับใช้อุดมการณ์นั้นเป็นอุดมการณ์แบบใด? และเหตุใดชีิวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยพวกเขาถึงพึ่งถูกนำมาเสนอในห้วงเวลาดังกล่าว ที่เสียงของ”คนตัวเล็กตัวน้อย”ในสังคมเริ่มดังขึ้น?
หากจะดูแก่นของเรื่องสิ่งที่พยายามจะอธิบายว่า วีรกรรมดังกล่าวอุทิศให้กับคตินิยมแบบ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่เพิ่งเกิดเมื่อวานซืน(เกิดขึ้นย้อนหลังไม่เกิน ทศวรรษ 2500 หรือในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ) ซึ่งถามกลับไปว่าในสมัยดังกล่าว อะไรคือชาติ? เรื่องศาสนานั้นก็ต้องเข้าใจว่าในสมัยนั้นคงไม่ใช่พุทธแบบในปัจจุบัน และความสัมพันธ์ระหว่างไพร่ฟ้ากับพระมหากษัตริย์ นั้นในอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกันเช่นไร? ดังนั้นการเปรียบเทียบที่ถูกหยิบยกหลายๆประการ ทั้งจากรายการนำเสนอของทางสถานีไทยพีบีเอส ผ่านวิทยากรต่างๆ ดูเหมือนจะ “ผิดฝาผิดตัว”ค่อนข้างมาก
กลับมาดู”ประเทศไทย”ในปัจจุบัน เรามีวีรชนที่ถูกหลงลืมมากน้อยแค่ไหน หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 14 ตุลาฯ2516,6 ตุลาฯ2519 , พฤษภาทมิฬ พวกเขาเหล่านี้ถูกหลงลืมในระยะเวลาไม่นานเท่าชั่วอายุคน หนังสือสังคมศึกษาระดับประถมศึกษา 4 -5 มีการพุดถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 เพียง 2 บรรทัด แต่เราเล่าฉากการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เป็นฉากๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการเลือกที่จะทำให้ลืม และเลือกที่จะทำให้จำ ทางประวัติศาตร์
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกลุ่มคนจำนวนหลักร้อย เฉลิมฉลอง “วันชาติ” เนื่องในโอกาส 79 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งที่น่าสนใจคือหน่วยงานรัฐที่ควรจะทำหน้าที่หลักในการจัดการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สำคัญ เมื่ออำนาจประชาธิปไตยถูกผ่องถ่ายมาอยู่ในมือประชาชน ซึ่งย้ายความหมายมาที่ชาติที่มีประชานและอำนาจอธิปไตยในมือประชาชนเป็นหลักสูงสุด หน่วยงานรัฐกลับไม่มีปฏิกิริยาในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว มีเพียงประชาชนเพียงหยิบมือที่ยังคงรำลึกความสำคัญ เคราะห์ร้ายไปกว่านั้น ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาไม่รู้ว่าวันดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไรต่อตนเอง แย่ไปกว่านั้นผู้ที่มาร่วมฉลองวันชาติกลับถูกมองว่าเป็นเพียง”กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่มีความคิดอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นี่เป็นความสำเร็จของการลักพาตัวความทรงจำและการทำให้ถูกลืม แม้กระทั่งผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่าง นายปรีดี พนมยงค์ พระยาพหลพลพยุหเสนา ฯลฯ ก็ยังถูกทำให้กลายเป็น “ผุ้ที่ตกสำรวจทางประวัติศาสตร์”
และ 24มิถุนายน ก็คงไม่แตกต่างจากงาน 14 ตุลาฯ , 6ตุลาฯ หรือ พฤษภาทมิฬ ที่มีแค่ญาติผู้เสียชีวิต นักต่อสู้ที่ปัจจุบันกลายเป็นนักการเมือง หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือคนที่ไม่มีส่วนร่วมแต่ใช้งานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการปั๊มตรา “ประชาธิปไตย”ให้กับตนเอง ทั้งๆที่มีอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยของประชาชนอย่างสุดขั้ว
ในห้วงเวลา 4 -5 ปีประชาชนสองฝั่งออกมาต่อสู้นิยามคำว่า “ชาติ” ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า ชาตินั้นต้องประกอบด้วย ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ การปกครองประเทศเป็นเรื่องของผู้มีทรงศีลธรรมและบารมี ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนิยามคำว่าชาติหมายถึงอำนาจสูงสุดอยู่ในมือประชาชน ผู้ปกครองมาจากการเลือกสรรของประชาชน ช่วงเวลาดังกล่าวทั้งสองฝ่ายมีผู้สูญเสีย เพียงแต่ว่าการเลือกจำและเลือกลืม ของแต่ละฝ่าย บางฝ่ายเลือกรวมไปถึงสื่อมวลชนและกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบันหลายท่าน เลือกที่จะจำเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ 2551 แต่บางฝ่ายของคนเสื้อแดงเลือกจำวีรชนนิรนามของเขาในรูปแบบ “มุขปาฐะ”ที่ไม่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก ที่เลือกสะท้อนภาพความเสียหายของสถานที่ต่างๆแทน พร้อมกับประชาชนบางส่วนที่เลือกจะมองไม่เห็นคนที่ตายบนถนน ภายใต้กรอบความคิด “ขอความสุขจงคืนกลับมา” และ “Together we can” และใช้ชีวิตประจำวันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เสมือนว่าชีวิตของคนเหล่านั้นมิคู่ควรต่อการจดจำ
การมองย้อนอดีตไปยังวีรชนคนตัวเล็กตัวน้อย (จริงๆก็ไม่เล็กน้อย เพราะว่ามีตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และก็อาจไม่ได้เรียกว่านิรนามหรือถูกลืมเพราะมีอนุสาวรีย์เป็นที่ประจักษ์) ที่ถูกลืมอย่างนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่อย่าลืมประวัติศาสตร์ของประชาชนในยุคใหม่ ที่คำว่าชาติถูกผ่องถ่ายมาอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและมีวีรชน “นิรนาม”ที่พลีชีพเพื่อประชาธิปไตยของประชาชน หากชาติที่นิยามไม่ถูกรวมถึงประชาชน จะมีคุณค่าอะไร? ไม่ได้ขอเรียกร้องให้ต้องสร้างภาพยนตร์เพื่อรำลึกวีรชนนิรนาม เพียงแต่อย่าลืมในสิ่งที่เขาทำและจงปกป้องประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยที่พวกเขาสละชีวิตเพื่อปกป้องเท่านั้นพอ!!