หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ระดับขั้นตำแหน่งนางในและตำแหน่งเชื้อพระวงศ์แบบละเอียดของราชวงศ์ฮั่นตะวันตกแห่งจีนค่ะ

โพสท์โดย ทิมมี่ ทิมมี่

สวัสดีปีใหม่ทุกคนค่ะ ห่างหายไปนานเลยทีเดียว ครั้งนี้มาพร้อมกับรายละเอียดตำแหน่งนางในและเชื้อพระวงศ์สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกของจีนค่ะ วางแผนนานแล้วค่ะว่าจะทำสมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะมีซีรีย์ที่เกี่ยวกับสมัยนี้ไม่ค่อยมาก แต่รายละเอียดค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว ก็หวังว่าเนื้อหาในกระทู้นี้น่าจะทำให้คนที่ดูซีรีส์จีนสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเข้าใจและสนุกได้มากขึ้นค่ะ ถ้าข้อมูลมีอะไรผิดพลาดตรงไหนสามารถแนะนำหรือชี้แจงได้นะคะ (กระทู้ยาวหน่อยนะคะ ^_^)

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกนั้นถือเป็นยุคทองของจีน พัฒนาฟื้นฟูบ้านเมืองอย่างต่อเนื่องหลังจากสงคราม เกิดงานผลผลิตต่างๆ หลายด้าน ราษฎรมีความสุขและมั่นคง ปกครองอาณาจักรให้เป็นหนึ่งเดียวกันและเจริญรุ่งเรืองอย่างยาวนานต่อจากราชวงศ์ฉินเป็นเวลามากกว่า 200 ปี

ระดับและตำแหน่งสตรีฝ่ายในของวังหลังสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกนั้น สืบต่อมาจากราชวงศ์ฉินบางส่วน ซึ่งภายหลังได้มีการเพิ่มเติมตำแหน่งและจัดระเบียบใหม่อีกครั้ง โดยระดับและตำแหน่งสตรีฝ่ายในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก สามารถแบ่งได้ตามลำดับดังนี้

ตำแหน่งฝ่ายในของพระราชวังจักรพรรดิ

ไท่หวงไท่โฮ่ว (太皇太后)
หรือรู้จักกันในชื่อ "ไทฮองไทเฮา" ตำแหน่งของจักรพรรดินีในจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 2 ขั้นเท่านั้น อาจจะมีฐานะเป็นพระอัยยิกาแท้ๆ หรือพระอัยยิกาเลี้ยงของจักรพรรดิก็ได้ เช่น จักรพรรดินีหลวี่โฮ่วหรือฮั่นเกาโฮ่ว ในสมัยฮั่นเกาตี้ ซึ่งดำรงตำแหน่งไทฮองไทเฮาและกุมอำนาจในราชสำนักกว่าสามรัชสมัย (จากเรื่อง 美人心計) มีข้อยกเว้นเพียงในรัชสมัยฮั่นจิ่งตี้เท่านั้นที่ผู้มีตำแหน่งไทฮองไทเฮาเป็นพระสนมในอดีตจักรพรรดิ

ตี้ไท่ไท่โฮ่ว, หวงไท่ไท่โฮ่ว (帝太太后, 皇太太后)
หากในขณะนั้นมีไทฮองไทเฮาดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว แต่จักรพรรดิองค์ปัจจุบันที่ไม่ใช่สายเลือดตรงต้องการยกย่องพระอัยยิกาแท้ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นจักรพรรดินีขึ้นมามีตำแหน่งเทียบเท่า พระอัยยิกาองค์นั้นก็จะมีตำแหน่งเป็นตี้ไท่ไท่โฮ่ว หรือ หวงไท่ไท่โฮ่ว แทน ซึ่งในราชวงศ์ฮั่นตะวันตกมีเพียงพระองค์เดียว คือ ฟู่หวงไท่ไท่โฮ่ว ในสมัยฮั่นอายตี้ ทรงเคยเป็นพระมเหสีรองในฮั่นเยวี๋ยนตี้ (จากเรื่อง 母儀天下)

หวงไท่โฮ่ว (皇太后)
หรือรู้จักกันในชื่อ "ฮองไทเฮา" ตำแหน่งของจักรพรรดินีในจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 1 ขั้นเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นพระมารดาแท้ๆ หรือพระมารดาเลี้ยงในจักรพรรดิองค์ปัจจุบันก็ได้ เช่น เซี่ยวจิ่งหวังฮองไทเฮา ในสมัยฮั่นอู่ตี้ (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫) มีข้อยกเว้นเพียงพระมารดาของฮั่นเหวินตี้ (พระอัยยิกาของฮั่นจิ่งตี้) เท่านั้นที่มีตำแหน่งเป็นฮองไทเฮาได้แม้เป็นพระสนมในอดีตจักรพรรดิ

ตี้ไท่โฮ่ว (帝太后)
หากในขณะนั้นมีฮองไทเฮาดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว แต่จักรพรรดิองค์ปัจจุบันที่ไม่ใช่สายเลือดตรงต้องการยกย่องพระมารดาแท้ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นจักรพรรดินีขึ้นมามีตำแหน่งเทียบเท่า พระมารดาของจักรพรรดิก็จะมีตำแหน่งเป็น ตี้ไท่โฮ่ว แทน ซึ่งในราชวงศ์ฮั่นตะวันตกมีเพียงพระองค์เดียวเช่นเดียวกัน คือ ติงตี้ไท่โฮ่ว ในสมัยฮั่นอายตี้ ทรงเคยเป็นพระสนมในติ้งเถาอ๋อง หลิวคัง (จากเรื่อง 母儀天下)

หวงโฮ่ว (皇后)
ตำแหน่งจักรพรรดินีองค์ปัจจุบันของจักรพรรดิ หรือรู้จักกันในชื่อ "ฮองเฮา" พระอัครมเหสีเอกซึ่งมีตำแหน่งเดียวและมีศักดิ์สูงสุดในการปกครองฝ่ายใน ไม่นับรวมลำดับขั้นกับพระชายาและพระสนมอื่นๆ สำหรับพระมารดาขององค์จักรพรรดิที่ซึ่งไม่ได้เป้นจักรพรรดินี เมื่อสิ้นพระชนม์มักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นฮองเฮาทุกพระองค์ เช่น เซี่ยวเหวินโต้วฮองเฮา โต้วอีฝาง ในสมัยฮั่นเหวินตี้ (จากเรื่อง 美人心計), เซี่ยวอู่เว่ยฮองเฮา เว่ยจื่อฟู ในสมัยฮั่นอู่ตี้ (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫)


รองจากตำแหน่งฮองเฮาซึ่งเป็นจักรพรรดินี จะเป็นตำแหน่งพระชายาและพระสนมอีกหลายตำแหน่ง ในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตกไปจนถึงต้นรัชสมัยฮั่นอู่ตี้นั้นมีทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ต่อมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยฮั่นอู่ตี้เป็นต้นไปก็ได้เพิ่มเติมปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่เป็น 14 ขั้น เทียบศักดิ์ด้วยตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ของขุนนาง ซึ่งตรงจุดนี้จะขออธิบายรวมทั้งสองช่วงและเทียบตำแหน่งตามความเข้าใจของผู้เขียนนะคะ ตำแหน่งสตรีฝ่ายในองค์จักรพรรดิสมัยฮั่นตะวันตก สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่

1) พระมเหสีและพระชายาชั้นสูง

ฟูเหริน (夫人)
ตำแหน่งพระภรรยาชั้นสูงในองค์จักรพรรดิช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ฐานะสูงศักดิ์ เป็นรองเพียงจักรพรรดินี ฟูเหริน แปลว่า ผู้เป็นของสามี ซึ่งหมายถึงภรรยานั่นเอง เช่น เซิ่นฟูเหริน ในสมัยฮั่นเหวินตี้ (จากเรื่อง 美人心計), หลี่ฟูเหริน ในสมัยฮั่นอู่ตี้ (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫)


หลังจากสมัยฮั่นอู่ตี้เป็นต้นมา ตำแหน่งฟูเหรินได้ถูกแทนที่ด้วย 4 ตำแหน่งใหม่ ซึ่งมีดังนี้

เจาอี๋ (昭儀)
ตำแหน่งขั้น 1 พระมเหสีรองในองค์จักรพรรดิ เพิ่มเข้ามาในสมัยฮั่นเยวี๋ยนตี้ ตำแหน่งเทียบเท่าอัครมหาเสนาบดีราชสำนัก บรรดาศักดิ์เทียบเท่า "อ๋อง" เจ้าครองแคว้น เจาอี๋ หมายถึง ผู้มีความงามเป็นเลิศยิ่ง

เจี๋ยยวี๋ (婕妤)
ตำแหน่งขั้น 2 พระอัครเทวีในองค์จักรพรรดิ เพิ่มเข้ามาในสมัยฮั่นอู่ตี้ ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดีอาวุโส และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 20 "เลี่ยโหว" เจ้าครองอาณาเขต เจี๋ยยวี๋ หมายถึง หญิงงามผู้ได้รับความโปรดปรานจากองค์จักรพรรดิ

