มิตร ชัยบัญชา กับ 45 ปีที่จากไปตลอดกาล
หุ่นขี้ผึ้งของมิตร ชัยบัญชา ณ มาดามทุสโซ ทำขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่พระเอกไทยในดวงใจของคนไทยรุ่นก่อน
8 ตุลาคม วันนี้เมื่อ 45 ปีก่อน บันเทิงไทยสูญเสีย พระเอกผู้ยิ่งใหญ่ คนหนึ่ง ... " มิตร ชัยบัญชา "
แม้จะไม่มีโอกาสได้ทันดูหนังสักเรื่องของนักแสดงท่านนี้ แต่จากการที่ได้ติดตามเรื่องราวของ
หนังไทย และ ความเคลื่อนไหวของวงการบันเทิงทั้งในอดีตและปัจจุบัน พอจะทำให้รู้ว่า
" มิตร ชัยบัญชา " ดังแค่ไหน และ เป็นที่รู้จักของแฟนหนังมากน้อยเพียงใด
แค่ข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน จากอุบัติเหตุตกจากเฮลิคอปเตอร์ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์
" อินทรีแดง " ก็สร้างอารมณ์ " ช็อค " ให้กับคนไทยทั้งประเทศ บ้างไม่เชื่อว่า " มิตร " ตายจริง
ถึงขนาด ต้อง " ยกร่างที่ไร้ลมหายใจ " ขึ้นมาให้ทุก ๆ คน ได้ประจักษ์ต่อสายตา
ขอนำเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของนักแสดงท่านนี้ ในวาระสำคัญ ... วันนี้
มายาชีวิต (รำลึกมิตร ชัยบัญชา)
" ถ้าไม่มีวันนั้นเกิดขึ้น วันที่ 8 ตุลา 2513 (วันที่มิตรเสียชีวิต) ก็จะไม่มี กรุง ศรีวิไล ไม่มี ไพโรจน์ ใจสิงห์ ไม่มี สรพงษ์ ชาตรี ไม่มี ยอดชาย
เมฆสุวรรณ ไม่มี รพินทร์ ไพรวัลย์ ไม่มี ขวัญชัย สุริยา ไม่มี นาท ภูวนัย "
กรุง ศรีวิไล กล่าวถึง มิตร ชัยบัญชา เนื่องจากหากมิตรไม่เสียชีวิต คงไม่มีพระเอกเหล่านี้เกิดตามมา
มิตร ชัยบัญชา ( เกิด 28 มกราคม พ.ศ. 2477 ) มีชื่อจริงว่า พิเชษฐ์ ชัยบัญชา (นามสกุลเดิม พุ่มเหม) เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลาย พ.ศ. 2499 เป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2500 - 2513 มีผลงานนับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่อง
ผลงานเรื่องแรกคือเรื่อง ชาติเสือ ผลงานเรื่องที่สองที่ออกฉายคือ จ้าวนักเลง หรืออินทรีแดง ทำให้มิตร ชัยบัญชามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก
ทำรายได้เกินล้านบาท มิตรมีผลงานแสดงที่โดดเด่นมากและหลากหลาย ทั้งบทบู๊ รักกุ๊กกิ๊ก รักรันทด ตลก เชยเด๋อด๋า หรือชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา
ที่มาของชื่อ " มิตร ชัยบัญชา " และหนัง " ชาติเสือ "
ในวันที่ จ่าเชษฐ์ ( ยศทางทหารอากาศ ในชณะนั้น ) ไปพบทีมงานผู้สร้าง ชาติเสือ ซึ่งมีการวางตัวเอกไว้หลายคนแต่ ประทีป โกมลภิส ผู้กำกับไม่ถูกใจเลยสักคน ต้องการดาราหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อพบแล้วทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ ก็พอใจบุคลิก ลักษณะ ของจ่าเชษฐ์ จึงได้รับจ่าเชษฐ์เข้าสู่วงการหนังไทย และตั้งชื่อให้ใหม่ โดยเมื่อประทีปตั้งคำถามให้จ่าเชษฐ์ตอบ
ข้อ 1 ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด
มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ"
ประทีปบอกว่า "เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า 'มิตร' ก็แล้วกัน" ( เป็นที่มาของชื่อ มิตร )
ข้อ 2 ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด
มิตรตอบอย่างไม่ลังเลว่า " ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" เพราะมิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา ( เป็นที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา" )
มิตร - เพชรา คู่ขวัญ ใน ชีวิตการแสดง
มิตรเป็นพระเอกดาวรุ่งที่โด่งดังโดยเฉพาะ เมื่อแสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรา เชาวราษฎร์นางเอกใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง
บันทึกรักของพิมพ์ฉวี เมื่อ พ.ศ. 2504 และทันทีที่ ภาพยนตร์ออกฉาย พ.ศ. 2505 มิตรเริ่มก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพระเอกอันดับ 1 ของประเทศ
และ ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ได้แสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรามากขึ้น จนกลายเป็นคู่ขวัญเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนโดยแสดงภาพยนตร์คู่กันมาก
