ตำนานรักโลงคู่ วัดหัวลำโพง | ตำนานคำสัตย์ สาบานรักข้ามเพศ
เพียงชั่วข้ามคืนเหตุการณ์นี้ได้เลือนหายไปความทรงจำของคนไทย ก่อนที่ถูกนำกลับมาย้ำเตือนอีกครั้งในอีก 22 ปีต่อมา ในรูปแบบของบทเพลง
บทเพลง “สีดา” กล่าวถึงความรักที่มีต่อกันอย่างลึกซึ้งระหว่างชาย 2 คน แต่สุดท้ายกลับต้องจบลงด้วยการกระทำอัตวินิตบาตกรรมของคนทั้งคู่ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความซาบซึ้ง และทำให้ “แจ้” ดนุพล แก้วกาญจน์ ตัดสินใจหยิบยกเรื่องราวนี้มอบให้ครูน้อย สุรพล โทณะวณิก ช่วยถ่ายทอดเป็นบทเพลงในปี 2532
“สีดา” เป็นเรื่องราวจากชีวิตจริงเมื่อ ปี 2510 ของสาวประเภทสองที่ชื่อ ประโนตย์ วิเศษแพทย์ แต่บางส่วนของเรื่องราวที่ผู้แต่งจำเป็นต้องดัดแปลงไป ทำให้มีบางเสี้ยวของเหตุการณ์ต่างไปจากความเป็นจริง
“สีดา” ในบทเพลง หมายถึง นางเอกนาฏศิลป์โขนของกรมศิลปากรเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน หากแต่ชีวิตจริง ประโนตย์ วิเศษแพทย์ กลับแทบไม่เคยออกแสดงในบทบาทนี้และสร้างชื่อเสียงให้กับกรมศิลปากรเลย
แต่สิ่งที่ทำให้ประโนตย์โดดเด่นมากที่สุดในยุคนั้น ก็คือความสวย // สุทิน ทับทิมทอง รุ่นพี่ที่สนิทสนมกับประโนตย์ เล่าว่า ปัจจุบันความสวยของสาวประเภทสอง เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่สำหรับเมื่อ 35 ปีก่อน ประโนตย์สวยเกินกว่าผู้หญิงบางคน และไม่มีสาวประเภท 2 คนใดเทียบได้
ปัจจุบันมีหลักฐานและภาพถ่ายของประโนตย์เหลืออยู่ไม่มากนัก // ประโนตย์ เกิดเมื่อปี 2481 เป็นบุตรของนายยงค์ และหม่อมหลวงหญิง บุญนาค วิเศษแพทย์ ซึ่งครอบครัวมีฐานะดี
ประโนตย์มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน และด้วยความที่เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของบ้าน จึงเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ประโนตย์เติบโตขึ้นท่ามกลางการถูกรุมล้อมด้วยพี่น้องที่เป็นผู้หญิงทั้งสี่ และค่อย ๆ ซึบซับความอ่อนหวานเรียบร้อยแบบผู้หญิงของคนรอบข้างไว้อย่างไม่รู้ตัว
หลังเรียนจบระดับประถมที่โรงเรียนใกล้บ้าน ย่านซอยสวนพลู ประมาณปี 2492 ด้วยความสนใจในการแสดงตั้งแต่เยาว์วัย และการสนับสนุนของผู้เป็นแม่ ประโนตย์จึงตัดสินใจสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์
โรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร หรือ วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งต่อมาทำให้ประโนตย์เป็นที่รู้จักในชื่อของ “สีดา” แล้ว ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้เขาสามารถแสดงบุคลิกที่เบี่ยงเบนไปจากเพศที่แท้จริงของตนเองได้อย่างอิสระเสรี
หน้าตาที่คมคาย จมูกโด่งเป็นสัน ในครั้งแรกประโนตย์ถูกเลือกให้ฝึกฝนเป็น “พระ” ตัวแสดงสำคัญที่ต้องมีการคัดสรรอย่างพิถีพิถันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
