15 คำถามไขปริศนาโลก และความรู้รอบตัว ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน
สำหรับเรื่องราวในวันนี้มีสาระความรู้ดีๆมาฝากกันอีกเช่นเคย พบกับ “15 คำถามไขปริศนาโลก และความรู้รอบตัว ความรู้รอบโลก ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้รู้มาก่อน” มาดูกันนะครับ
1. ดวงอาทิตย์มีอายุเท่าไร?
เมื่อประมาณ 5,000 ล้านปีมาแล้ว ในจักรวาลที่ว่างเปล่าแห่งนี้ ได้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเริ่มรวมตัวกัน เป็นบ่อเกิดของพลังงานและแสงสว่าง เมื่อฝุ่นละอองเหล่านั้นรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ได้กลายเป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง และมีพลังงานอันมหาศาล และทั้งหมดนี้ก็คือจุดกำเนิดของดวงอาทิตย์ สำหรับคำถามที่ว่าดวงอาทิตย์มีอายุเท่าไรนั้น ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่จากการสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์ได้ระบุเอาไว้ว่า ดวงอาทิตย์ก็น่าจะมีอายุประมาณ 5,000 ล้านปี และนักวิทยาศาสตร์ยังได้คาดคะเนเอาไว้ว่า ตอนนี้ดวงอาทิตย์เปรียบเสมือนอยู่ในช่วงวัยกลางคน และเมื่อใดที่ดวงอาทิตย์ไม่ส่องแสงมายังโลกของเรา ก็จะทำให้เกิดภาวะที่หนาวเย็นจัด จนทำให้ทุกสรรพสิ่งในโลกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวลเพราะยังเหลือเวลาอีกตั้ง 5,000 ล้านปี
2. ในยามที่อากาศร้อนจัด ทำไมจึงมองเห็นน้ำคล้ายเจิ่งนองบนท้องถนน?
ในยามที่เราเดินทางไกลไปในสถานที่ ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด สายตาของเรามักจะมองเห็นคล้ายน้ำเจิ่งนองบนพื้นถนน แต่พอเราเดินเข้าไปใกล้ๆพื้นถนนดังกล่าวกลับแห้งสนิทไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียว ซึ่งนั่นเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดขึ้นจาก ปรากฏการณ์มิราจ (Mirage) ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสภาพอากาศบริเวณใกล้ๆพื้นถนนที่เรามองเห็น ร้อนกว่าอากาศที่อยู่สูงขึ้นไป และเมื่อแสงเดินทางผ่านบริเวณที่มีอากาศเย็นมายังบริเวณที่มีอากาศร้อน ก็จะทำให้เกิดการหักเหของแสง บิดเบือนสายตาของเรา จนทำให้เราเห็นเหมือนมีน้ำเจิ่งนองอยู่บนท้องถนนนั่นเอง
3. ยอดเขาอะไรที่สูงที่สุดในโลก?
ยอดเขาเอเวอเรสต์ (Everrest) ในเทือกเขาหิมาลัยได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก โดยมีความสูงถึง 8,848 เมตร และชื่อเดิมของยอดเขาเอเวอเรสต์ก็คือ ยอดเขา โชโมลังมา (Chomolungma) ซึ่งเป็นภาษาทิเบต แปลว่า เทพมารดาแห่งจักรวาล และยอดเขาแห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เอเวอเรสต์” ตามชื่อของนักสำรวจชาวอังกฤษ ที่มีชื่อว่า จอร์จ เอเวอเรสต์ ที่เป็นผู้บุกเบิกการสำรวจและเป็นผู้วัดความสูงของยอดเขาแห่งนี้เป็นคนแรก
4. ใครเป็นผู้สร้างคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก?
คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกสร้างขึ้นโดย ดร. จอห์น มอชเลย์ และ ดร. เจ.พี. เอคเกิร์ด ในปีค.ศ.1946 เพื่อใช้ในกองทัพสหรัฐอเมริกา มีชื่อเรียกว่า ENIAC เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่มีน้ำหนักมากถึง 30 ตัน มีขนาดใหญ่กว่ารถบรรทุกเลยทีเดียว แต่คอมพิวเตอร์เครื่องที่ว่านี้ ได้คำนวณผิดพลาดบ่อยครั้ง นักวิทยาศาสตร์จึงได้พัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นต่อมาชื่อ EDSAC และ EDVAC ซึ่งมีขนาดเล็กและเบากว่า แถมยังมีความผิดพลาดน้อย และคอมพิวเตอร์ยังได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปัจจุบัน
5. ทำไมใบไม้จึงร่วงในฤดูหนาว?
