จริงหรือ? คนไทยติดโซเชียลเน็ตเวิร์ค-ออนไลน์ เฉลี่ย 7 ช.ม./วัน
ETDA เผยพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 2557 ของคนไทย ติดเน็ตงอมแงมใช้กันวันละกว่า 7 ชั่วโมง เน้นใช้คุยออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียเกือบ 80% แฉเช็ค แชร์ โชว์ส่งผลเสี่ยงต่อความปลอดภัยสูง แถมไม่ยอมติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสกว่าครึ่ง เพศที่สามมาแรงใช้เน็ตกระจาย
นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT กล่าวเปิดงานแถลงข่าวผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี ๒๕๕๗ พร้อมกล่าวชื่นชมสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ที่ให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ใช้และพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจากภาคประชาชนทุกกลุ่ม อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันผ่านโครงการ Smart Thailand พร้อมขอบคุณคนไทยทั้งประเทศที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีต่อการสำรวจในครั้งนี้
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2557 ที่จัดทำโดย ETDA ล่าสุดพบว่า อินเทอร์เน็ตได้เพิ่มบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยค่าเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้งานโดยเฉลี่ย 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 4.6 ชั่วโมงต่อวัน ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน หรือคนใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของวันเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังพบว่า “กลุ่มเพศที่สาม” มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงโดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 62.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ผู้คนมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตกันตลอดเวลาโดยในแต่ละช่วงเวลาจะมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในอุปกรณ์ต่างๆที่แตกต่างกันไป โดยสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้งานสูงเกือบทั้งวัน เฉลี่ยสูงถึง 6.6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนการใช้งาน “สมาร์ททีวี” ในยุคทีวีดิจิทัลระยะเริ่มต้น พบว่า 8.4% ของผู้ตอบมีการใช้อุปกรณ์นี้ และกลุ่มผู้ใช้งานมีการใช้งานเฉลี่ย 3.4 ชั่วโมงต่อวัน
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความบันเทิง และการติดต่อสื่อสารโดยกิจกรรมหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับหนึ่ง ใช้เพื่อการพูดคุยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 78.2%
อันดับสอง ใช้เพื่ออ่านข่าว/อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 57.6%
และอันดับสาม ใช้เพื่อค้นหาข้อมูล 56.5%
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ ใช้อินเทอร์เน็ตในกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูล โดยมีกิจกรรมหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับหนึ่ง ใช้เพื่อรับ-ส่งอีเมล์ 82.6%
อันดับสอง ใช้เพื่อค้นหาข้อมูล และอ่านข่าว/อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 73.3%
และอันดับสาม ใช้เพื่ออ่านข่าว/อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 63.8%
ข้อน่าสังเกตุจากการสำรวจครั้งนีคือ กลุ่มเพศที่สาม เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device) มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในหลายกิจกรรม ได้แก่ การใช้งานสังคมเครือข่ายออนไลน์ 85.6% , การอ่านติดตามข่าวสารและหนังสืออิเล็กทรอกนิกส์ 64.7% การซื้อขายสินค้าและบริการ 39.1% ในขณะที่ กลุ่มเพศหญิง เล่นเกมออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ 52.6%
ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือ “พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่สุ่มเสี่ยง” และ “พฤติกรรมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่สุ่มเสี่ยง”
ด้วยกระแสสังคมออนไลน์ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงจากการพูดคุยกันมาเป็นการเช็ค แชร์ และโชว์
โดย “เช็ค” คือการเช็คอินผ่าน Facebook เพื่อบอกให้คนในกลุ่มสนทนาออนไลน์รู้ว่าตอนนี้ตน ทำอะไรอยู่ที่ไหน
ส่วน “แชร์” คือการโพสต์หรือแชร์ภาพที่เป็นส่วนตัวในสถานะสาธารณะ เพื่อให้มีคนติดตามหรือเพื่อดึงดูดความสนใจจากโลกสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะตอนนี้ที่วัยรุ่นไทยชอบถ่ายรูปตัวเอง หรือที่ฮิตติดปากกันในขณะนี้ว่า เซลฟี่ (Selfie)
ส่วน “โชว์” คือการเซ็ตสถานภาพของตนเองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นสาธารณะ เพื่อที่ว่าใครที่สนใจจะเข้ามาเป็นเพื่อนกะตน ก็สามารถเห็นข้อมูลส่วนตัวได้ทุกคน
พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับตามองโดยมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาจจะติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ใช้งานจากการเช็ค แชร์ และโชว์ เพื่อหวังผลในทรัพย์สินเงินทองหรือชีวิต
พบว่า กิจกรรมดังกล่าวข้างต้น เป็น 3 กิจกรรมสุดฮิตในตอนนี้ โดยเฉพาะเพศที่สามจะมีสัดส่วนการทำกิจกรรมดังกล่าวสูงกว่าเพศชายและหญิง ในขณะที่คนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องของการแชร์ภาพ/ข้อความที่อาจจะไม่เหมาะสม โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งที่มาก่อน
ส่วนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่
พบว่า มีคนซื้อของผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ตพีซี เพียง 38.8% และมีคนทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพียง 29.8% เท่านั้น พฤติกรรมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ คนซื้อของแพง ชอบจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ส่วนคนซื้อของถูก ชอบโอนเงินผ่านธนาคารมากกว่า ในขณะที่คนชอบโอนเงินมูลค่ามากกว่า 50,000 บาท ทำธุรกรรมผ่านมือถือ โดยเข้าผ่านหน้าเว็บไซต์ของธนาคารมากกว่าการเข้าแอปพลิเคชัน พฤติกรรมเช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้บอกเลขที่บัตรเครดิตหรือเลขที่บัญชีธนาคารผ่านเว็บไซต์ที่ทำเลียนแบบ หรือที่เรียกว่า Phishing
ส่วนพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงจากการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เช่น การละเลยไม่ติดตั้งโปรแกรม Anti-virus มีคนตอบว่าไม่ทำ สูงถึง 51.1% ส่วนคนที่เลิกใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่แล้ว ไม่ล้างข้อมูลออกจากเครื่อง มีผู้ตอบ 37.1% และละเลยไม่กำหนดรหัสผ่านเข้าใช้งานเครื่องมีเพียง 25% เท่านั้น
“ETDA มีแผนจะสำรวจในลักษณะนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ให้ความร่วมมือกับการสำรวจของ ETDA และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีเช่นนี้อีกในการสำรวจครั้งต่อๆ ไปของ ETDA ส่วนผู้ที่สนใจรายงานฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ที่http://www.etda.or.th/internetuserprofile2014/” นางสุรางคณา วายุภาพ กล่าวสรุป