แต่บุคลิกท่าทางเรียบร้อยนุ่มนวล ที่ซึมซับจากบุคคลรอบข้างมาตั้งแต่วัยเด็ก ต่อมาครูผู้สอนจึงเปลี่ยนให้ประโนตย์ ฝึกฝนเป็น “ตัวนาง”
การสวมบทบาทสตรีเพศ และ ความอ่อนหวานงดงามของศิลปะ เป็นส่วนส่งเสริมให้ร่างกายและจิตใจของประโนตย์ เปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว
ไพฑูรย์ ศราคนี เพื่อนร่วมชั้นที่สนิทสนมกับประโนตย์ เล่าว่า " ขณะนั้นเป็นช่วงหลังภาวะสงคราม ซึ่งนาฏศิลป์โขนกำลังอยู่ในภาวะทรุดโทรม กรมศิลปากรไม่มีการฝึกหัดศิลปินโขนคนใหม่เพิ่มเติมทำให้เกิดการขาดแคลน" ต่อมาทางราชการจึงมีคำสั่งให้โรงเรียนนาฏศิลป์เร่งฝึกหัดนักเรียนเป็นศิลปินโขน เพื่อร่วมออกแสดงในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งมีนักเรียนโขนในรุ่นเพียงไม่กี่คน ที่มีโอกาสออกแสดงร่วมกับทางโรงเรียน ซึ่งไพฑูรย์และประโนตย์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
การออกแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ร่วมกับทางโรงเรียน ถือเป็นการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยงวันละ 8 บาท แต่นั่นไม่สำคัญสำหรับประโนตย์ เท่ากับการที่สามารถแต่งตัวเป็นผู้หญิงได้ตามอย่างที่ใจปรารถนา เพราะขณะนั้นสภาพสังคมไทยยังไม่ยอมรับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ
แต่โอกาสได้ออกแสดงที่มีไม่มากนัก ประโนตย์ในวัย 14 ปี จึงมักลักลอบหนีออกไปแสดงโขนกับบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนนาฏศิลป์ขณะนั้นไม่อนุญาตอย่างเด็ดขาด รวมทั้งเริ่มคบหากับเพื่อนต่างโรงเรียนที่มีลักษณะเดียวกัน และทำให้ชีวิตในโรงเรียนนาฏศิลป์ของประโนตย์สิ้นสุดลงในเวลาเพียง 3 ปี
ประโนตย์ออกจากโรงเรียนนาฏศิลป์กลางคันในปี 2495 ประโนตย์มีอิสระเสรีมากขึ้นและยังคงใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในแวดวงของนาฏศิลป์โขน โดยร่วมกับเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน ใช้วิชานาฏศิลป์ที่ติดตัวมารับแสดงโขนตามงานการกุศลต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้สร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นที่รู้จักในนามของ “สีดา”
“สีดา” คือ นางในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ ที่มีความงดงามอย่างมาก
ความงดงามของนางสีดาทำให้พระรามปักใจรัก ทศกัณฐ์ต้องลุ่มหลง หมู่ยักษาต่างเข่นฆ่ากัน เพื่อแย่งชิงตัวนางสีดา และกลายเป็นชนวนหนึ่งของสงครามอันยาวนานระหว่างพระรามและทศกัณฐ์
แม้ระยะเวลาเพียง 3 ปีในโรงเรียนนาฏศิลป์ ไม่อาจทำให้ท่วงท่าการร่ายรำของประโนตย์งดงามมากนัก แต่ความสวยของประโนตย์ ที่สามารถถ่ายทอดความงดงามของนางสีดา และทำให้ผู้ชมรู้สึกเคลิบเคลิ้มไปจิตนาการการแสดง อย่างยากที่จะหาผู้ใดในขณะนั้นเทียบได้