โดยธรรมชาติของต้นไม้แล้ว เมื่อได้รับแสงแดดก็จะมีการคายน้ำออกมาทางใบ แต่พอถึงช่วงฤดูหนาว ความชื้นในอากาศลดลง พื้นดินเริ่มแห้งแล้ง ปริมาณน้ำก็ลดน้อยลงไปด้วย ทำให้ต้นไม้ดูดซึมน้ำจากใต้ดินได้น้อยลง แต่ถึงกระนั้นต้นไม้ก็ยังคงคายน้ำในปริมาณที่เท่าเดิม เมื่อได้รับแสงแดด พูดง่ายๆก็คือใบไม้ทำหน้าคลายน้ำในปริมาณเท่าเดิม แต่ดูดซึมน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของลำต้นได้น้อยลง เพื่อการอยู่รอดตามธรรมชาติ ต้นไม้จึงปรับสภาพโดยการลดการคลายน้ำให้น้อยลง ด้วยการทิ้งใบหรือสลัดใบออกไป โดยการปิดท่อที่เป็นทางส่งน้ำและอาหารไปที่ใบ เมื่อใบไม้ขาดน้ำและสารอาหารหล่อเลี้ยงก็จะแห้งเฉาและหลุดร่วงไป เราจึงมักเรียกว่า “ฤดูใบไม้ร่วง” นั่นเอง
6. จริงหรือที่ว่า แมลงสามารถสื่อสารหรือคุยกันได้?
พฤติกรรมทางธรรมชาติของสัตว์อีกอย่างหนึ่งก็คือการสื่อสารที่มนุษย์อย่างเราไม่สามารถสื่อความหมายหรือเข้าใจได้ อย่างเช่นเมื่อผึ้งตัวหนึ่งบินไปพบเจอแหล่งน้ำหวาน มันจะทำการสื่อสารบอกพรรคพวกของมัน ให้รู้ถึงที่ตั้งของแหล่งน้ำหวานนั้น ด้วยการเต้นระบำในท่าต่างๆกัน เช่น ถ้าแหล่งน้ำหวานอยู่ในระยะไม่เกินกว่า 100 เมตร มันจะเต้นระบำเป็นรูปวงกลม แต่ถ้าแหล่งน้ำหวานอยู่ไกลกว่านั้น มันจะบินเป็นรูปเลข 8 หรือถ้ามันบินหมุนวนหลายๆรอบ ณ บริเวณจุดใดจุดหนึ่ง แสดงว่าแหล่งน้ำหวานอยู่ใกล้ๆนี่เอง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าพวกมันบินวนเพียงไม่กี่รอบแสดงว่าแหล่งน้ำหวานอยู่ไกลมาก และยังมีการเต้นระบำเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว เป็นการสื่อสารที่มีความหมายว่าแหล่งน้ำหวานที่พวกมันเจอ อยู่ไม่ไกลนั่นเอง
7. ไม้ขีดไฟทำมาจากอะไร?
ไม้ขีดไฟตามที่เราเห็นในท้องตลาดทั่วไปนั้น เป็นการนำก้านไม้ขนาดเล็กจุ่มลงในพาราฟิน เพื่อทำให้ลุกติดไฟได้ดี แล้วจุ่มปลายอีกด้านลงในส่วนผสมซึ่งประกอบด้วยกำมะถัน เพื่อทำให้เกิดเปลวไฟ และโปรแตสเซียมคลอเรตเพื่อให้ออกซิเจน ส่วนข้างกล่องจะฉาบฟอสฟอรัสแดงทั้งสองด้าน จะเห็นว่าเมื่อเรานำหัวไม้ขีดไปขีดที่ข้างกล่อง ฟอสฟอรัสแดงจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนทำให้เกิดความร้อนและเปลวไฟขึ้น ทำให้หัวไม้ขีดติดไฟนั่นเอง
8. ลมและพายุเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เมื่อแสงแดดส่องกระทบน้ำทะเล จะทำให้น้ำทะเลระเหยกลายเป็นไอ ลอยตัวสูงขึ้น อากาศบริเวณนั้นก็จะเป็นสภาพอากาศที่มีความกดอากาศต่ำ ทำให้อากาศที่อยู่บริเวณใกล้ๆที่มีความกดอากาศสูงกว่า ลอยเข้ามาแทนที่ ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศนั่นก็คือเกิดลมนั่นเอง และแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกของเราในแต่ละพื้นที่ก็มีปริมาณที่ไม่เท่ากัน ซึ่ง ณ บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรจะได้รับความร้อนมากกว่าที่อื่น ทำให้ความกดอากาศบริเวณนั้นสูงกว่าที่อื่นมาก ลมหรืออากาศจะเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงไปยังความกดอากาศต่ำ ถ้าสองพื้นที่มีความกดอากาศที่แตกต่างกันมากๆ ลมก็จะพัดแรงจนเกิดเป็นพายุได้
9. ใครเป็นผู้กำหนดเวลา?