สิงเอ๋อ (娙娥)
ตำแหน่งขั้น 3 พระราชเทวีในองค์จักรพรรดิ เพิ่มเข้ามาในสมัยฮั่นอู่ตี้ ตำแหน่งเทียบเท่าขุนนางระดับเก้าเสนาบดี และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 19 "กวานเน่ยโหว" (關內侯) สิงเอ๋อ หมายถึง ผู้มีรูปโฉมสะสวยงดงาม

หรงฮว๋า (傛華)
ตำแหน่งขั้น 4 พระราชชายาในองค์จักรพรรดิ เพิ่มเข้ามาในสมัยฮั่นอู่ตี้ ตำแหน่งเทียบเท่าขุนนางระดับอัครเสนาบดีประจำแคว้นอ๋อง และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 16 "ต้าซ่างเจ้า" (大上造) หรงฮว๋า หมายถึง ผู้มีความสง่างามร่าเริง

เช่น เจ้าเจาอี๋ หรือ เจ้าเหอเต๋อ ในสมัยฮั่นเฉิงตี้, เจ้าเจี๋ยยวี๋ หรือ เจ้าเฟยเยี่ยน ในสมัยฮั่นเฉิงตี้ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าฮองเฮา (จากเรื่อง 母儀天下)

2) พระสนมชั้นเอก

เหม่ยเหริน (美人)
ตำแหน่งพระสนมเอกช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ศักดิ์รองจากฟูเหริน ภายหลังถูกจัดอยู่ที่ตำแหน่งขั้น 5 ซึ่งยังคงเป็นพระสนมเอกในองค์จักรพรรดิเช่นเดิม ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับผู้ว่าราชการนคร (郡) และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 15 "เส่าซ่างเจ้า" (少上造) เหม่ยเหริน แปลว่า ผู้มีความงดงาม

ปาจื่อ (八子)
ตำแหน่งพระสนมช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ศักดิ์รองจากเหม่ยเหรินสองขั้น ภายหลังเป็นตำแหน่งขั้น 6 พระสนมชั้นสูงในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับผู้ช่วยอัครมหาเสนาบดี และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 13 "จงเกิ้ง" (中更) ปาจื่อ เป็นคำที่หมายถึงอนุภรรยา หรือก็คือพระสนมนั่นเอง

ชงอี (充依)
ตำแหน่งขั้น 7 พระสนมชั้นสูงในองค์จักรพรรดิ เพิ่มเข้ามาในสมัยฮั่นอู่ตี้ ตำแหน่งเทียบเท่าขุนนางระดับผู้ช่วยอัครมหาเสนาบดีเช่นเดียวกับปาจื่อ และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 12 "จั่วเกิ้ง" (左更) ชงอี เป็นคำที่ใช้หมายถึงการเติมเต็มสตรีฝ่ายในตามลำดับขั้น

เช่น หลี่เหม่ยเหริน ในสมัยฮั่นฮุ่ยตี้ (จากเรื่อง 美人心計), เจี่ยเหม่ยเหริน (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫, สมัยฮั่นอู่ตี้)


3) พระสนมชั้นโท

ชีจื่อ (七子)
ตำแหน่งพระสนมช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ศักดิ์รองจากปาจื่อ ภายหลังเป็นตำแหน่งขั้น 8 พระสนมชั้นกลางในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับข้าราชการผู้ดูแลองค์รัชทายาท และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 11 "โย่วซู่จ่าง" (右庶長) ชีจื่อ เป็นคำที่หมายถึงพระสนมเช่นเดียวกับปาจื่อ ต่างกันตรงคำว่า ปา (八, แปด) และ ชี (七, เจ็ด) ที่เป็นตัวบ่งบอกระดับที่สูงต่ำต่างกัน

เหลียงเหริน (良人)
ตำแหน่งพระสนมช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ศักดิ์รองจากเหม่ยเหริน ภายหลังถูกจัดอยู่ที่ตำแหน่งขั้น 9 พระสนมชั้นกลางในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับข้าราชการผู้ดูแลองค์รัชทายาทเช่นเดียวชีจื่อ และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 10 "จั่วซู่จ่าง" (左庶長) เหลียงเหริน แปลว่า ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ดีงาม

เช่น เถิงจี หรือ เถิงเหลียงเหริน (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫, สมัยฮั่นอู่ตี้), จางเหลียงเหริน ในสมัยฮั่นเซวียนตี้ ตามประวัติศาสตร์ภายหลังมีตำแหน่งเป็นจางเจี๋ยยวี๋ (จากเรื่อง 大漢情緣之雲中歌)


ฉางสื่อ (長使)
ตำแหน่งพระสนมช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ศักดิ์รองจากชีจื่อ ภายหลังเป็นตำแหน่งขั้น 10 พระสนมชั้นกลางในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับข้าราชการกำกับดูแลสิบสามเขตการปกครองใหญ่ (十三州) และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 9 "อู่ไต้ฟู" (五大夫) ฉางสื่อ หมายถึง สตรีผู้ปรนนิบัติรับใช้มาเป็นเวลานาน

เสาสื่อ (少使)
ตำแหน่งพระสนมช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ศักดิ์รองจากฉางสื่อ ภายหลังเป็นตำแหน่งขั้น 11 พระสนมชั้นกลางในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับข้าราชการดูแลความสงบเขตอำเภอใหญ่ และเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 8 "กงเฉิง" (公乗) เสาสื่อ หมายถึง สตรีผู้พร้อมปรนนิบัติรับใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

เช่น เฝิงเยวี่ยน ในสมัยฮั่นเยวี๋ยนตี้ เมื่อแรกเข้าวังมีตำแหน่งเป็นเฝิงฉางสื่อ ก่อนจะได้เลื่อนขึ้นเป็นเหม่ยเหริน เจี๋ยยวี๋ และเจาอี๋ตามลำดับ (จากเรื่อง 母儀天下), ปันเจี๋ยยวี๋ ในสมัยฮั่นเฉิงตี้ เมื่อแรกเข้าวังมีตำแหน่งเป็นปันเสาสื่อมาก่อน (จากเรื่อง 王昭君2007版)


จี (姬)
คำเรียกพระสนมระดับล่างในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก รองจากจักรพรรดินี ฟูเหรินและเหม่ยเหรินถือเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างสูงศักดิ์ ต่ำลงมากว่านี้จะถือว่าเป็นพระสนมระดับล่าง ดังนั้นตั้งแต่เหม่ยเหรินลงมาซึ่งได้แก่ เหลียงเหริน ปาจื่อ ชีจื่อ ฉางสื่อ และเสาสื่อ จึงมักจะเรียกต่อท้ายชื่อสกุลด้วยคำว่าจี แทนชื่อตำแหน่ง เช่น ลี่จี ในสมัยฮั่นจิ่งตี้ (จากเรื่อง 美人心計), ยวิ๋นจี (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫, สมัยฮั่นอู่ตี้) ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้หลังสมัยฮั่นอู่ตี้ได้กลายเป็นพระสนมชั้นเอกและชั้นโทแทนดังที่กล่าวไปข้างต้น


4) พระสนมชั้นตรี

อู่กวน (五官) "ผู้มีองคาพยพทั้งห้าบนใบหน้างดงามเหนือจริง" ตำแหน่งขั้น 12 พระสนมระดับล่างในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับรองหัวหน้าข้าราชการระดับอำเภอ

ซุ่นฉาง (順常) "ผู้ประพฤติตนตามแบบแผน" ตำแหน่งขั้น 13 พระสนมระดับล่างในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเทียบเท่าขุนนางระดับข้าราชการดูแลความสงบเขตอำเภอเล็ก

อู๋เจวียน (無涓) "ผู้บริสุทธิ์ไร้ราคี", ก้งเหอ (共和) "ผู้อ่อนโยนนอบน้อม", ยวี๋หลิง (娛靈) "ผู้สร้างความสำราญใจ", เป่าหลิน (保林) "ผู้สงบนิ่งดุจพงไพร", เหลียงสื่อ (良使) "ผู้ปรนนิบัติรับใช้ที่ดี" และเย่เจ่อ (夜者) "ผู้รับใช้ยามราตรี" ทั้งหมดเป็นตำแหน่งขั้น 14 สนมชั้นล่างในองค์จักรพรรดิ เทียบเท่าขุนนางระดับข้าราชการกองบันทึกประวัติศาสตร์

ตำแหน่งพระสนมชั้นตรีทั้งหมดเพิ่มเข้ามาในสมัยฮั่นเยวี๋ยนตี้ ไม่เทียบเท่าบรรดาศักดิ์ขุนนางใดทั้งสิ้น และถ้าหากเสียชีวิตจะต้องฝังที่สุสานนอกพระราชวัง ซึ่งแตกต่างจากพระเทวี พระชายา และพระสนมชั้นอื่นๆ

