สงครามฝิ่น 2 ต้นแบบอำนาจที่มาจากกระบอกปืน
สงครามฝิ่นเกิดขึ้น 2 ครั้ง ระหว่างช่วง ค.ศ. 1834-1860
สมัยนั้นจีนทำการค้ากับชาติตะวันตกด้วยความระมัดระวัง และจำกัดขอบเขตค่อนข้างมาก โดยกำหนดเขตการค้าไว้ให้อยู่ในที่เดียวคือที่เมืองกวางโจว (เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง) และสร้างระบบผูกขาดการค้าโดยพ่อค้าจีนเรียกว่า ก้งหอง หรือ กงหาง ในภาษาแมนดาริน (จีนกลาง) และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ชาติตะวันตกอย่าง อังกฤษไม่พอใจ จนนำมาสู่ชนวนสงครามฝิ่น
เพราะฝ่ายอังกฤษขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลให้แก่จีน เนื่องจากนำเข้าใบชาจากจีนจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถขายสินค้าให้แก่จีนได้อย่างเสรี กระทั่งทศวรรษ 1820 บริษัทของอังกฤษพบสินค้าใหม่ซึ่งทำกำไรให้งดงาม คือ ฝิ่น ซึ่งปลูกในอินเดีย (อาณานิคมของอังกฤษ) และอังกฤษก็คิดจะใช้ฝิ่นแก้ไขการเสียเปรียบดุลการค้าของอังกฤษที่มีต่อจีน
ซึ่งก็ได้ผล ฝิ่นทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับอังกฤษ จนทำให้รัฐบาลชิงของจีนต้องกังวล เพราะนอกจากกลายเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้แก่อังกฤษแล้ว พิษภัยของการเสพติดฝิ่นของคนจีนในทุกชนชั้นก็ขยายเป็นวงกว้าง และสร้างปัญหาสังคมให้กับจีนอย่างมากมาย จนในปีค.ศ.1838 รัฐบาลชิงจึงประกาศห้ามนำเข้าฝิ่น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิตทั้งผู้ค้าและผู้เสพ
แต่ฝิ่นยังคงหลั่งไหลเข้าแผ่นดินจีน ทำรายได้มหาศาลให้ประเทศตะวันตก (ซึ่งทุกชาติ หันมาเอาอย่างอังกฤษ คือนำฝิ่นไปขายในจีน แต่อังกฤษยังถือครองสัดส่วนมากที่สุดในการเป็นผู้ค้าฝิ่นรายใหญ่) จวบจนเดือนมีนาคม ค.ศ.1839 จีนยึดฝิ่นของพ่อค้าอังกฤษจากท่าเรือในกวางโจว อังกฤษขอคืน แต่ถูกปฏิเสธ ทั้งทางการจีนบังคับให้พ่อค้าอังกฤษลงนามในข้อตกลงไม่ค้าขายฝิ่น พ่อค้าอังกฤษปฏิเสธการลงนามนั้น
รัฐบาล ชิงทำหนังสือถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ถามว่ารัฐบาลอังกฤษห้ามค้าฝิ่นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์อย่างเด็ดขาด โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการค้าที่ผิดศีลธรรม แต่กลับส่งฝิ่นมาขายในตะวันออกไกล และทำกำไรมหาศาล ทำเช่นนี้หมายความว่าอย่างไร
แต่อังกฤษกลับตอบว่า การที่รัฐบาลชิงยึดทรัพย์สินของชาวอังกฤษเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม และขอสินค้าคืน โดยไม่ตอบสิ่งที่รัฐบาลชิงถาม ทำเป็นเหมือนไม่แยแสกระแสความไม่พอใจของรัฐบาลชิง จีนจึงตอบ โต้ด้วยการทำลายฤทธิ์ฝิ่นที่ยึดได้ก่อนทิ้งลงทะเล อังกฤษจึงถือเป็นข้ออ้างในการยกกองกำลังปิดล้อมชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง รวมถึงฮ่องกง
เมื่อรบกันผลปรากฏว่าจีนพ่ายแพ้ ต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิง 29 สิงหาคม ค.ศ. 1842 รัฐบาลจีนต้องชดใช้ค่าฝิ่นที่ถูกทำลาย จ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามให้แก่อังกฤษ และเปิดเมืองท่าชายทะเล 5 แห่ง ได้แก่ กวางโจว เซียะเหมิน ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงยกเกาะฮ่องกงและเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่โดยรอบเป็นเขตเช่าของอังกฤษ
โดยชาวอังกฤษและคนที่อยู่ใต้อาณัติสามารถอาศัยอยู่โดยได้รับสิทธิสภาพนอก อาณาเขต และต่อมาในปี 1844 ฝรั่งเศสและอเมริกาได้บีบบังคับให้จีนให้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอังกฤษ
สนธิสัญญานานกิงเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฉบับแรกที่มหาอำนาจตะวันตกทำ กับจีน สาระในสัญญามีผลทำให้ระบบการค้าผูกขาดแบบก้งหองถูกยกเลิก
การเปิดเมืองท่าในชายฝั่งภาคตะวันออก 5 เมือง พร้อมด้วยท่าเรือในเมืองเหล่านี้มีสถานะเป็นท่าเรือตามสนธิสัญญา มหา อำนาจตะวันตกเป็นผู้ประกอบการบรรทุกขนถ่ายสินค้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าภาระท่า เรือให้แก่รัฐบาลจีน อัตราภาษีนำเข้าอยู่ในอัตราคงที่และต่ำมาก ทั้งหมดนี้ทำให้จีนแทบไม่มีรายได้จากการค้ากับชาติตะวันตก ที่สำคัญ การนำเข้าสินค้าได้อย่างเสรีมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพื้นบ้านของจีนอย่าง รุนแรง
ผลกระทบของสนธิสัญญานานกิงที่จีนจำต้องลงนามเมื่อพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งแรก (ค.ศ.1834-1843) ในด้านสังคมที่ร้ายแรงที่สุด คือ อังกฤษบังคับให้จีนยอมรับว่าการค้าฝิ่นเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยถือว่าเป็นยารักษาโรคและทำได้โดยเสรี
ทำให้สังคมจีนอยู่ในสภาพอ่อนแอ เพราะประชากรจำนวนมากติดยาเสพติด นอกจากนี้สินค้าราคาถูกที่ผลิตจากเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมจากยุโรป หลั่งไหลเข้าจีน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอ และก่อให้เกิดปัญหาคนว่างงานจำนวนมหาศาล
สิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ชาวอังกฤษรวมถึงคนในอาณัติได้รับ ทำให้ชาติตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้าในประเทศจีนอย่างกว้างขวาง สภาพดังกล่าวนี้ "เหมาเจ๋อตง" อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน วิเคราะห์ว่าทำให้จีนตกอยู่ในสภาพ "กึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินา" อีกทั้งยังเป็นแหล่งซ่องสุมมิจฉาชีพและอาชญากร ทั้งนี้เพราะสามารถกระทำความผิดได้โดยไม่ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายจีน เพียงแต่หลบเข้าไปอยู่ในเขตที่อยู่ในอิทธิพลตะวันตก
สำหรับสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ.1856-1860) หรือรู้จักกันในชื่อ สงครามแอร์โรว์ (Arrow War) เป็นผลมาจากอังกฤษต้องการเจรจาแก้สนธิสัญญานานกิง เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์จากการค้ามากขึ้น ซึ่งจีนไม่ยอม ชนวนของสงครามมาจากเจ้าหน้าที่จีนยึดเรือแอร์โรว์ ซึ่งเป็นเรือของชาวจีนแต่จดทะเบียนเป็นเรืออังกฤษ และจับกุมลูกเรือซึ่งเป็นคนจีนทั้งหมด 12 คน ด้วยข้อกล่าวหากระทำการเป็นโจรสลัดและลักลอบขนสินค้าเข้าเมือง อังกฤษเรียกร้องให้จีนคืนเรือและปล่อยตัวลูกเรือทั้งหมด อ้างว่าเรือดังกล่าวชักธงอังกฤษ จึงควรได้รับการปกป้องตามสนธิสัญญานานกิงแต่จีนปฏิเสธ
ขณะเดียวกันบาทหลวงฝรั่งเศสถูกฆ่าตาย อังกฤษและฝรั่งเศสถือเป็นข้ออ้างยกกองเรือมาปิดล้อมเมืองกวางโจว มีรัสเซียและสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตร ทุกชาติตะวันตกที่ว่า ต่างเข้ามารุมกินโต๊ะจีนเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้า และหวังที่จะได้ดินแดนของจีนเป็น อาณานิคม และจีนก็ต้องพ่ายแพ้อีกครั้ง ต้องลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก ณ เมืองเทียนจินในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1858