ที่เราได้รู้จักในปัจจุบันนี้ ได้ถูกกำหนดไว้โดยชาวบาบิโลน ซึ่งชาวบาบิโลนได้สังเกตเห็นว่า ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะโคจรด้วยตำแหน่งและเวลาที่แน่นอนและแม่นยำ พวกเขาจึงได้กำหนดมาตรฐานของเวลาขึ้น ตามการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ โดย การกำหนดให้ 1 ปี มี 365 วัน 1 วันมี 24 ชั่วโมง 1 ชั่วโมงมี 60 นาที และ 1 นาทีมี 60 วินาที และเหตุผลที่ชาวบาบิโลนกำหนดตัวเลข 60 ก็เพราะว่าตัวเลข 60 เป็นจำนวนที่หารได้ลงตัวหลายจำนวนและการกำหนดเวลาด้วยแนวคิดเของชาวบาบิโลนนี้ ก็ได้ยึดถือกันมาจนปัจจุบัน
10. ใครเป็นผู้กำหนดปฏิทิน?
ปฏิทินที่เราเห็นในยุคปัจจุบัน ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งพวกก็ได้ชื่อว่าเป็นชาติแรกๆที่กำหนดปฏิทินขึ้นใช้เอง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่พวกเขาได้ค้นพบว่า ช่วงเวลาที่น้ำในแม่น้ำไนล์ไหลท่วมบ้านเมืองในทุกๆปี นั้น สัมพันธ์กับดวงจันทร์ พวกเขาจึงลองคำนวณเวลาจากดวงจันทร์ โดยเมื่อดวงจันทร์เต็มดวง 1 รอบ ก็จะเป็นเวลา 1 เดือน และเมื่อดวงจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง ก็นับเป็นเวลา 1 ปี
11. ทำไมดวงจันทร์จึงเดินตามเราไปทุกที่?
ในคืนข้างขึ้นที่มีพระจันทร์ส่องแสงนวลสว่าง ไม่ว่าเราจะขับรถหรือวิ่งไปทางไหน ไม่ว่าช้าหรือเร็ว เราก็จะเห็นพระจันทร์เคลื่อนตัวตามเราไปทุกที่ และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าดวงจันทร์อยู่ไกลจากเรามาก เหตุผลก็คือถ้าสิ่งที่อยู่ไกลๆเคลื่อนที่ เราก็แทบจะมองไม่เห็นการเคลื่อนที่นั้นๆ หรืออาจรู้สึกว่ามันเคลื่อนที่ช้ามาก โดยเฉพาะดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่มาก เราก็แทบไม่รู้สึกว่ามันเคลื่อนที่ผ่านเราไปเลย และด้วยเหตุผลนี้เอง เวลาที่เราเดินทางไปไหนในคืนที่มีพระจันทร์ เราจึงรู้สึกว่าดวงจันทร์เคลื่อนที่ตามเราตลอดเวลานั่นเอง
12. ทำไมภาพในกระจกจึงกลับซ้ายกลับขวา?