จะเห็นได้ว่าในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ระดับขั้นรวมถึงตำแหน่งของพระเทวีชายาและพระสนมต่างๆ สามารถแบ่งได้เป็นสองช่วงคือ ช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตกถึงต้นรัชสมัยฮั่นอู่ตี้ และปลายรัชสมัยฮั่นอู่ตี้ถึงช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ซึ่งมีทั้งการเพิ่มตำแหน่งใหม่ แทนที่ตำแหน่ง และปรับระดับขั้นตำแหน่งที่มีอยู่เดิม จาก 7 ตำแหน่ง เพิ่มเติมจนสามารถแบ่งได้ 14 ขั้น รวมทั้งหมด 19 ตำแหน่ง ซึ่งอาจสรุปได้ดังภาพด้านล่างนี้

เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนรัชกาลใหม่ พระภรรยาตำแหน่งต่างๆ ในจักรพรรดิองค์ก่อนจะไม่สามารถอยู่ในวังต่อไปได้ หากได้ให้กำเนิดองค์ชาย ก็สามารถติดตามพระโอรสไปยังแคว้นที่ต้องปกครองได้ในฐานะพระมารดาของอ๋องครองแคว้น แต่หากไม่มีพระโอรส ก็สามารถออกจากวังกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามเดิม และสามารถแต่งงานใหม่ได้

 


 

สตรีสูงศักดิ์และนางกำนัลรับใช้ในวังหลัง

ภายในวังหลังนอกจากจักรพรรดินี พระเทวีชายา หรือพระสนมแล้ว ยังมีสตรีที่ได้รับคัดเลือกจากเข้ามาในวังหลวง รวมถึงนางกำนัลรับใช้ที่ทำงานต่างๆ ภายในวังหลวง คอยทำหน้าที่รับใช้เจ้านายฝ่ายในตั้งแต่งานสำคัญไปจนถึงงานจิปาถะต่างๆ สตรีสูงศักดิ์และนางกำนัลรับใช้ในวังหลังสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกมีรายละเอียดดังนี้

เจียเหรินจื่อ (家人子)
คำเรียกสตรีจากทุกหนแห่งที่ถูกคัดเลือกเข้ามาภายในวัง และยังไม่มีตำแหน่งใดๆ ฐานะสูงกว่านางกำนัลรับใช้ทั่วไป ถือเป็นสตรีสูงศักดิ์ การคัดเลือกเจียเหรินจื่อนั้นมักจะมีฮองไทเฮาเป็นผู้ควบคุมจัดการ โดยการคัดเลือกไม่มีการจำกัดชนชั้นหรือสถานะทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นสตรีที่เป็นธิดาตระกูลข้าราชสำนักชั้นสูง ธิดาขุนนางปัญญาชน หรือสตรีจากครอบครัวสามัญชน ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนก็สามารถได้รับการพิจารณาคัดเลือกได้ทั้งสิ้น โดยทั้งหมดนี้จะต้องเป็นธิดาจากครอบครัวที่สุจริตไร้มลทิน เรียกว่า เหลียงเจียจื่อ (良家子) คือไม่ได้เป็นธิดาจากครอบครัวที่มีความผิดหรือหนีโทษ ไม่ได้เป็นธิดาจากครอบครัวที่ทำอาชีพหมอ คนทรง ค้าขาย หรือลูกจ้างงานช่างฝีมือต่างๆ เมื่อได้รับคัดเลือกเข้าวังแล้วทั้งหมดจะเรียกว่าเจียเหรินจื่อ ซึ่งหากคนใดมีรูปร่างหน้าตาดี มีความสามารถทางศิลปะร้องเพลงร่ายรำ ก็มักจะมีโอกาสได้ถวายการรับใช้องค์จักรพรรดิ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระเทวีชายา หรือพระสนมได้ แต่หากยังไม่ได้ถวายการรับใช้ เจียเหรินจื่อเหล่านี้จะได้รับการเรียกว่า ไต้จ้าวเยถิง (待詔掖庭) ซึ่งหมายถึงสตรีที่รอรับพระกรุณาจากองค์จักรพรรดิ


เจียเหรินจื่อยังไม่ถือเป็นพระสนมและยังไม่ใช่สตรีขององค์จักรพรรดิ การคัดเลือกเจียเหรินจื่อไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเลือกสตรีให้จักรพรรดิเพียงอย่างเดียว บางครั้งการคัดเลือกก็เกิดขึ้นเพื่อเลือกสตรีให้ไปถวายการรับใช้องค์รัชทายาทหรืออ๋องครองแคว้นต่างๆ โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีปรากฎที่เจียเหรินจื่อถูกส่งเพื่อไปแต่งงานยังชนเผ่าอื่นๆ ที่อยู่ติดกับชายแดนแผ่นดินฮั่นเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีก็มีเช่นกัน เช่น เจียเหรินจื่อ หวังเจาจวิน ซึ่งได้ถูกส่งไปแต่งงานเป็นพระสนมตำแหน่งหนิงหูเยียนจือ (寧胡閼氏) ในฮูหานเสียฉานยวี๋ (呼韓邪單於) ผู้นำเผ่าซงหนู ในสมัยฮั่นเยวี๋ยนตี้ (จากเรื่อง 王昭君2007版)

ข้าราชสำนักสตรีฝ่ายใน (女官)
หนี่ว์กวน หรือข้าราชสำนักสตรีฝ่ายใน หมายถึงสตรีมีตำแหน่งที่ทำงานรับใช้เจ้านายฝ่ายในภายในวังหลัง โดยมากจะอยู่รับใช้ประจำตำหนักไทฮองไทเฮา ตำหนักฮองไทเฮา และตำหนักกลางของฮองเฮาเป็นส่วนใหญ่ สมัยฮั่นตะวันตกการจัดแบ่งระดับของข้าราชสำนักสตรีฝ่ายในยังไม่ชัดเจน และตำแหน่งที่ปรากฏก็มีอยู่ไม่มาก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

+ ฉางยวี่ (長禦) ทำหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดและดูแลเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้แก่ฮองเฮา และยังเป็นตัวแทนฮองเฮาจัดการงานบางอย่างได้
+ จงกงสื่อ (中宮史) ทำหน้าที่คอยรับใช้ฮองเฮาในเวลาทรงพระอักษรหรือร่วมถกข้อคิดเห็นในบางครั้ง
+ จงกงเสวียซื่อสื่อ (中宮學事史) ทำหน้าที่คอยชี้แนะหรือแนะนำเนื้อหาในหนังสือโบราณต่างๆ อย่างซือจิง (詩經) ให้แก่ฮองเฮา
+ ไฉเหริน (材人, 才人) ตำแหน่งข้าราชสำนักสตรีฝ่ายในซึ่งรับใช้ในตำหนักฮองไทเฮา ไม่ปรากฏหน้าที่แน่ชัด


นางกำนัลรับใช้ (宮婢)
กงปี้ หรือนางกำนัลรับใช้ คือสตรีไม่มีตำแหน่งซึ่งมีฐานะต่ำสุดในวังหลวง คอยรับใช้ทำงานจิปาถะทั่วไปตั้งแต่ทำความสะอาด เคลื่อนย้ายสิ่งของ ทำอาหาร ซักเสื้อผ้า ตักน้ำ แบกฟืน และงานอื่นๆ ภายในวัง รวมถึงคอยทำตามคำสั่งข้าราชสำนักสตรีฝ่ายในซึ่งมีฐานะสูงกว่า ในสมัยฮั่นตะวันตกนั้น นางกำนัลรับใช้มักจะเป็นผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีความผิด เคยใช้เงินซื้อตำแหน่งซื้อบรรดาศักดิ์ หรือเป็นสาวใช้ที่ไม่มีเจ้านาย ทั้งหมดจะถูกนำเข้าวังเพื่อมาทำงานเป็นนางกำนัลรับใช้ ซึ่งถ้าหากคนใดมีจริยธรรมและความสามารถพอ ก็สามารถมีตำแหน่งเป็นข้าราชสำนักสตรีฝ่ายในได้

 


 

องค์ชายและเชื้อพระวงศ์ชาย

ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ที่หวงจื่อ (皇子) หรือองค์ชายและเชื้อพระวงศ์ชายต่างๆ ซึ่งเป็นเชื้อสายขององค์จักรพรรดิจะมีได้นั้นมีหลายตำแหน่ง สามารถแบ่งได้ดังนี้

หวงไท่จื่อ (皇太子)
ตำแหน่งองค์ชายรัชทายาท ผู้สืบทอดราชบัลลังก์จักพรรดิคนต่อไป ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกมักแต่งตั้งให้กับพระโอรสองค์โต หรือพระโอรสที่จักพรรดิทรงโปรดปรานเป็นส่วนใหญ่ เช่น จ้าวหวงไท่จื่อ หลิวฝูหลิง พระโอรสในฮั่นอู่ตี้กับโกวอี้ฟูเหริน (พระอัครเทวีจ้าวเจี๋ยยวี๋) ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นเจาตี้ (จากเรื่อง 大漢情緣之雲中歌)