ช่วงเวลานี้เองที่ครูน้อย หรือสุรพล โทณวณิก ได้มีโอกาสชมการแสดงของประโนตย์ และความสวยของเธอที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำ จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของบทเพลง “สีดา” ในอีก 22 ปีต่อมา
แต่ภาพของหญิงสาวที่งดงาม สามารถตรึงผู้ชมได้เฉพาะบนเวทีเท่านั้น เพราะหลังจากการแสดงจบลง ประโนตย์ต้องสลับคราบความเป็นหญิง และจำต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติตามสรีระร่างกายของตน เพราะสภาพสังคมไทยในขณะนั้น ยังไม่ยอมรับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ
นอกเหนือไปจากการแสดงโขน เวลาส่วนใหญ่ของประโนตย์หมดไปกับการเที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูงตามสวนสาธารณะ อย่างเช่น สะพานพุทธ ที่เกือบทุกเย็นจะเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาสาวประเภทสองในยุคนั้น
แต่สถานที่ที่ประโนตย์สามารถแสดงความเป็นหญิงได้อย่างเปิดเผยมากที่สุด ก็คือ บ้าน ผิดกับเพื่อนหลายคนในกลุ่มเดียวกัน เพราะเธอโชคดีที่มีแม่ที่เข้าใจในตัวเธอมากที่สุด ดังนั้นบ้านพักของประโนตย์ในซอยสวนพลู จึงไม่เคยว่างเว้นจากการเยี่ยมเยียนของเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน
บริเวณที่เคยเป็นบ้านพักของประโนตย์ แต่เวลาที่ล่วงเลยมา ถึง 35 ปี ทำให้ปัจจุบันแทบจะไม่มีร่องรอยใดหลงเหลืออยู่
นอกจากเรื่องราวซึ่งบอกเล่าว่า ที่นี่เคยเป็นทั้งศูนย์กลางของบรรดาเพื่อนฝูง เป็นบ้านที่ประโนตย์ร่วมอยู่กินกับคนที่เธอรักมากที่สุด และเธอได้เลือกจะทิ้งลมหายใจเฮือกสุดท้ายไว้ที่นี่
ฉายา “นางงาม 50 มงกุฎ”
ความงามของ ปราโนตย์ วิเศษแพทย์ นี้เป็นที่โด่งดังมากในหมู่กะเทยในยุคนั้น หลังออกจากการเป็นนักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ เธอเริ่มเดินสายประกวด … นับครั้งไม่ถ้วน ลงเวทีไหนเป็นต้องชนะเวทีนั้น เรียกว่า “สวยไร้คู่แข่ง - สวยไม่ปรานีปราศรัย” จนบรรดากะเทยร่วมรุ่นถึงกับข่มขู่เวทีประกวดสาวงามประเภทสอง ในยุคนั้นว่า
“ถ้าเวทีไหนมีปราโนตย์ นางโนตย์ อีโนตย์ (แล้วแต่จะเรียก) เข้าประกวด คนอื่นจะไม่ยอมลงประกวดด้วย”
ในแวดวงสาวงามประเภทสอง มีการตั้งฉายาให้ ปราโนตย์ วิเศษแพทย์ หรือ “สีดา” ว่า “นางงาม 50 มงกุฎ” การสวยแบบไร้คู่แข่ง ลึกๆ แล้วสำหรับเธอเริ่มไม่สนุกกับการประกวดสักเท่าใด ประกอบกับข่าวที่เพื่อนนางงามไปเที่ยวข่มขู่ตามเวทีต่างๆ ทำให้เธอตัดสินใจ “แขวน” ตำแหน่งสาวงามประเภทสอง ตั้งแต่บัดนั้น … เธอร้างเวทีไปหลายปี จนในปีหนึ่งมีงานใหญ่ ที่สำคัญการประกวดในเวทีนั้นมีเงินสดเป็นรางวัลถึง 500 บาท นอกเหนือจากมงกุฎ ขันน้ำ พานรอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการประกวดนางงาม “แอน” ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ คนนี้แหละที่เป็นคนคะยั้นคะยอเพื่อนรุ่นน้องให้ลงประกวดอีกสักครั้ง ทั้งๆ ที่ “โนต” ยืนยันว่า เธออายุมากแล้ว !!