เมื่อเราทดลองกางหนังสือแล้วหันหน้าให้กระจก ก็จะเห็นว่าตัวหนังสือเกิดการกลับข้าง คือจะกลับซ้ายเป็นขวา และที่เป็นอย่างนั้น ก็ด้วยหลักของการสะท้อนของแสง นั่นเอง เหตุผลก็คือกระจกเป็นวัตถุที่สะท้อนแสงได้ดี เพราะมีผิวเรียบและมันวาวกว่าวัตถุอื่นๆ และเนื่องจากมุมตกกระทบ คือ มุมของแสงที่ตกกระทบบนกระจก เท่ากับมุมสะท้อน ก็คือ มุมที่แสงสะท้อนออกมาจากกระจก ทำให้เงามีลักษณะเหมือนกับสิ่งที่อยู่หน้ากระจกทุกประการ แต่สายตาของเราแยกไม่ได้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นแสงสะท้อน เราจึงเห็นเงาในกระจกกลับข้าง คือ จากซ้ายเป็นขวานั่นเอง
13. ปลาแซลมอนหาทางกลับไปยังถิ่นกำเนิดได้อย่างไร?
ตามธรรมชาติของปลาแซลมอนมักจะวางไข่ในแม่น้ำที่น้ำใสสะอาด และเมื่อวางไข่แล้วแม่ปลาก็จะตาย เมื่อลูกปลาออกจากไข่ก็จะว่ายกลับสู่ทะเลและใช้ชีวิตอยู่ในทะเลนานประมาณ 4 ปี และเมื่อถึงเวลาออกไข่ ปลาแซลมอนก็จะว่ายน้ำกลับมายังแม่น้ำที่มันเกิด เพื่อวางไข่ ซึ่งเราเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า การย้ายถิ่น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า ปลาแซลมอนกลับมายังแม่น้ำที่มันเกิดได้อย่างไร แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ได้สันนิษฐานว่า พวกมันจำกลิ่นของแม่น้ำที่มันเกิดได้ อีกกรณีหนึ่งก็คือพวกมันสามารถรับรู้ได้จากแสงของดวงอาทิตย์นั่นเอง
14. ทำไมศพที่ทำมัมมี่ ถึงไม่มีการเน่าเปื่อย?
การทำมัมมี่ก็คือกรรมวิธีในการเก็บรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย เป็นการนำผ้าฝ้ายชิ้นแคบๆยาวๆ ไปชุบน้ำยากันศพเน่าเปื่อย ที่ถูกผสมขึ้นตามสูตรโบราณของชาวอียิปต์ จากนั้นก็จะนำไปพันห่อหุ้มทั่วร่างของศพ เพียงเท่านี้ก็สามารถรักษาศพเอาไว้ รอวิญญาณเจ้าของได้นานนับร้อยปี เพราะชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่า เมื่อคนเราตายไปแล้ววิญญาณจะออกจากร่างกายแล้วเดินทางไปสู่ยมโลก เพื่อฟังคำตัดสินจากเทพเจ้า และสักวันหนึ่งวิญญาณจะกลับเข้าสู่ร่างอีกครั้ง ดังนั้นจึงต้องรักษาสภาพศพหรือรักษาร่างกายอันไร้วิญญาณเอาไว้ เพื่อรอวิญญาณกลับมาคืนสู่ร่าง หรือที่เรียกว่า “ร่างมัมมี่” นั่นเอง
15. ทำไมน้ำทะเลจึงเค็ม?
ถ้าเปรียบเทียบและคิดเป็นอัตราส่วนแล้ว ในน้ำทะเล 1 ลิตร จะมีเกลืออยู่ในปริมาณที่มากถึง 35 กรัม ส่วนข้อสงสัยที่ว่าเกลือพวกนี้ไปอยู่ในทะเลได้อย่างไร? บางทฤษฎีเชื่อว่าเมื่อก่อนโลกของเราเปรียบเสมือนลูกไฟลูกใหญ่ ต่อมาอุณหภูมิของโลกค่อยๆลดลงและมีไอน้ำเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ฝนตกหนัก และน้ำฝนในปริมาณที่มหาศาลนี้ ก็ได้ละลายเกลือที่อยู่ในดินและหินออกมา และไหลรวมสู่แอ่งใหญ่เกิดเป็นทะเลที่มีน้ำเค็ม แต่อีกหนึ่งเหตุผลเชื่อว่า ครั้งหนึ่งเกิดการระเบิดครั้งใหญ่บนโลกทำให้เกลือที่อยู่บนดินละลายลงไปอยู่ในทะเล ทำให้น้ำทะเลมีรสเค็มนั่นเอง