หวงซุน (皇孫)
คำเรียกอย่างให้เกียรติสำหรับพระนัดดาชายขององค์จักรพรรดิ ซึ่งเป็นพระโอรสในหวงไท่จื่อ โดยใช้ชื่อสกุลของพระมารดาเรียกนำหน้า เช่น หวังหวงซุน หลิวอ้าว พระโอรสในสวี่หวงไท่จื่อ หลิวซื่อ (ต่อมาขึ้นเป็นฮั่นเยวี๋ยนตี้) กับพระสนมหวังเจิ้งจวิน (ต่อมาขึ้นเป็นเซี่ยวเยวี๋ยนหวังฮองเฮา) พระนัดดาในฮั่นเซวียนตี้ ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นหวงไท่จื่อ และขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นเฉิงตี้ต่อจากพระบิดา (จากเรื่อง 母儀天下)

หวงเจิงซุน (皇曾孫)
คำเรียกอย่างให้เกียรติสำหรับพระปนัดดาชายขององค์จักรพรรดิ ซึ่งเป็นโอรสในหวงซุน พระนัดดาในหวงไท่จื่อ โดยใช้ชื่อสกุลของพระมารดาเรียกนำหน้า เช่น หวังหวงเจิงซุน หลิวปิ้งอี่ โอรสในสื่อหวงซุน หลิวจิ้น กับชายาเอกหวังเวิงซวี พระนัดดาในเว่ยหวงไท่จื่อ หลิวจวี้ พระปนัดดาในฮั่นอู่ตี้ ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นเซวียนตี้ (จากเรื่อง 大漢情緣之雲中歌)

หวัง (王)
หรือรู้จักกันในชื่อตำแหน่ง "อ๋อง" เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ชั้นพิเศษ ซึ่งในช่วงแรกสุดผู้ที่มีตำแหน่งอ๋องนั้นต่างไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์สกุลหลิว เนื่องมาจากในช่วงเริ่มก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก หลังจากหลิวปังหรือจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ได้ร่วมมือกับเซี่ยงอวี่ (項羽) หรือฌ้อป้าอ๋อง (楚霸王) โค่นล้มราชวงศ์ฉินลง ทั้งสองฝ่ายก็ได้ทำสงครามชิงอำนาจกันเพื่อแย่งชิงบัลลังก์ เรียกว่า สงครามฉู่-ฮั่น (楚漢戰爭) ด้วยความร่วมมือจากเจ้าแคว้นและยอดขุนพลต่างๆ สงครามครั้งนี้หลิวปังจึงเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก โดยมีอ๋องเจ้าแคว้นที่กินดินแดนเป็นอิสระและขุนพลอื่นๆ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอ๋องในภายหลังยอมรับในอำนาจและอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮั่น ภายหลังเมื่ออำนาจของฮั่นเกาจู่มั่นคงมากขึ้นจึงได้วางแผนกำจัดอ๋องต่างสกุลเหล่านี้ แล้วแต่งตั้งให้พระโอรสและเชื้อพระวงศ์สกุลหลิวขึ้นเป็นอ๋องปกครองแคว้นแทน ยกเว้นเพียงฉางซาอ๋อง สกุลอู๋ ซึ่งมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีเป็นอย่างมากยังคงได้ดำรงตำแหน่งอ๋องต่อไป โดยลูกหลานได้สืบทอดตำแหน่งและปกครองแคว้นฉางซาไปอีกห้ารุ่นจนกระทั่งไร้ผู้สืบสกุล แผ่นดินฮั่นจึงได้มีเพียงเชื้อพระวงศ์สกุลหลิวเป็นอ๋องปกครองแคว้น

ในสมัยฮั่นตะวันตก หากไม่นับซียวี่ (西域) รัฐของชนเผ่าต่างๆ กว่า 60 รัฐทางดินแดนด้านตะวันตกซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ จะเห็นได้ว่าแคว้นอ๋องรวมกันทั้งหมดมีขนาดพื้นที่มากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของแผ่นดินฮั่นทั้งประเทศ องค์จักรพรรดิมักจะแต่งตั้งตำแหน่งอ๋องให้กับพระโอรสทุกองค์ และเพื่อที่พระโอรสแต่ละคนจะได้มีแคว้นในการปกครอง จากที่มีเพียงเจ็ดแคว้น จึงได้มีทั้งการก่อตั้งแคว้น ยุบแคว้น และแบ่งเขตการปกครองใหม่จากแคว้นเดิมที่มีอยู่บางส่วน จนทำให้ในช่วงกลางสมัยฮั่นตะวันตกนั้นมีจำนวนแคว้นอ๋องมากกว่ายี่สิบแคว้น พระโอรสของจักรพรรดิรวมถึงเชื้อพระวงศ์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอ๋องจะเรียกว่า จูโหวหวัง (諸侯王) มีอำนาจในการปกครองประชาชนภายในแคว้นของตนได้ สามารถจัดตั้งข้าราชสำนักประจำแคว้นเพื่อบริหารบ้านเมือง มีอำนาจในการบัญชาการทหารเป็นของตนเอง และสามารถสืบทอดตำแหน่งอ๋องให้ลูกหลานได้
ในช่วงต้นสมัยฮั่นตะวันตก เขตการปกครองระดับหวังกั๋ว (王國) หรือแคว้นที่ผู้เป็นอ๋องทำการปกครองนั้นมักจะมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่และประกอบด้วยจวิ้น (郡) หรือนครตั้งแต่สองนครขึ้นไป และในแต่ละนครจะประกอบด้วยอำเภอ (縣) และเขตที่อยู่ชนกลุ่มน้อย (道) อีกมากมาย อำนาจของอ๋องเป็นรองเพียงอำนาจจากราชสำนักส่วนกลางเท่านั้น อ๋องในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เช่น ไต้อ๋อง หลิวเหิง พระโอรสในฮั่นเกาจู่กับพระสนมปั๋วจี ปกครองแคว้นไต้ (代國) ซึ่งประกอบด้วย 4 นคร ได้แก่ นครไต้ นครเยี่ยนเหมิน นครยวิ๋นจง และนครไท่เยวี๋ยน ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นเหวินตี้ (จากเรื่อง 美人心計)

ต่อมาในช่วงกลางสมัยฮั่นตะวันตก เพื่อลดการแข็งกร้าวของอ๋องครองแคว้นส่วนหนึ่งและเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับราชสำนักส่วนกลางมากขึ้น ฮั่นจิ่งตี้จึงได้เริ่มทำการลดอาณาเขตในปกครองของอ๋องลงบางส่วน สร้างความไม่พอใจให้แก่อ๋องครองแคว้นหลายคน อู๋อ๋องและอ๋องแคว้นอื่นๆ รวมเจ็ดแคว้นจากสิบหกแคว้นในขณะนั้นจึงได้ทำการก่อกบฏขึ้น เรียกเหตุการณ์นี้ว่า จลาจลเจ็ดอ๋องครองแคว้น (七國之亂) ซึ่งหลังจากฝ่ายราชสำนักได้รับชัยชนะ อำนาจในการปกครองประชาชนในแคว้น อำนาจการจัดตั้งขุนนางข้าราชสำนักประจำแคว้น รวมถึงอำนาจทางการทหารของอ๋องทั้งหมด ล้วนถูกเรียกคืนกลับเข้าการปกครองส่วนกลาง อ๋องแต่ละคนในภายหลังจึงได้ครองแคว้นแต่เพียงในนาม เหลืออำนาจเพียงความเป็นเจ้าของพื้นที่และรับรายได้จากภาษีของประชาชนในแคว้นเท่านั้น
รัชสมัยถัดมาฮั่นอู่ตี้ยังได้ออกนโยบาย "ทุยเอินลิ่ง" (推恩令) ที่อนุญาตให้ผู้เป็นอ๋องสามารถแบ่งส่วนแคว้นที่ครอบครองอยู่ให้แก่พระโอรสทุกคนได้ จากที่ในตอนแรกสามารถยกแคว้นให้ได้เพียงโอรสที่เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งอ๋องเท่านั้น ซึ่งเป็นนโยบายอันแยบยลในการลดขนาดดินแดนที่อ๋องครอบครองอยู่ ในช่วงกลางจนถึงช่วงปลายสมัยฮั่นตะวันตก เขตการปกครองระดับหวังกั๋วหรือแคว้นอ๋องจึงมีขนาดพื้นที่ลดลงจนเท่ากับหนึ่งจวิ้น หรือเพียงนครเดียวเท่านั้น ซึ่งแต่ละแคว้นอ๋องในช่วงสมัยนี้จะประกอบด้วยอำเภอตั้งแต่สองอำเภอขึ้นไป แตกต่างจากช่วงต้นราชวงศ์เป็นอย่างมาก อ๋องในช่วงกลางถึงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เช่น กว่างหลิงอ๋อง หลิวซวี พระโอรสในฮั่นอู่ตี้กับพระสนมหลี่จี เจ้าของพื้นที่แคว้นกว่างหลิง (廣陵國) ซึ่งประกอบด้วย 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกว่างหลิง อำเภอเจียงตู อำเภอเกาโหยว และอำเภอผิงอัน (จากเรื่อง 大漢情緣之雲中歌)