ครั้งนั้น … นับเป็นการประกวดครั้งสุดท้ายสำหรับปราโนตย์ วิเศษแพทย์ การจัดงานในคราวนั้นได้สร้างเวทีปิดทางลงท่าน้ำที่จะข้ามไปยังวัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งนั้นเธอคว้าตำแหน่ง “ชนะเลิศ” มาอีกจนได้
คืนนั้น … ชายหนุ่มรูปงาม ผิวคล้ำ คมเข้มคนหนึ่งได้ปรากฏขึ้น เขาชื่อ “สมบูรณ์” เรียกกันในกลุ่มว่า “บูรณ์” เขาเข้ามาขอทำความรู้จักกับ “สีดา” โดยผ่านมาทาง “แอน” ทวีศักดิ์ เมื่อเธอนำความไปแจ้งแก่นางงาม “สีดา” เธอไม่ได้แสดงความรังเกียจเดียดฉันท์แต่อย่างใด หลังจากที่ทำความรู้จักอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งคู่คบหาและอยู่กินกันนานถึง 8 ปีเต็ม
ปีแรก ปราโนตย์ ไปที่บ้านของสมบูรณ์บ้าง บูรณ์มาค้างที่บ้านสีดาบ้าง และในปีที่ 2 สมบูรณ์ก็ย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ที่บ้านในซอยสวนพลูของปราโนตย์ ความรักของทั้งคู่ในหลายปีแรกก็ดูจะราบรื่นและดูดดื่มกันดี มีเพียงประการเดียวคือ ต่างฝ่ายต่างแสดงอาการหึงหวงซึ่งกันและกัน ในระยะหลังความหอมหวานในชีวิตก็เริ่มจืดจางและหมดลงในที่สุด ความหึงหวงถูกแปรเปลี่ยนเป็นการกระแหนะกระแหน ด่าทอ ตบตี ลงไม้ลงมือกัน บ่อยครั้งที่สมบูรณ์ต้องออกจากบ้านสวนพลูกลางดึกเพื่อกลับไปนอนที่บ้านตัวเอง ในปลายปีสุดท้าย ฝ่ายชายเริ่มมีผู้หญิงคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงแท้ๆ ไม่ใช่ผู้หญิงในร่างชายอย่างปราโนต
ที่สุดแห่งรักคือการจากพราก … ไม่ว่า “จากเป็น” หรือ “จากตาย” !
