28 พระมหากษัตริย์ในโลก
ประเทศทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีประมุขเป็นหัวหน้าสูงสุดทั้งสิ้น แม้ว่าการเรียกชื่อตำแหน่ง การเข้าสู่ตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ ตลอดจนความรับผิดชอบในการปกครองจะแตกต่างกันไป บางประเทศมีประมุขแบบ “ประธานาธิบดี” ในขณะที่บางประเทศมีประมุขแบบ “พระมหากษัตริย์”
อย่างไรก็ตาม ประมุขของประเทศในส่วนที่เป็น “พระมหากษัตริย์” ของแต่ละประเทศก็มีประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย และการออกพระนามไม่เหมือนกัน คำศัพท์กลางๆ ที่ใช้เรียกประมุขแบบนี้ ได้แก่ “พระมหากษัตริย์” หรือถ้าเป็นบุรุษก็เรียกว่า “สมเด็จพระราชาธิบดี” ถ้าเป็นสตรีก็เรียกว่า “สมเด็จพระบรมราชินี” ส่วนประเทศที่มีประมุขเช่นนี้เรียกว่า “ราชอาณาจักร”
ทั้งนี้ ราชอาณาจักรทั้งหลาย ณ กาลปัจจุบัน มี 29 ประเทศได้แก่
ทวีปเอเชีย ไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น บรูไน ภูฐาน กัมพูชา โอมาน จอร์แดน การ์ตา อาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต ซาอุดีอาระเบีย ซามัว ตองกา
ทวีปยุโรป อังกฤษ สเปน ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก โมนาโก เบลเยียม ลิกเตนสไตน์
ทวีปแอฟริกา โมร็อกโก สวาซิแลนด์ เลโซโท
ในอดีต พระมหากษัตริย์ของหลายประเทศเคยดำรงอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อทรงครองราชย์ตั้งแต่พระชนมพรรษาไม่มากนัก เช่น สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น แต่เมื่อมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า ในบรรดาพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลายาวนานที่สุดจนถึงบัดนี้ คือ 60 ปี
นอกจากนั้นแล้ว ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ยังไม่เคยมีสมเด็จพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงดำรงสิริราชสมบัตินานถึง 60 ปี ที่นับว่ายืนยาวมากคือ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีระยะเวลา 42 ปี (พ.ศ.2411-2453) ซึ่งเมื่อทรงครองราชย์เสมอด้วยพระมหากษัตริย์ในอดีต หรือเสมอด้วยรัชสมัยของพระบรมราชบุพการีก็จะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองเสียคราวหนึ่ง เรียกว่า “รัชมังคลาภิเษก”
ด้วยเหตุดังกล่าว การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จึงนับเป็นเหตุพิเศษอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยเลยทีเดียว
สำหรับการเฉลิมฉลองนั้น หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงประกาศให้มีการเฉลิมฉลองโดยเริ่มเขตงานย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549
คำตอบก็คือ แม้วันครบ 60 ปี จะเป็นวันที่ 9 มิถุนายน 2549 แต่การที่ถอยการเริ่มงานไปถึงวันที่ 1 มกราคม2548 เพราะเมื่อทรงรับราชสมบัติในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 นั้น บรรดาพระราชกำหนดกฎหมายอันตราขึ้นในขณะนั้นจำเป็นต้องระบุปีแห่งรัชกาลในคำปรารภหรือคำนำ ซึ่งระบุว่า “เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน” และเพื่อป้องกันความสับสน พอขึ้นวันที่ 1 มกราคม 2490 ก็ระบุว่า “เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน” ทั้งที่ยังไม่ครบปี
เมื่อไล่เรียงมาอย่างนี้ทุกปี ครั้งถึงวันที่ 1 มกราคม 2548 ก็เป็น “ปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน” ดังนั้น การเริ่มเขตงานจึงต้องเริ่ม (โดยนิตินัย) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 และถ้าดูคำปรารภพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นในปี 2549ก็จะพบข้อความว่า “เป็นปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน” แต่พอนับวันชนวัน เดือนชนเดือน ปีชนปี (โดยพฤตินัย) การครบ 60 ปีจะตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2549 วันดังกล่าวจึงเป็นหัวใจของการเฉลิมฉลอง