หวังไท่จื่อ (王太子)
โดยทั่วไปพระโอรสในอ๋องทุกคนจะได้รับการเรียกว่า หวังจื่อ (王子) สำหรับหวังไท่จื่อนั้นเป็นตำแหน่งสำหรับหวังจื่อซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งอ๋องและครองแคว้นเป็นคนต่อไป โดยมากผู้เป็นอ๋องมักแต่งตั้งให้กับพระโอรสองค์โต เช่น ไต้หวังไท่จื่อ หลิวฉี่ พระโอรสในไต้อ๋อง หลิวเหิง (ต่อมาขึ้นเป็นฮั่นเหวินตี้) กับพระสนมโต้วจี (ต่อมาขึ้นเป็นเซี่ยวเหวินโต้วฮองเฮา) ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นหวงไท่จื่อ และขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นจิ่งตี้ต่อจากพระบิดา (จากเรื่อง 美人心計)

เลี่ยโหว (列侯)
ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกนอกจากตำแหน่งอ๋องแล้ว ยังได้มีการกำหนดตำแหน่งบรรดาศักดิ์เอาไว้อีกยี่สิบชั้น (二十等爵) เลี่ยโหวเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ชั้นที่ 20 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด เดิมเลี่ยโหวมีชื่อตำแหน่งว่าเช่อโหว (徹侯) แต่เพื่อเลี่ยงการซ้ำกับชื่อหลิวเช่อซึ่งเป็นพระนามของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ จึงได้มีการเปลี่ยนมาเป็นเลี่ยโหวแทน องค์จักรพรรดิมักพระราชทานตำแหน่งเลี่ยโหวให้กับหวังจื่อที่ไม่ได้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งอ๋องทุกคน เลี่ยโหวมีอำนาจในการเป็นเจ้าของอาณาเขตและรับรายได้จากภาษีของประชาชนในอาณาเขตนั้น สามารถจัดตั้งตำแหน่งขุนนางรับใช้คอยจัดการงานต่างๆ ในจวนเลี่ยโหว รวมถึงสามารถสืบทอดตำแหน่งเลี่ยโหวให้ลูกหลานได้ แต่ไม่มีอำนาจในการบริหารปกครองผู้คนในอาณาเขตที่เป็นเจ้าของ และไม่มีอำนาจบัญชาการทหารเป็นของตนเอง ยกเว้นแต่มีตำแหน่งทางการทหารอยู่ก่อนแล้ว
ในช่วงต้นสมัยฮั่นตะวันตก โหวกั๋ว (侯國) หรืออาณาเขตที่เลี่ยโหวครอบครองนั้นมักจะมีขนาดพื้นที่เท่ากับหนึ่งเสี้ยน (縣) หรือหนึ่งอำเภอ หรือตั้งอำเภอที่มีอยู่เดิมขึ้นเป็นโหวกั๋ว ภายในอาณาเขตสามารถมีได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยครัวเรือนไปจนถึงหนึ่งหมื่นครัวเรือน หลังจากฮั่นอู่ตี้ออกนโยบาย "ทุยเอินลิ่ง" ที่อนุญาตให้ผู้เป็นอ๋องสามารถแบ่งส่วนแคว้นให้แก่พระโอรสทุกคนได้ โหวกั๋วในช่วงกลางจนถึงช่วงปลายสมัยฮั่นตะวันตกจึงมักจะเป็นอาณาเขตที่ได้รับการแบ่งมาจากอ๋องผู้เป็นพระบิดา แต่ขนาดอาณาเขตที่เลี่ยโหวเป็นเจ้าของโดยทั่วไปแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระโอรสในอ๋องที่ได้รับตำแหน่งนี้จะเรียกว่า หวังจื่อโหว (王子侯) หากมีความดีความชอบหรือได้รับความโปรดปรานจากองค์จักรพรรดิ หวังจื่อโหวสามารถมีตำแหน่งเป็นอ๋องครองแคว้นได้ เช่น จูซวีโหว หลิวจาง พระโอรสองค์รองในฉีเต้าฮุ่ยอ๋อง หลิวเฝย พระนัดดาในฮั่นเกาจู่ เจ้าของอาณาเขตจูซวีซึ่งมีทั้งหมด 2,000 ครัวเรือน ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นเฉิงหยางอ๋อง (จากเรื่อง 美人心計)

เลี่ยโหวไม่ได้เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์เฉพาะเชื้อพระวงศ์ชายซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายในเท่านั้น แต่ยังเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ที่องค์จักรพรรดิมักจะแต่งตั้งให้กับพระญาติฝ่ายนอก (เครือญาติฝั่งพระมารดาและจักรพรรดินี) ราชบุตรเขยขององค์จักรพรรดิ รวมถึงข้าราชสำนักที่มีความดีความชอบทางด้านการทหาร เช่น ฉางผิงโหว เว่ยชิง น้องชายของเว่ยจื่อฟูหรือเซี่ยวอู่เว่ยฮองเฮาในฮั่นอู่ตี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลี่ยโหวด้วยความดีความชอบในการศึกกับชนเผ่าซงหนูในฐานะแม่ทัพกองทหารม้าและรถศึก เจ้าของอาณาเขตฉางผิงซึ่งมีทั้งหมด 12,800 ครัวเรือน ภายหลังมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพใหญ่ และมีฐานะเป็นสามีคนที่สามขององค์หญิงผิงหยาง พระเชษฐภคินีของฮั่นอู่ตี้ (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫)

โหวซื่อจื่อ (侯世子)
โดยทั่วไปโอรสในหวังจื่อโหวและบุตรชายในเลี่ยโหวทุกคนจะได้รับการเรียกว่า กงจื่อ (公子) ซึ่งเป็นคำเรียกที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์ฉิน สำหรับโหวซื่อจื่อเป็นตำแหน่งสำหรับกงจื่อซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเลี่ยโหวและเป็นเจ้าของอาณาเขตคนต่อไป โดยมากมักแต่งตั้งให้กับโอรสองค์โตหรือบุตรชายคนโต เช่น ผิงหยางโหว เฉาสือ บุตรชายของผิงหยางเจี่ยนโหว เฉาฉี มีตำแหน่งเป็นผิงหยางโหวซื่อจื่อมาก่อนสืบทอดตำแหน่งผิงหยางโหวต่อจากบิดา และมีฐานะเป็นสามีคนแรกขององค์หญิงผิงหยาง (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫)

 


 

ภรรยาในองค์ชายและเชื้อพระวงศ์ชาย

หวงไท่จื่อเฟย (皇太子妃)
ตำแหน่งองค์หญิงพระชายา พระชายาเอกในองค์รัชทายาท ซึ่งสามารถแต่งตั้งได้เพียงคนเดียว หากองค์รัชทายาทซึ่งเป็นพระสวามีได้ขึ้นครองราชย์ มักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นฮองเฮา เช่น หวงไท่จื่อเฟย เฉินอาเจียว องค์หญิงพระชายาในองค์รัชทายาทหลิวเช่อ ภายหลังเมื่อพระสวามีขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นอู่ตี้ หวงไท่จื่อเฟยสกุลเฉินจึงได้ขึ้นเป็นเซี่ยวอู่เฉินฮองเฮา (จากเรื่อง 美人心計)

ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตำแหน่งฝ่ายในของวังตะวันออกซึ่งเป็นที่ประทับขององค์รัชทายาท นอกจากตำแหน่งองค์หญิงพระชายาแล้ว องค์รัชทายาทสามารถแต่งตั้งพระชายารองและพระสนมได้ด้วยเช่นกัน โดยมีตำแหน่งดังนี้

1) เหลียงตี้ (良娣) ตำแหน่งพระชายารองในองค์รัชทายาท เหลียงตี้ แปลว่า ผู้ประพฤติดีงาม
2) หรูจื่อ (孺子) ตำแหน่งพระสนมในองค์รัชทายาท หรูจื่อ เป็นคำเรียกอนุภรรยาชั้นสูงในสมัยโบราณ

เช่น ปั๋วเหลียงตี้ พระชายารองในองค์รัชทายาทหลิวฉี่ ตามประวัติศาสตร์ต่อมามีตำแหน่งเป็นหวงไท่จื่อเฟย ภายหลังเมื่อพระสวามีขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นจิ่งตี้ หวงไท่จื่อเฟยสกุลปั๋วจึงขึ้นเป็นเซี่ยวจิ่งปั๋วฮองเฮา (จากเรื่อง 美人心計)