“จากเป็น” หนนี้ บูรณ์ตัดสินใจออกจากบ้านของปราโนตที่ซอยสวนพลูโดยที่ไม่ได้บอกใคร ปราโนตใช้เวลาหลายเดือนในการตามหาคนรัก ที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น ทุกหนแห่งที่คิดว่าจะเจอเขา แต่ก็คว้าน้ำเหลวทุกครั้งถึงแม้ว่าปราโนตย์ จะพาสมบูรณ์มาอยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่พี่สาวและคนในครอบครัวของเขากลับไม่ค่อยรู้เรื่องราวและที่มาที่ไปของผู้ชายคนนี้มากนัก ทั้งๆ ที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกันมานานถึง 7 ปีเต็ม
ความชอกช้ำ สะเทือนใจของ “รักจำพราก” ในครั้งนั้น ปราโนตมีเพียง บุหรี่ และเหล้าเป็นเพื่อน สูบ และดื่มตลอดเวลา ตกกลางคืนก็ออกเที่ยวเตร่ (ชนิดหามรุ่งหามค่ำอย่างไร้จุดหมาย) เพื่อให้ผ่านพ้นค่ำคืนแห่งความเหงาและปวดร้าว เธอใช้เวลาอยู่กับภาวะโศกเศร้าเสียใจนี้นานถึง 2 ปีเต็ม จนพบผู้ชายคนใหม่ที่เข้ามาเยียวยาหัวใจเธออีกครั้ง
ในคืนหนึ่งขณะที่ “แอน” ทวีศักดิ์ และปราโนตกลับจากงานเลี้ยง แอนตั้งใจโบกรถแท็กซี่เพื่อไปส่งสีดาที่บ้านก่อนจะเลยไปยังบ้านแอนซึ่งอยู่ในซอยสวนพลูเช่นเดียวกัน ช่างบังเอิญว่ามีรถแท็กซี่คันหนึ่งจอดอยู่บริเวณนั้นพอดี แอนจึงเข้าไปหมายจะต่อรองราคา และทันทีที่เธอเห็นหน้าโชเฟอร์เท่านั้นแหละ ราคาไม่ต้องต่อกันแล้ว !! เท่าไหร่เท่ากัน เพราะหน้าตาของคนขับแท็กซี่คันนั้น หล่อราวกับ “พระเอกหนัง” เลยทีเดียว แอนนั่งหน้าข้างคนขับ ส่วนสีดาเมามายไม่ได้สติกึ่งนอนกึ่งนั่งอยู่ทางเบาะหลัง ตลอดเส้นทางสู่ซอยสวนพลู โชเฟอร์หนุ่มถูก “แอน” ทวีศักดิ์ เกี้ยวพาราสี แทะโลมอยู่เป็นระยะ … หลังจากส่งโนตที่บ้านแล้ว คืนนั้น … โชเฟอร์หนุ่มกับแอนได้มุ่งสู่ปลายทางฉิมพลีด้วยกัน … หลังเสร็จกามกิจ เขาให้สัญญาว่า จะมาหาใหม่ในวันรุ่งขึ้น !!
บ่ายวันรุ่งขึ้นเขามาหาแอนที่บ้านตามที่สัญญาไว้ และบอกว่า วันนี้ … ไม่ขับรถ 1 วัน ดังนั้น “นางกอ” ทั้งหลายจึงมารวมพลชุมนุมกันที่บ้าน ทำอาหารกินกันและดื่มกันบ้างตามสมควร และในช่วงหนึ่ง โชเฟอร์หนุ่มคนนั้นขอคุยกับ “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นการส่วนตัว !!
“พี่อย่าโกรธผมนะครับ … ผมอยากจะบอกพี่ว่า ผมชอบสีดา ชอบมาตั้งแต่แรกเห็นที่เธอนอนฟุบอยู่ที่เบาะหลัง” …
นั่นทำให้ “แอน” ทวีศักดิ์ นึกถึงบางประโยคของเขาบนแท็กซี่เมื่อคืน …
“เพื่อนพี่สวยนะครับ ขนาดเมาไม่ได้สติยังสวยขนาดนี้ ถ้าไม่เมาจะสวยขนาดไหนน้อ” …
