นิทานเวตาลเรื่องที่ 9 การเลือกคู่ของเจ้าหญิงอนงครตี
เรื่องที่ 9 การเลือกคู่ของเจ้าหญิงอนงครตี
เมื่อเวตาลหนีไปแล้วพระเจ้าตริวิกรรมเสนก็ต้องเสด็จกลับไปยังต้นอโศกที่ร่างเวตาลแขวนอยู่ ทรงดึงมันลงมาพาดไว้ที่บ่า เสด็จกลับไปตามทางเดินมุ่งหน้าไปยังสุสานผีดิบที่โยคีเฒ่าคอยอยู่ ขณะที่ดำเนินไปเงียบ ๆ เวตาลก็เอ่ยขึ้นว่า "จะรีบเสด็จไปไย ที่หมายยังอยู่อีกไกล ฟังนิทานกันดีกว่า ข้าจะเล่าถวายเอง โปรดทรงสดับเถิด"
ในแคว้นอวันตี ยังมีพระนครแห่งหนึ่งซึ่งทวยเทพได้ลงมาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยต้นอายุของโลก มีความไพศาลสุดประมาณดังประกายรัศมีของพระศิวะผู้เป็นเจ้าเมืองนี้เป็นที่รื่นรมย์ และมีความเจริญยิ่งนัก เฉกเช่นพระกายของพระมหาเทพ(นามหนึ่งของพระศิวะ) ที่ประดับด้วยสังวาลงูที่แผ่พังพาน และมีอังคารเป็นเครื่องลูบไล้(มีร่างกายชโลมด้วยเถ้ากระดูก เป็นลักษณะของพระศิวะในตอนที่ลงมาใช้ป่าช้าเป็นที่พำนัก) เมืองนี้มีชื่อว่าปัทมาวดีในกฤตยุค(ยุคที่ ๑ ของโลก เป็นสมัยที่คนมีศีลธรรมเต็มร้อย) ชื่อโภควดีในสมัยเตรตายุค(หรือไตรดายุค เป็นยุคที่ ๒ ของโลก เมื่อศีลธรรมของคนลดลงไป ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน) ชื่อหิรัณยวดีในสมัยทวาปรยุค(ยุคที่ ๓ ของโลก เมื่อศีลธรรมของคนลดลงไป ๒ ใน ๔) และในยุคปัจจุบันคือกลียุค(ยุคสุดท้ายของโลก ศีลธรรมของคนลดลงไป ๓ ส่วนใน ๔ ส่วน) นี้มีชื่อว่าอุชชยินี เมืองนี้มีพระราชาปกครองชื่อ พระเจ้าวีรเทพ และมีมเหสีชื่อ ปัทมาวดี ทั้งสองพระองค์นี้เสพสุขอยู่ด้วยกันช้านานแต่หาได้มีโอรสไม่ พระราชาจึงพาพระมเหสีเสด็จไปยังฝั่งของสระมันทากินี(ชื่อสระแห่งหนึ่งในป่าหิมพานต์) และกระทำความเพียรอันอุกฤษฏ์เพื่อให้พระเจ้าโปรดปรานประทานโอรสให้ และหลังจากที่ทรงบำเพ็ญตบะมาช้านานแล้วทำพิธีสระสนานและสวดมนตร์สรรเสริญพระเป็นเจ้าแล้ว วันหนึ่งก็มีเสียงลอยมาจากสวรรค์ เป็นเสียงแห่งองค์พระภูเตศวร(เป็นฉายาของพระศิวะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือภูตพรายทั้งหลาย) ผู้ทรงยินดีในตบะกรรมที่กษัตริย์ทั้งสองบำเพ็ญถวายว่า
"ดูก่อนราชะ ข้าจะให้พรแก่เจ้า นับแต่นี้ไปเจ้าจะมีโอรสองค์หนึ่ง มีความแกล้วกล้าสามารถเป็นยอดชายในแผ่นดิน จะได้เป็นหัวหน้าครอบครัวต่อไป และเจ้าจักได้ธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีสิริโฉมงามหาใครเปรียบมิได้ เป็นความงามที่แม้นางอัปสรสวรรค์ก็ยังได้อาย"