ฟูเหริน (夫人)
ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งสำหรับชายาเอกในหวงซุน และชายาเอกในหวงเจิงซุน จึงมีเพียงคำเรียกอย่างให้เกียรติว่าฟูเหรินเท่านั้น เช่น สวี่ฟูเหริน หรือสวี่ผิงจวิน ชายาเอกในหวังหวงเจิงซุน หลิวปิ้งอี่ ภายหลังเมื่อสวามีขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นเซวียนตี้ สวี่ฟูเหรินจึงได้ขึ้นเป็นพระอัครเทวีสวี่เจี๋ยยวี๋ ก่อนได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเซี่ยวเซวียนสวี่ฮองเฮา (จากเรื่อง 大漢情緣之雲中歌)

สำหรับสนมในหวงซุนและหวงเจิงซุน ก็ไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งเช่นเดียวกัน โดยเรียกอย่างให้เกียรติว่า เจียเหรินจื่อ (家人子) แทน

หวังไท่โฮ่ว (王太后)
ตำแหน่งสำหรับพระเทวี พระชายา หรือพระสนมในองค์จักรพรรดิที่ติดตามพระโอรสซึ่งเป็นอ๋องไปยังแคว้นที่ต้องปกครองในฐานะพระมารดา หรือเรียกว่า หวังกั๋วไท่โฮ่ว (王國太后) ซึ่งหมายถึงไทเฮาของแคว้นอ๋อง และยังเป็นตำแหน่งสำหรับพระมเหสีในอ๋องครองแคว้นคนก่อนหน้านับขึ้นไป 1-2 ขั้น ซึ่งอาจจะมีฐานะเป็นพระมารดาแท้ๆ หรือพระมารดาเลี้ยงของอ๋องคนปัจจุบันก็ได้ บางครั้งพระมารดาของอ๋องซึ่งไม่ได้เป็นพระมเหสีก็สามารถมีตำแหน่งนี้ได้เช่นกัน เช่น ไต้หวังไท่โฮ่ว สกุลปั๋ว เคยเป็นพระสนมปั๋วจีในฮั่นเกาจู่ พระมารดาของไต้อ๋อง หลิวเหิง ภายหลังเมื่อพระโอรสขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นเหวินตี้ หวังไท่โฮ่ว สกุลปั๋ว จึงได้มีตำแหน่งเป็นฮองไทเฮา และเป็นไทฮองไทเฮาในรัชสมัยถัดมา (จากเรื่อง 美人心計)

หวังโฮ่ว (王后)
ตำแหน่งพระมเหสีเอกในอ๋องครองแคว้นคนปัจจุบัน ซึ่งสามารถแต่งตั้งได้เพียงคนเดียว และเป็นผู้มีศักดิ์สูงสุดในการปกครองฝ่ายในของวังอ๋อง เช่น ไต้หวังหวังโฮ่ว พระมเหสีเอกในไต้อ๋อง หลิวเหิง (จากเรื่อง 美人心計)

ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก อ๋องครองแคว้นมีอำนาจเป็นอย่างมาก ทำให้ฝ่ายในของวังอ๋องมีขนาดใหญ่และมีพระสนมนางในอยู่หลากหลายตำแหน่ง ใกล้เคียงกับฝ่ายในขององค์จักพรรดิ นอกจากตำแหน่งหวังโฮ่วซึ่งเป็นพระมเหสีเอกแล้ว ผู้เป็นอ๋องยังสามารถแต่งตั้งพระสนมได้อีกมากมาย โดยเรียงลำดับตำแหน่งเท่าที่ปรากฏได้ทั้งหมด 6 ตำแหน่งได้แก่

1) ฟูเหริน (夫人) ตำแหน่งพระสนมเอกในอ๋องครองแคว้น ฐานะรองจากหวังโฮ่ว มีศักดิ์สูงกว่าพระสนมตำแหน่งอื่นๆ ทั้งหมด
2) เหม่ยเหริน (美人) ตำแหน่งพระสนมในอ๋องครองแคว้น เทียบเท่าขุนนางระดับผู้ว่าราชการนคร ภายหลังเทียบเท่าผู้ช่วยอัครเสนาบดี
3) ปาจื่อ (八子) ตำแหน่งพระสนมในอ๋องครองแคว้น เทียบเท่าผู้ช่วยอัครเสนาบดี ภายหลังเทียบเท่าข้าราชการกำกับดูแลสิบสามเขตปกครองใหญ่
4) หรูจื่อ (孺子) ตำแหน่งพระสนมในอ๋องครองแคว้น เทียบเท่าตำแหน่งหรูจื่อในองค์รัชทายาท ภายหลังไม่ปรากฎตำแหน่งที่เทียบเท่าชัดเจน
5) เหลียงเหริน (良人) ตำแหน่งพระสนมในอ๋องครองแคว้น เทียบเท่าข้าราชการผู้ดูแลองค์รัชทายาท ภายหลังไม่เทียบเท่าตำแหน่งขุนนางใด
6) ไฉเหริน (材人) ตำแหน่งพระสนมในอ๋องครองแคว้น ไม่เทียบเท่าตำแหน่งขุนนางใด ไฉเหริน แปลว่า ผู้ที่เฉลียวฉลาดมีความสามารถ

เช่น ยวี่จิ่นเซ่อฟูเหริน และ เซียงมั่วยวี่เหม่ยเหริน (พระสนมเอกและพระสนมในไต้อ๋อง หลิวเหิง จากเรื่อง 美人心計)


ฝ่ายในของวังอ๋องก็มีการเรียกพระสนมด้วยการเรียกต่อท้ายชื่อสกุลด้วยคำว่าจี (姬) เช่นเดียวกับที่ใช้เรียกพระสนมขององค์จักรพรรดิ เพียงแต่มีการใช้ในทางตรงข้ามกัน คือใช้เรียกสำหรับพระสนมตำแหน่งฟูเหรินและเหม่ยเหรินซึ่งมีฐานะสูงศักดิ์กว่าพระสนมตำแหน่งอื่นเท่านั้น เช่น โต้วจี หรือ โต้วอีฝาง พระสนมในไต้อ๋อง หลิวเหิง ภายหลังเมื่อพระสวามีขึ้นครองราชย์เป็นฮั่นเหวินตี้ โต้วจีจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเซี่ยวเหวินโต้วฮองเฮา (จากเรื่อง 美人心計)

นอกจากนี้ยังมีเจียเหรินจื่อ (家人子) สตรีที่ถูกคัดเลือกเข้าวัง ซึ่งส่วนหนึ่งมักจะได้รับพระราชทานมาจากทางฮองไทเฮาหรือจักรพรรดิ และยังมีนางกำนัลกึ่งสนมเรียกว่า ยวี่ปี้ (禦婢) ซึ่งเป็นนางกำนัลที่ได้ถวายการรับใช้ผู้เป็นอ๋อง แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งใดๆ ซึ่งถ้าหากนางกำนัลเหล่านี้มีลูกชาย หลังจากเจ้านายผู้เป็นอ๋องจากไป ก็สามารถยกสถานะทางสังคมและเป็นอิสระจากการเป็นนางกำนัลรับใช้ได้

ไท่ฟูเหริน (太夫人)
ตำแหน่งสำหรับชายาเอกในหวังจื่อโหว หรือภริยาเอกในเลี่ยโหวคนก่อนหน้านับขึ้นไป 1-2 ขั้น ซึ่งอาจจะมีฐานะเป็นมารดาแท้ๆ หรือมารดาเลี้ยงของเลี่ยโหวคนปัจจุบันก็ได้ บางครั้งมารดาของเลี่ยโหวซึ่งไม่ได้เป็นชายาเอกหรือภริยาเอกก็สามารถมีตำแหน่งนี้ได้เช่นกัน เช่น ฮั่วเสี่ยนไท่ฟูเหริน มารดาของป๋อลู่โหว ฮั่วอวี่ ภริยาเอกของป๋อลู่โหวคนก่อน ฮั่วกวาง และยังเป็นมารดาของฮั่วเฉิงจวิน ฮองเฮาคนที่สองในฮั่นเซวียนตี้ซึ่งภายหลังถูกปลดออกจากตำแหน่ง (จากเรื่อง 大漢情緣之雲中歌)

ฟูเหริน (夫人)
ตำแหน่งชายาเอกในหวังจื่อโหว และภริยาเอกในเลี่ยโหว โดยสามารถแต่งตั้งได้เพียงคนเดียว เช่น หลวี่ฟูเหริน ชายาเอกในจูซวีโหว หลิวจาง ภายหลังเมื่อสวามีได้ขึ้นเป็นเฉิงหยางอ๋อง หลวี่ฟูเหรินจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเฉิงหยางหวังโฮ่ว (จากเรื่อง 美人心計)

สำหรับสนมในหวังจื่อโหวหรืออนุภรรยาในเลี่ยโหวนั้น สามารถแต่งตั้งได้ 2 ตำแหน่งคือ หรูจื่อ (孺子) และเหลียงเหริน (良人)