เขายอมรับว่า เหตุผลที่เขามาในวันนี้เพื่อจะบอก “บางอย่างในใจ” ที่เขารู้สึกกับสีดาตั้งแต่แรกเห็น “แอน” ทวีศักดิ์ไม่ได้โกรธ แต่พร้อมจะสนับสนุน ถ้าเขาจะรู้สึกดีกับ “โนต” เพื่อนรุ่นน้องของเธอ … บางทีผู้ชายคนนี้อาจจะเป็นความหวังใหม่ที่พา “โนต” ให้เป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง …
โชเฟอร์หนุ่มคนนี้ชื่อ “ชีพ” สมชาติ แก้วจินดา ไฟปรารถนาของเขาและปราโนต วิเศษแพทย์ เริ่มต้นตั้งแต่คืนนั้น … และชีพย้ายตัวเองมาอยู่ที่บ้านของโนตในซอยสวนพลูในเวลาต่อมา โดยยึดอาชีพขับรถแท็กซี่เหมือนเดิมและรายได้ทั้งหมด เขาให้โนตเป็นคนเก็บ เพื่อเลี่ยงคำครหาว่า เขามาเกาะกะเทยกิน !! เนื่องจากครอบครัวของโนตเป็นผู้มีฐานะ ทั้งคู่อยู่กันนานหลายปี เรื่องเดิมๆ ก็เกิดขึ้นมาอีก
ปราโนตได้ซุกซ่อนความเจ้าอารมณ์ , ปากคอจัดจ้าน ขี้งอน และมองโลกในแง่ลบกับตัวเองและคนรักอย่างสุดๆ อยู่ทุกอณูของลมหายใจ … คิดตลอดเวลาว่า เธอไม่ใช่ “หญิงแท้” เพราะสรีระของร่างกายในยุคนั้นยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เธอกังวลว่าความสุขที่เธอมอบแก่ชีพนั้นจะไม่เต็มที่อย่างที่เขาต้องการและพึงใจ เหตุนี้ … ทุกครั้งที่ชีพกลับบ้านช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ แม้ชีพจะแจงให้ฟังว่าไปส่งผู้โดยสารไกล แต่โนตก็หารับฟังแต่ประการใดไม่
ต่อมาปราโนตได้แก้ปัญหานี้ด้วยการให้ชีพเลิกขับรถแท๊กซี่รับจ้าง โดยซื้อรถสองแถว (มือสอง) ให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารในละแวกใกล้ๆ กับซอยสวนพลู เพื่อจะไม่เป็นข้ออ้างอีก โดย “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นคนที่ไปติดต่อเสียเงินค่าหัวคิวรถให้ เส้นทางเดินรถจะวิ่งจาก ตลาดบางรัก (ฝั่งตรงข้าม) เข้าซอยเซนต์หลุยส์ และไปสิ้นสุดที่ตรอกจันทร์ สะพาน 3
คนขับรถหน้าใหม่ รูปหล่อคนนี้ สุภาพ เรียบร้อย พูดจาดีกลายเป็นที่หมายปองของสาวแท้ - สาวเทียมที่ต้องเดินทางโดยสารไปบนถนนเส้นนี้ ในแต่ละวันมีทั้งแม่ค้าและสาวๆ ซื้อมาลัยมาคล้องกระจกหน้ารถและแย่งกันนั่งข้างคนขับอยู่เป็นประจำ พอข่าวทำนองนี้ถึงหูของโนตเท่านั้นแหละ เธอก็เดินสายออกอาละวาดทุกคนที่มายุ่งกับชีพ ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม จนมีเหตุต้องขึ้นโรงพักหลายครั้ง คนในละแวกนั้นต่างทราบถึงชื่อเสียงในทางหึงหวงของกะเทยนางนี้เป็นอย่างดี เธอแก้ปัญหาเรื่อง “ผู้หญิงอื่น” ที่มาติดพันชีพด้วยการนั่งเป็นตุ๊กตาหน้ารถ ออกและกลับบ้านพร้อมกัน นั่งอยู่หลายเดือนจนชีพเริ่มอึดอัด โดยชีพได้มาขอร้องให้ “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นหนังหน้าในการคอยไกล่เกลี่ยเรื่องทั้งหมด และยอมกลับไปอยู่ที่บ้านตามเดิม