เมื่อพระราชาวีรเทพได้ฟังเสียงสวรรค์บันลือเช่นนี้ ทรงปลาบปลื้มพระทัยเป็นอันมาก พาพระมเหสีเสด็จกลับพระนคร เมื่อภารกิจได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว
จากนั้นพระองค์ก็ได้พระโอรสองค์แรกมีนามว่า ศูรเทพ และพระนางปัทมาวดีก็ประสูติธิดาองค์หนึ่ง พระบิดาจึงตั้งชื่อนางว่า อนงครตี(อนงค์ (กามเทพ)+รติ(ความยินดี, ความรัก) อันมีความหมายว่า "เป็นที่ยินดีของกามเทพ" และเมื่อนางเจริญวัยขึ้น พระราชาผู้เป็นชนกก็เตรียมการหาคู่ให้นางเพื่อจะได้ชายที่เหมาะสมเป็นคู่ครอง โดยสั่งให้ศิลปินเดินทางไปวาดภาพพระราชาทุกองค์บนพื้นพิภพมาให้นางเลือกดู ปรากฏว่านางมิได้พอใจรูปชายใดเลย พระราชาจึงพูดกับนางด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยนว่า "ลูกเอ๋ย พ่อไม่สามารถจะหาชายคนใดที่คู่ควรกับลูกได้อีกแล้ว เราคงจะต้องประกาศเชิญพระราชาและเจ้าชายทั้งหลายมาให้ลูกเลือกเสียแล้ว การได้พบตัวจริงของชายอาจทำให้ลูกตัดสินได้ง่ายเข้าก็ได้"
เจ้าหญิงได้ฟังพระบิดากล่าวดังนั้นจึงทูลตอบว่า "เพคะ ท่านพ่อ ลูกกระดากใจที่จะเลือกสามีเองยิ่งนัก แต่จะอย่างไรก็ตาม ลูกจะแต่งงานกับผู้ชายรูปงามที่มีความรู้ในศิลปศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ลูกไม่ปรารถนาชายอื่นนอกจากที่ว่านี้เป็นอันขาด"
เมื่อพระราชาได้ทราบความประสงค์ของเจ้าหญิงอนงครตีเช่นนั้น ก็ส่งคนไปสืบเสาะหาบุรุษที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ในที่สุดก็ได้ชายหนุ่มจากแคว้นเดกข่านมาสี่คน เป็นชายงาม กล้าหาญและรู้ศิลปศาสตร์ ชายเหล่านี้เดินทางมาก็เพราะได้ทราบข่าวโจษจันกันนั่นเอง ชายทั้งสี่ได้รับการต้อนรับจากพระราชาเป็นอย่างดี และต่างคนต่างก็แสดงวัตถุประสงค์ที่จะให้นางเลือกตนเป็นคู่ด้วยกันทั้งนั้น
คนที่หนึ่งกล่าวว่า "ตัวข้าเป็นศูทร ชื่อ ปัญจาผุฏฏิกะ ข้ามีความสามารถในการตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างงามวันละห้าชุด ชุดที่หนึ่งข้าถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า ชุดที่สองให้แก่พราหมณ์ ชุดที่สามข้าเอาไว้ใช้เอง ชุดที่ใส่กะจะให้แก่ภรรยาของข้า ซึ่งก็ควรจะเป็นเจ้าหญิงองค์นี้ ชุดที่ห้าสำหรับขายเพื่อเอางินมาซื้ออาหารและสุรากิน ข้ามีศิลปะอย่างนี้จึงสมควรที่จะได้นางเป็นภรรยาใช่หรือไม่"
เมื่อชายคนที่หนึ่งกล่าวจบลง ชายคนที่สองก็ประกาศตนว่า "ข้าเป็นไวศยะมีชื่อว่า ภาษชยะ ข้ารู้ภาษาสัตว์และนกทั้งปวง จงยกเจ้าหญิงให้แก่ข้าเถิด"
ชายคนที่สองกล่าวจบลง คนที่สามก็กล่าวขึ้นว่า "ข้าเป็นกษัตริย์มีชื่อว่า ขัฑคธร ได้รับการยกย่องจากคนทั้งหลายว่าเป็นผู้ทรงพลัง ไม่มีใครอีกแล้วในโลกนี้ที่จะรู้ศิลปะในการใช้ดาบยิ่งไปกว่าข้า โอ ราชะ โปรดทรงยกนางให้แก่ข้าเถิด"