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น "ฟูเหริน" เป็นคำชั้นสูง ใช้ทั้งเป็นตำแหน่งและคำเรียกอย่างให้เกียรติสำหรับพระภรรยาในจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ ต่อมาคำว่า "ฟูเหริน" ได้เริ่มกลายเป็นคำเรียกภริยาของขุนนางชั้นสูง ผ่านหลายยุคหลายสมัยจนภายหลังได้กลายเป็นคำเรียกภริยาในตระกูลชนชั้นสูง ตระกูลคหบดี รวมถึงคนทั่วไปอย่างให้เกียรติตามลำดับ หรือที่เรารู้จักกันในคำว่า "ฮูหยิน" นั่นเอง

องค์หญิงและเชื้อพระวงศ์หญิง

ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ที่หวงหนี่ว์ (皇女) หรือองค์หญิงและเชื้อพระวงศ์หญิงต่างๆ ซึ่งเป็นเชื้อสายขององค์จักรพรรดิสามารถมีได้นั้นมีหลายตำแหน่ง สามารถแบ่งได้ดังนี้

กงจู่ (公主)
ตำแหน่งองค์หญิง พระธิดาขององค์จักรพรรดิ ไม่ว่าจะมีพระมารดาเป็นฮองเฮา พระเทวี พระชายา พระสนม หรือนางใน ล้วนแล้วแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นกงจู่ทั้งสิ้น ตำแหน่งกงจู่ได้เริ่มมีการแต่งตั้งให้กับพระธิดาขององค์จักรพรรดิอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก บรรดาศักดิ์เทียบเท่าเลี่ยโหว และมีอำนาจในการเป็นเจ้าของอาณาเขตและรับรายได้จากภาษีของประชาชนในอาณาเขตนั้นเช่นเดียวกัน อาณาเขตที่กงจู่ครอบครองนั้นเรียกว่า ทังมู่อี้ (湯沐邑) เป็นอาณาเขตที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิ มักมีขนาดพื้นที่เท่ากับหนึ่งเสี้ยน (縣) หรือหนึ่งอำเภอ หรืออาจจะตั้งอำเภอที่มีอยู่เดิมขึ้นเป็นทังมู่อี้ก็ได้ ภายในอาณาเขตมักจะมีตั้งแต่สองพันครัวเรือนขึ้นไป หากได้รับความโปรดปรานทังมู่อี้ขององค์หญิงอาจสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งอำเภอหรืออาจมากถึงขนาดหนึ่งนครได้
หากองค์จักรพรรดิต้องการแสดงถึงความโปรดปรานเป็นพิเศษต่อองค์หญิงซึ่งเป็นพระธิดาหรือพระขนิษฐา หรือแสดงความให้เกียรติยกย่องต่อองค์หญิงซึ่งเป็นพระปิตุจฉาหรือพระเชษฐภคินี องค์หญิงผู้นั้นก็อาจได้รับการเรียกว่าจ่างกงจู่ (長公主) หรือต้าจ่างกงจู่ (大長公主) แทน ศักดิ์เทียบเท่าอ๋องครองแคว้น โดยมากมักจะเป็นพระธิดาองค์โตซึ่งเกิดแต่จักพรรดินีที่ได้รับเกียรตินี้ เช่น หลู่เยวี๋ยนกงจู่ หรือ หลู่กั๋วจ่างกงจู่ พระธิดาในฮั่นเกาจู่กับหลวี่ฮองเฮา ซึ่งมีทังมู่อี้ในครอบครองเป็นอำเภอหลู่ ภายหลังฉีอ๋อง หลิวเฝย พระเชษฐาต่างพระมารดา แบ่งนครหนึ่งของแคว้นฉีให้แก่องค์หญิง หลู่เยวี๋ยนกงจู่จึงมีทังมู่อี้ในครอบครองเป็นนครเฉิงหยางเพิ่มเข้ามา (จากเรื่อง 美人心計)

สำหรับราชทินนามที่พระราชทานให้แก่องค์หญิงแต่ละองค์ในสมัยฮั่นตะวันตกนั้นมีหลายแบบ ในช่วงเริ่มต้นมักจะใช้ชื่อสกุลของพระมารดานำหน้าตำแหน่งกงจู่ ต่อมาก็มักจะใช้ชื่ออาณาเขตซึ่งเป็นทังมู่อี้ขององค์หญิงเป็นราชทินนามนำหน้าตำแหน่ง ซึ่งองค์จักรพรรดิอาจพระราชทานอาณาเขตให้ตั้งแต่องค์หญิงยังทรงพระเยาว์ หรือเมื่อองค์หญิงถึงเวลาอภิเษก นอกจากนี้พระธิดาในองค์จักรพรรดิมักจะได้อภิเษกกับเลี่ยโหวเป็นส่วนใหญ่ ราชทินนามนำหน้าตำแหน่งกงจู่จึงอาจเป็นชื่อโหวกั๋วหรืออาณาเขตที่พระสวามีขององค์หญิงซึ่งเป็นเลี่ยโหวครอบครองอยู่ก็ได้เช่นกัน เช่น เว่ยจ่างกงจู่ พระธิดาในฮั่นอู่ตี้กับเว่ยฮองเฮา ซึ่งใช้ชื่อสกุลเว่ยของพระมารดานำหน้าตำแหน่ง ภายหลังเมื่ออภิเษกกับเล่อทงโหวซึ่งเป็นพระสวามีคนที่สอง องค์จักรพรรดิได้พระราชทานอำเภอตังลี่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญให้เป็นทังมู่อี้ขององค์หญิง (เกลือเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากในสมัยฮั่นตะวันตก) เว่ยจ่างกงจู่จึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ตังลี่กงจู่ (จากเรื่อง 大漢天子)

หวงซุนหนี่ว์ (皇孫女)
คำเรียกอย่างให้เกียรติสำหรับพระนัดดาหญิงขององค์จักรพรรดิ ซึ่งเป็นพระธิดาในหวงไท่จื่อ โดยใช้ชื่อสกุลของพระมารดาเรียกนำหน้า เช่น หวังหวงซุนหนี่ว์ พระธิดาในโต้วหวงไท่จื่อ หลิวฉี่ (ต่อมาขึ้นเป็นฮั่นจิ่งตี้) กับพระสนมหวังจื้อ (ต่อมาขึ้นเป็นเหม่ยเหริน ฟูเหริน และขึ้นเป็นฮองเฮา) พระนัดดาในฮั่นเหวินตี้ เมื่อพระบิดาขึ้นเป็นจักรพรรดิจึงได้พระราชทานอำเภอหยางซิ่นให้เป็นทังมู่อี้และแต่งตั้งขึ้นเป็นหยางซิ่นกงจู่ ต่อมาเมื่ออภิเษกกับผิงหยางโหว จึงได้รับการเรียกว่า ผิงหยางกงจู่ และภายหลังมีตำแหน่งเป็นผิงหยางจ่างกงจู่ (จากเรื่อง 大漢賢后衛子夫)

สำหรับพระปนัดดาหญิงในองค์จักรพรรดิ ซึ่งเป็นธิดาในหวงซุน พระนัดดาหญิงในหวงไท่จื่อ จะเรียกอย่างให้เกียรติว่า หวงเจิงซุนหนี่ว์ (皇曾孫女) แต่ในสมัยฮั่นตะวันตกนั้นไม่ปรากฏธิดาในหวงซุน จึงไม่มีผู้ที่เป็นหวงเจิงซุนหนี่ว์ในสมัยนั้น

เวิงจู่ (翁主)
หรือเรียกได้อีกอย่างว่า หวังจู่ (王主) ตำแหน่งสำหรับพระธิดาในอ๋องครองแคว้น หากได้รับความโปรดปราน เวิงจู่สามารถมีอาณาเขตที่เรียกว่า ทังมู่อี้ (湯沐邑) ในครอบครองและรับรายได้จากภาษีของประชาชนในอาณาเขตได้เช่นเดียวกับกงจู่ เช่น เวิงจู่ หลิวเพียว พระธิดาในไต้อ๋อง หลิวเหิง (ต่อมาขึ้นเป็นฮั่นเหวินตี้) กับพระสนมโต้วจี (ต่อมาขึ้นเป็นโต้วฮองเฮา) เมื่อพระบิดาขึ้นเป็นจักรพรรดิจึงได้พระราชทานอำเภอก่วนเถาให้เป็นทังมู่อี้และแต่งตั้งขึ้นเป็นก่วนเถาจ่างกงจู่ ต่อมาเมื่ออภิเษกกับถังอี้โหว จึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ถังอี้จ่างกงจู่ และภายหลังมีตำแหน่งเป็นถังอี้ต้าจ่างกงจู่ (จากเรื่อง 美人心計)