ปราโนตยอมรับที่จะให้ชีพออกไปขับรถส่งผู้โดยสารเพียงลำพังอีกครั้ง แต่ต้องแลกด้วยคำสาบาน “ ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน" ถ้าสีดาตายก่อน ชีพจะต้องตายตามไป แต่ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะต้องตายตามไป”
นี่คือถ้อยความที่ทั้งคู่ให้กันไว้ที่วัดพระแก้วและศาลหลักเมือง โดยมี “แอน” เป็นพยานที่ได้ยินกับหูในคราวนั้น หลังสัตย์สาบานในครั้งนั้น ทั้งคู่ก็ยังทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนเดิม โดยชีพขอแยกตัวไปเช่าบ้านอยู่ที่ซอยเซนต์หลุยส์ จนเมื่อปราโนตระแคะระคายว่ามีผู้หญิงมาติดพันจึงชวนญาติชื่อ วรสิทธิ์ คชสุนทรไปบ้านเช่าของชีพ เธอไปด้วยอาการเมามายจึงคุยกันไม่รู้เรื่อง เรื่องนี้เองที่ตอกย้ำความเชื่อของเธอจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้น โนตจึงทำเรื่องให้ ชีพ ครอบครัว และเพื่อนฝูง ตกใจเป็นระยะๆ ด้วยการกินยาตายอยู่หลายครั้ง ในวาระที่ใกล้ๆ กัน เธอผ่านการล้างท้องมาถึง 7 ครั้ง ร่างกายผ่ายผอม ทรุดโทรม จนไม่หลงเหลือเค้าความสวยของ “สีดา” และนักล่ารางวัลบนเวทีนางงามสาวประเภทสอง อีกเลย
หัวค่ำของคืนวันที่ 2 พฤษภาคม 2510 ฝนตกหนัก!!
บรรดาพี่สาวทั้งหลายของโนตยังไม่กลับบ้าน พี่สาวคนหนึ่งไปบ้านน้องสาวในละแวกนั้นและติดฝนอยู่ ขณะที่น้องสาวอีกคนที่เป็นนักเรียนพยาบาลศิริราชติดเวรอยู่ที่โรงพยาบาล ชีพยังติดคิวรถอยู่ที่ตลาดบางรัก ใครจะคิดว่า คืนนั้นโนตจะกินยาหมายจะปลิดชีวิตตนเองเป็นครั้งที่ 8 หลังจากฝนเริ่มซา พี่ๆ น้องๆ เริ่มกลับบ้าน น้องสาวคนที่เป็นนักเรียนพยาบาลต้องเดินผ่านห้องของโนตก่อนจะถึงห้องตัวเอง เธอเห็นห้องนอนของโนตแง้มบานประตูไว้ เธอมองลอดเข้าไปในห้อง ภาพที่เห็นนั้นทำให้เธอถึงกับผงะ โนตนอนน้ำลายฟูมปากอยู่บนเตียง ลมหายใจระทวยเต็มที เธอวิ่งออกจากบ้านไปเรียกให้เพื่อนบ้านมาช่วยอุ้มโนตไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน และส่งคนไปบอกชีพที่คิวรถ “แอน” ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ มา
ทราบความจากชีพเมื่อตอน 6 โมงเช้าและเริ่มกระจายข่าวสู่เพื่อนฝูง บางส่วนไปรับศพที่โรงพยาบาลตอน 5 โมงเช้า บางคนที่ไม่ว่างก็ตรงไปรดน้ำศพที่วัดหัวลำโพงในตอนเย็น