เมื่อได้ฟังขายคนที่สามว่าดังนั้น ชายคนที่สี่ก็ลุกขึ้นประกาศว่า "ข้าเป็นพราหมณ์ มีชื่อว่า ชีวทัตต์ และข้ามีความรู้ศิลปะอันเลิศคือ สามารถช่วยคนและสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมีชีวิตได้ ดังนั้นขอให้พระธิดาคนงามแต่งงานกับข้าเถอะ เพราะข้าเป็นผู้ที่มีศิลปะเลิศกว่าใครทั้งหมด"
เมื่อได้ฟังบุรุษทั้งสี่อ้างสรรคุณของตัวจบลง พระราชาวีรเทพพร้อมด้วยเจ้าหญิงราชธิดาซึ่งประทับอยู่เคียงข้าง ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า คนทั้งสี่นั้นต่างก็มีรูปงามราวเทพ และนุ่งห่มด้วยพัสตราภรณ์อันงามยิ่งเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าใครดีกว่าใคร จึงต่างนิ่งอึ้งอยู่
เวตาลเมื่อได้เล่านิทานจบลงแล้ว ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสน ด้วยการคะยั้นคะยอให้ตอบปัญหา โดยกล่าวว่า "โอ มหาราช โปรดบอกข้าหน่อยได้ไหมว่า ชายคนใดในสี่คนนี้สมควรจะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงอนงครตี"
พระราชาได้ฟังก็ตรัสแก่เวตาลว่า
"อ้ายเจ้าเล่ห์ เจ้าพยายามหลอกล่อให้ข้าพูดหลายครั้งหลายหนแล้ว ข้าก็เผลอตอบปัญหาของเจ้าทุกที เพราะมันมีแง่มีมุมที่ตัดสินได้ยาก ข้าจึงต้องแสดงความคิดให้เจ้าฟัง แต่ว่าคราวนี้ข้าเห็นว่าปัญหาของเจ้ามันแสดงความโง่เซอะของเจ้าแท้ ๆ เจ้าไม่เห็นหรือว่าหญิงในวรรณะใดก็ต้องหาสามีในวรรณะใดก็ต้องหาสามีในวรรณะนั้นเท่านั้น นางกษัตริย์ก็ต้องแต่งงานกับกษัตริย์ด้วยกัน จะไปแต่งกับชายวรรณะอื่นได้อย่างไร ก็ชายทั้งสี่นั้นต่างก็อยู่ในวรรณะแตกต่างกัน ชายตัดเสื้ออยู่ในวรรณะศูทร ชายคนที่รู้ภาษาสัตว์เป็นคนในวรรณะไวศยะ ชายคนที่ไร้มนตร์ช่วยชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นเป็นวรรณะพราหมณ์ คงเหลืออยู่คนเดียวคือ ขัฑคธร ที่เป็นวรรณะกษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนที่จะแต่งงานกับเจ้าหญิงได้ก็ต้องเป็นขัฑคธรเท่านั้น"
"โอ ราชะ" เวตาลกล่าวอย่างโล่งอก "ขอบพระทัยที่ช่วยตอบปัญหาของข้า แต่เห็นทีพระองค์จะต้องติดตามข้าอีกแล้วพระเจ้าข้า" กล่าวจบเวตาลก็ผละจากบ่าของพระราชา และหายไปในความมืดของราตรี พระราชาต้องเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่า ความท้อถอยหมดอาลัยหาได้มีอยู่ในบุคคลผู้วีระไม่ เพราะจิตใจของเขาไม่เคยเปิดเพื่อความอ่อนแอเลย