ผลของสนธิสัญญาเทียนจิน ค.ศ.1842 ที่รัฐบาล ชิงจำยอมลงนามกับมหาอำนาจตะวันตก 4 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ทำให้จีนต้องเปิดเมืองท่าชายเพิ่มขึ้น 11 แห่ง ชายฝั่งตะวันออกถูกเปิดกว้างให้มหาอำนาจตะวันตกค้าขายได้อย่างเสรีภายใต้ระบบการค้าเมืองท่าตามสัญญา
โดยเสียภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ 2.5 มหาอำนาจตะวันตกทั้ง 4 ชาติ มีสิทธิจัดตั้งสถานกงสุลในนครหลวงปักกิ่ง และกองทัพเรือของชาติเหล่านี้สามารถผ่านเข้าออกแม่น้ำฮวงโหได้อย่างเสรี ชาวตะวันตกสามารถเดินทางเข้าไปยังตอนในของแผ่นดินจีนได้อย่างเสรี และจีนต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส อีกทั้งจ่ายค่าชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พ่อค้าอังกฤษ
ส่วนข้อตกลงปักกิ่ง ค.ศ.1860 ที่จีนทำกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ทำให้สัญญาเช่าพื้นที่ตอนใต้ของคาบสมุทรเกาลูน (ปัจจุบันคือถนน Boundary) ซึ่งอังกฤษลงนามขอเช่าจากจีนในเดือนมีนาคม 1860 สิ้นสุดลง และต้องยกพื้นที่บริเวณนี้ให้อยู่ในอาณัติของอังกฤษรวมกับเกาะฮ่องกง (รวมถึงเกาะ Stonecutters) เปิดเมืองเทียนจินให้เป็นเมืองท่าตามสัญญาเพิ่มอีก 1 เมือง จ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามเพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเทียนจิน
ในปี 1898 อังกฤษทำข้อตกลงปักกิ่งครั้งที่ 2 หลังรบชนะในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 โดยบังคับเช่าพื้นที่ทางตอนใต้ของลำน้ำเสิ่นเจิน (ปัจจุบันคือซินเจี้ย) ส่งผลให้อังกฤษได้ครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่กว่าเมื่อครั้งอังกฤษเข้ายึดครอง เมื่อชนะสงครามฝิ่นครั้งแรกเกือบสิบเท่า โดยพื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตเช่าของอังกฤษเป็นเวลา 99 ปี (ค.ศ.1898-1997)
สงคราม ฝิ่นในจีน คือหลักฐานในประวัติศาสตร์ที่บันทึกถึงการกระทำที่โหดร้ายจากฝ่ายที่ครอบ ครองอำนาจผ่านศาสตราวุธ ที่กระทำการปล้นชิงเพื่อสนองความต้องการของตนเอง โดยไม่สนใจหรือแยแสความเดือดร้อนของผู้อื่น
ผ่านมาร้อยปี ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ในบางชาติ ผู้มีอำนาจผ่านศาสตราวุธ ก็ยังใช้วิธีเช่นเดียวกับที่อังกฤษเคยใช้ฝิ่นทำให้ประชาชนของจีนอ่อนแอ ก่อนใช้กำลังเข้าหักหาญครอบครอง แต่ใช้ตัวกลางที่ต่างออกไป ไม่ได้ใช้ฝิ่นเช่นแต่ก่อน เพราะในชาติที่ว่านั้น ใช้วาทะกรรม “โกง” แบ่งแยกประชาชนในชาติออกเป็นสองฝ่าย โจมตีความสามัคคีภายในให้แตกแยกจนชาติอ่อนแอ แล้วค่อยแสดงตนเป็นอัศวินขี่ม้าขาวออกมาช่วย แต่แท้ที่จริงก็คือการใช้กำลังเข้ายึดครองเช่นเดียวกับที่อังกฤษทำกับจีน
สงครามฝิ่นทำให้จีนสูญเสียชีวิตประชาชนไปมากมาย สูญเสียทรัพย์สินประจำชาติไปตั้งเท่าไร สูญเสียในอธิปไตยในดินแดนของตัวเองอีกไม่น้อย
แล้วสงครามประชาธิปไตยในชาติเรา จะต้องสูญเสียอะไรบ้างเล่า..?
ใช่ต้องโดนคนบางกลุ่มปล้นสะดม โดยการแต่งตั้งพวกพ้องของตนเองใช่รึเปล่า
ใช่สูญเสียระบอบการปกครอง ที่ต้องโดนดัดแปลงจนพิกลพิการไปใช่หรือไม่
หรืออำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแท้จริงแล้วไม่ใช่อำนาจของประชาชน แต่เป็นอำนาจของคนที่ครอบครองอาวุธกระนั้นหรือ
หลังยุคสงครามฝิ่น ชาติจีนตกอยู่ใต้อำนาจชาติตะวันตก ที่บังคับให้เปิดเสรีการค้า และแย่งชิงดินแดนบางส่วนของจีนไปปกครองเอง ก็ได้ถือกำเนิดวีรบุรุษคนหนึ่งที่คนไทยน่าจะรู้จักเขาดีผ่านภาพยนต์ คนๆนี้ ชื่อ หวงเฟยหง
นายพระรอง