“ผมจะตามพี่ไป พี่รอผมด้วย” ชีพพร่ำพูดแต่ประโยคนี้พลางร้องไห้กอดศพของโนตแน่น ประหนึ่งความเสียใจที่พระรามพร่ำพรรณนาเมื่อเห็นศพนางสีดาที่นางเบญจกายแปลงลอยทวนน้ำในบทโขน “นางลอย” ไม่มีผิด ชีพไม่ยอมแม้จะให้เอาศพโนตใส่โลงจนเพื่อนๆ ต้องปลอบและยกเหตุผลนานัปการมาแจกแจงจนยอม
เย็นวันเดียวกันนั้นเอง ชีพได้แสดงเจตจำนงที่จะบวชอุทิศส่วนกุศลให้กับโนต หลังบวช ชีพมานั่งฟังสวดศพทุกคืน ตามกำหนด ศพของสีดาจะตั้งบำเพ็ญกุศลเพียง 3 คืน แล้วเก็บศพไว้ 100 วันจึงเผา ไม่มีใครทราบว่าชีพคิดอะไรอยู่ในใจ
หลังสวดศพครบ 3 คืน วันรุ่งขึ้นหลังเลี้ยงพระเพลก็เก็บศพไว้ เพื่อนๆ มาส่งเณรชีพที่กุฎิ และบอกว่า ถ้าเณรสบายใจก็บวชต่อไปเรื่อยๆ เขาไม่ได้ตอบความนี้ว่ากระไร จนเมื่อเพื่อนฝูงลากลับ 6 โมงเย็นวันนั้น เณรชีพก็ไปพบหลวงตาเจ้าอาวาสและบอกว่าอยากสึก!! หลวงตาได้ตรวจดูดวงชะตาแล้ว พบว่า “ดวงขาด ชะตาถึงฆาต” จึงพยายามจะทัดทานเพื่อให้ชีพผ่านพ้นชะตาในระยะนี้ไปก่อน แต่สุดท้ายเมื่อชีพยืนยันหนักแน่น หลวงตาจึงต้องดำเนินตามประสงค์ และได้ให้โอวาทเพื่อเตือนสติไป
ใครจะคิดว่า ชีพได้ตัดสินใจเตรียมการทุกอย่างให้กับชีวิตในเวลาต่อมา!! เริ่มต้นจากการกลับไปที่ห้องของโนตที่บ้านสวนพลู เพื่อจับต้องและมองข้าวของทุกชิ้นเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นได้นำพัดลม โทรทัศน์ที่เป็นสมบัติร่วมกันของเขากับโนตไปจำนำ ได้เงินมาหลายพันบาท และนำเงินจำนวนนี้ไปให้แก่คนในบ้าน จากนั้นได้เขียนจดหมายสั่งเสียว่า “ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวนี้เพื่อทำศพของเขา ขอให้พี่ๆ ช่วยเป็นภาระในการเลี้ยงดูแม่ ส่วนศพของเขาให้เอาไว้ที่วัดหัวลำโพงคู่กับศพของโนต” ชีพกินยาฆ่าแมลงและเสียชีวิตเมื่อตอนเที่ยงวันที่ 15 ในเดือน - ปีเดียวกัน
วัดหัวลำโพง คือสถานที่บำเพ็ญกุศลให้กับดวงวิญญาญที่จากไปของประโนตย์ แต่หลังจากที่งานศพเสร็จสิ้นลงเพียงไม่กี่วัน อีกหนึ่งชีวิตที่ผูกพันธ์ก็ติดตามไป เหมือนดั่งคำสาบานที่ได้ให้ไว้ต่อกัน
ภาพของร่างไร้วิญญาณในโลงศพที่ตั้งเคียงคู่กัน ณ วัดหัวลำโพง เพื่อรอการฌาปนกิจ ได้สร้างความโศกสลดให้กับคนทั่วไป และยุติความแคลงใจของคนรอบข้างที่มีต่อความรักของทั้งสองได้อย่างสิ้นเชิง
หากยังมีขีวิตอยู่ ปัจจุบันประโนตย์จะมีอายุ 64 ปี ความงดงามของนางสีดาที่สามารถครอบครองหัวใจใครต่อใครในโลกละคร แต่ความสวยของประโนตย์ กลับไม่สามารถฉุดรั้งคนที่เธอรักมากที่สุดเพียงคนเดียวไว้ได้
เพราะในโลกชีวิตจริง
ความสวยเพียงอย่างเดียวนั้น
ไม่เพียงพอสำหรับความรัก
นี่อาจเป็นสิ่งที่เธอมองข้ามไป
ทำให้ชีวิตของเธอต้องมาถึงทางตัน
และมีบทสุดท้าย คือ ความตาย