นิทานเวตาลตอนที่ 9 นี้ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการแบ่งวรรณะได้อย่างชัดเจน เกิดอยู่ในวรรณะใดก็ต้องแต่งงานกับคนในวรรณะเดียวกันเท่านั้น หากแต่งงานกับคนที่ไม่ได้อยู่ในวรรณะเดียวกัน ลูกที่เกิดมาจะกลายเป็น "จัณฑาล" ไม่ได้ยอมรับจากคนในสังคม
แต่เดิมปัญหาการแต่งงานข้ามวรรณะนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลอินเดียได้ออกกฎหมายในการยกเลิกระบบวรรณะมานานหลายปีแล้ว และยังพยายามส่งเสริมให้หนุ่มสาวต่างวรรณะกันแต่งงานกันมากขึ้น โดยคู่รักหนุ่มสาวต่างวรรณะกันเมื่อแต่งงานกันจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวนหนึ่ง
แต่ระบบวรรณะที่มีมานานหลายพันปีในประเทศอินเดียนี้ได้ฝังรากหยั่งลึกเข้าไปในชีวิตประจำวันจากรุ่นสู่รุ่น จึงเป็นการยากที่จะทำให้คนรุ่นก่อนยอมรับการแต่งงานข้าววรรณะได้ จึงมีข่าวเกี่ยวกับการฆาตกรรมหญิงสาวจากวรรณะสูงที่ไปแต่งงานกับชายหนุ่มที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่าออกมาบ่อยๆ เช่น กรณีของ ภาวนา ยาธาพที่ถูกพ่อ-แม่ของเธอฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ หลังลูกสาวลอบแต่งงานกับชายหนุ่มต่างวรรณะ แล้วนำศพไปเผาต่างเมืองอำพรางคดี
ข่าวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 เว็บไซต์ hindustantimes รายงานว่า ตำรวจอินเดียได้จับกุม นายจักโมฮาน และนางสาวิตรี ยาธาพ คู่สามี-ภรรยาที่ก่อเหตุสั
ภาวนา ยาธาพกับอภิเษก เซธ
ภาวนา ยาธาพ วัย 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยเดลีได้ลักลอบคบหาและแต่งงานกั
จากนั้นนายจักโมฮานและนางสาวิตรีได้แบกศพลูกสาวที่เพิ่งแต่งงานได้ 3 วัน ขึ้นรถแท็กซี่ไปยังต่างเมือง และเมื่อไปถึงก็ได้อ้างกับญาติว่าลูกสาวถูกงูกัดและเสียชีวิตระหว่างทาง ก่อนที่พวกเขาจะเผาร่างของเธอที่เมืองนั้น แล้วนั่งรถกลับบ้านตัวเอง
ในเวลาต่อมา นายอภิเษกได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจหลังไม่สามารถติดต่อภรรยาได้ อีกทั้งญาติคนหนึ่งของเธอยังบอกแก่เขาว่าภรรยาของเขาได้เสียชีวิตและทำการเผาศพไปแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าจับกุมนายจักโมฮานและนางสาวิตรีเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 โดยทั้งคู่ยังคงอ้างว่าลูกสาวถูกงูกัดตาย ก่อนจะยอมรับสารภาพในที่สุดระหว่างการสอบสวน
เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการจะทำให้ความเชื่อเรื่องวรรณะนั้นหมดไปจากสังคมอินเดียนั้นยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนาน
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
ซ้ำขออภัยค่ะ