กงหนี่ว์ (公女)
หรือเรียกได้อีกอย่างว่า หนี่ว์กงจื่อ (女公子) ทั้งสองเป็นคำเรียกที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์ฉิน ซึ่งในสมัยฮั่นตะวันตกใช้สำหรับเรียกธิดาในหวังจื่อโหวและบุตรีในเลี่ยโหวอย่างให้เกียรติ เช่น จางเยียนกงหนี่ว์ บุตรีในเซวียนผิงโหว จางอ๋าว กับองค์หญิงหลู่เยวี๋ยน พระนัดดาหญิงในฮั่นเกาจู่ ภายหลังอภิเษกกับจักรพรรดิฮั่นฮุ่ยตี้ซึ่งมีฐานะเป็นน้าชาย และขึ้นเป็นเซี่ยวฮุ่ยจางฮองเฮา (จากเรื่อง 美人心計)

จวิน (君)
ตำแหน่งบรรดาศักดิ์สำหรับสตรีในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ศักดิ์เทียบเท่าเลี่ยโหวเหมือนกับกงจู่ และมีอำนาจในการเป็นเจ้าของอาณาเขตหรือทังมู่อี้และรับรายได้จากภาษีของประชาชนในอาณาเขตได้เช่นเดียวกัน ตำแหน่งจวินนั้นใช้สำหรับแต่งตั้งให้กับพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาขององค์จักพรรดิที่ไม่สามารถมีตำแหน่งเป็นกงจู่ได้ เช่น เป็นพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาต่างบิดากับองค์จักรพรรดิ หรือในกรณีที่จักรพรรดิองค์ปัจจุบันไม่ได้เป็นพระโอรสในจักรพรรดิองค์ก่อนๆ และไม่ได้เป็นพระนัดดาในสายขององค์รัชทายาท แต่มีฐานะตั้งแต่พระนัดดาในสายของอ๋องครองแคว้นลงไป พระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาของจักรพรรดิจึงไม่สามารถมีตำแหน่งเป็นกงจู่ได้ แต่จะได้รับแต่งตั้งตำแหน่งจวินแทน นอกจากนี้บางครั้งก็มีการแต่งตั้งตำแหน่งจวินให้กับสตรีซึ่งมีฐานะเป็นพระญาติฝ่ายนอกของจักรพรรดิด้วยเช่นกัน
เช่น ซิวเฉิงจวิน จินสู พระธิดาของเซี่ยวจิ่งหวังฮองเฮากับจินหวังซุน สวามีคนแรกซึ่งเสียชีวิตไปก่อนที่พระนางจะเข้าถวายตัวเป็นพระสนมขององค์รัชทายาท และได้ขึ้นเป็นฮองเฮาในฮั่นจิ่งตี้ในภายหลัง ซิวเฉิงจวินจึงมีฐานะเป็นพระเชษฐภคินีต่างบิดากับฮั่นอู่ตี้ (จากเรื่อง 大漢天子)

จบหมดแล้วค่ะ สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกของจีนเป็นราชวงศ์แรกๆ ของจีน แต่ข้อมูลตำแหน่งต่างๆ นี่เยอะสุดๆ เลยค่ะ เป็นราชวงศ์ที่เริ่มระเบียบใหม่ๆ อะไรหลายอย่างอย่างเป็นทางการ ทั้งการแต่งตั้งตำแหน่งอ๋องให้พระโอรส แต่งตั้งตำแหน่งกงจู่ให้พระธิดา หรือแม้แต่การคัดเลือกสตรีเข้าวังก็เริ่มมาจากสมัยฮั่นตะวันตกทั้งนั้น ก็หวังว่าเพื่อนๆ จะเข้าใจตำแหน่งต่างๆ ของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเพิ่มมากขึ้นจากกระทู้นี้นะคะ ถ้ามีข้อสงสัยหรือข้อผิดพลาดอะไรถามได้บอกได้เลยค่ะ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบนะคะ

รายชื่อซีรีย์จีนที่ใช้ภาพในการประกอบเนื้อหากระทู้

《大漢天子》 The Prince of Han Dynasty ฮั่นอู่ตี้ วีรบุรุษเจ้าบัลลังก์ (2001, 2005-2006)
《王昭君 2007版》 Wang Zhao Jun หวังเจาจวิน หญิงงามผู้พลิกแผ่นดิน (2007)
《母儀天下》 Mu Yi Tian Xia : The Queens (2008)
《美人心計》 Schemes of a Beauty จอมนางชิงบัลลังก์ (2010)
《大漢賢后衛子夫》 The Virtuous Queen of Han จอมนางบัลลังก์ฮั่น (2014)
《大漢情緣之雲中歌》 Song in the Clouds : Love YunGe from the Desert อวิ๋นจงเกอ บทเพลงกลางเมฆา (2015)

อย่าลืมจัดเก็บเป็นกระทู้โปรดด้วยนะคะ ถ้าชอบกรุณาโหวตเป็นกำลังใจด้วยนะคะ

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
ทิมมี่ ทิมมี่'s profile


โพสท์โดย: ทิมมี่ ทิมมี่
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
44 VOTES (4/5 จาก 11 คน)
VOTED: ginger bread, makhamdong, ท่านฮั่ว แม่ทัพฮั่วชวี่ปิ้ง, Berry GL, ริเชริว, หนูชอบแดกโคยยยยยยยยย, กุ้งฝอย, cutiebarbie, ท่านจอมพลขวัญใจมหาชน
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เปิดค่าชดเชยที่ช่อง 3 จ่ายให้พนักงานเพิ่งรู้ว่าเมียเป็นชายแต่งหญิง..ทำเอาหนุ่มอินโดฯ ถึงกับช็อกส่องปฏิกิริยารุนแรง "ไก่-ตูน" หลังพนักงานช่องดังเจอมรสุมตกงานระนาวอัลคาทราซ หนึ่งในคุกที่โหดร้ายที่สุดในโลก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเลิกจ้างพนักงาน 154 คน หลังช่อง 3 ปรับโครงสร้างลดบุคลากร 30%น้องไบรท์ สรยุทธ มุดใต้โต๊ะจัดรายการ หลังเจอเหตุแผ่นดินไหวระหว่างออกอากาศสุดอลังการ! จัดงานศw "รถ" ใช้เงินกว่า 150,000 บาท มีผู้ร่วมงาน 1,500 คน (มีคลิป)เปิดยอดกฐิน 400,000 บาท ทริปน้ำไม่อาบ บริจาคอย่างมากมาย ทำบุญได้ชื่อเสียง แต่ชาวบ้านกลับได้รับผลกระทบเลขเด็ด เลขมาเเรง เลขดัง "รวมหวยเด็ดสำนักดัง vol.15" งวดวันที่ 1 ธันวาคม 2567เพจดัง เเฉ พนักงานบ่น ออเดอร์ล้นของค้างในคลังเพียบ ‼️ เหตุค่ายดังปรับลดพนักงาน, ลดเงินเดือน เจ้าหน้าที่ไม่พอคำทำนายจากโนสตราดามุส ในปี 2568: สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหนุ่มเกาหลีใต้หัวใส ขุนตัวเองให้อ้วนหวังเลี่ยงทหาร สุดท้ายไม่รอด เจอคุก 1 ปี 🙂‍↔️
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เกมแล้วหลวงพี่ !! ตำรวจรวบพระเสพไอซ์ สติเเตกปล่อยโฮ ตัวสั่น ถึงกับยืนไม่ไหว 🙂‍↔️เจ้าหญิงวิกตอเรีย หลุยส์ ชีวิตของบุตรสาวเพียงคนเดียว ของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2เปิดยอดกฐิน 400,000 บาท ทริปน้ำไม่อาบ บริจาคอย่างมากมาย ทำบุญได้ชื่อเสียง แต่ชาวบ้านกลับได้รับผลกระทบเปิดค่าชดเชยที่ช่อง 3 จ่ายให้พนักงานเลิกจ้างพนักงาน 154 คน หลังช่อง 3 ปรับโครงสร้างลดบุคลากร 30%
Rosé @ i-D UK November 2024(วันวาน) พิ้งกี้ สาวิกา @ นิตยสาร แฟชั่น แพร ปีที่ 3 ฉบับที่ 29 เมษายน 2538รัก..นายแบบเวียดนามฉลามเอส ศุภ สง่าวรวงศ์ 2
กระทู้อื่นๆในบอร์ด เกย์
Maybe หนุ่มหล่อ งานดี หุ่นแซ่บ กล้ามแน่น ขวัญใจสาวๆ บนโลกออนไลน์เอริค Werewolf หนุ่มกล้ามโต ลีลาเด็ด เป้าตุง เซ็กซี่ ยั่วยวน ไม่ธรรมดาออสก้า ธนัช Oscarland นายแบบ เน็ตไอดอล หนุ่มหล่อ หุ่นแน่น ผิวเนียนลูกบาส bas nattpol หนุ่มหล่อ หน้าใส ดาวทวิต เป้าตุง ลีลาเด็ด สุดแซ่บ
ตั้งกระทู้ใหม่