ที่สุดตลอดมา รับบทคู่รักในภาพยนตร์ ประมาณ 200 เรื่อง จนแฟนภาพยนตร์ติดปากเรียกว่า มิตร - เพชรา
ลาออกจากอาชีพทหารอากาศ เพราะหนัง " ครุฑดำ "
เมื่อ พ.ศ. 2506 มิตรจำต้องลาออกจากอาชีพทหารอากาศ ขณะมียศพันจ่าอากาศโท เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ครุฑดำ โดย ชัยบัญชาภาพยนตร์ จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ที่เขาถูกกล่าวหาว่านำสัญลักษณ์ตราครุฑมาใช้อย่างไม่
เหมาะสม ครุฑดำ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเหยี่ยวดำ กอร์ปกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพอากาศขณะนั้นเห็นควรให้เลือกทำเพียงอาชีพเดียว
มิตร ชัยบัญชา กล่าวกับแฟนๆ ที่หน้าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงขณะยืนแจกภาพถ่ายในเครื่องแบบทหารอากาศ ในวันที่ " เหยี่ยวดำ " เข้าฉาย เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ว่า
" ... ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคย
ลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ ... "
อินทรีทอง ผลงานเรื่องสุดท้าย และ ... ฉากสุดท้าย
เมื่อ พ.ศ. 2513 มิตรมีโครงการภาพยนตร์ ที่แสดงนำและกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชุด "อินทรีแดง"
เรื่องที่ 6 ที่มิตรแสดงในบท โรม ฤทธิไกร หรือ อินทรีแดง ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม รับบทโดยครรชิต ขวัญประชา แสดงร่วมกับ
เพชรา เชาวราษฎร์ รับบทวาสนา
การถ่ายทำสำเร็จได้ด้วยดีจนถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 9.00 น.
ในเรื่องหลังจากอินทรีแดงปราบผู้ร้ายได้แล้ว จะต้องหนีตำรวจออกจากรังของคนร้าย โดยโหนบันไดเชือกจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีวาสนาเป็น
ผู้ขับ กล้องจะเก็บภาพเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีแดงบินลับหายไป
เพื่อความสมจริง และความไม่พร้อมของเสื้อผ้าของนักแสดงแทน มิตรตกลงว่าจะแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดการถ่ายทำไว้อย่าง
ละเอียด แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคที่มิตรไม่อาจรู้ได้ เพราะกำลังแสดงอยู่ ปรากฏว่าด้วยแรงกระตุกของเครื่องขณะบินขึ้น โดยที่
มิตรยังไม่ทันได้เหยียบบนบันได และต้องโหนตัวอยู่กับบันได โดยที่เครื่องไม่ได้ลงจอดเมื่อผ่านหน้ากล้องแล้ว
มิตร พยายามให้สัญญาณด้วยการตบเท้าเข้าหากัน ในขณะที่นักบินมองไม่เห็นความผิดปกติและการให้สัญญาณจากพื้นล่าง ยังบินสูงขึ้นต่อไป
และเกิดแรงเหวี่ยงในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ ทำให้มิตรไม่สามารถโหนตัวต่อไปได้ ตกลงมาจากเฮลิคอปเตอร์กระแทกกับพื้น จากความสูง
300 ฟุต เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีราชาด้วย เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวภายใน 5 นาที ... แต่สายเกินไป
จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่า เขาเสียชีวิตเพราะร่างกายแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซ.ม. ยาว 8 ซ.ม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น.
ก่อนวันลับ .. เหลือเพียงชื่อ " มิตร ชัยบัญชา "
9 ตุลาคม พ.ศ. 2513 หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับพาดหัวข้อข่าวการตายของเขา ซึ่งกระจายข่าวไปถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน หลังจากข่าว
การตายของเขา ว่ากันว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาถูกเคลื่อนย้ายออกจากบ้านทั้ง 3 หลัง ไม่มีเสื้อผ้าเหลือแม้แต่ชุดเดียวที่จะสวมใส่ให้ใหม่
ตอนรดน้ำศพ
ศพของมิตร ชัยบัญชา ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง หลังจากครบ 100 วัน พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดเมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 มีประชาชนหลั่งไหลเข้าไปร่วมงานจำนวนหลายหมื่นคน สำหรับการพระราชทานเพลิงศพย้ายจากวัดแคไปวัดเทพศิรินทร์ มีประชาชนหลั่งไหลไปร่วมงาน
กว่า 3 แสนคน จนกระทั่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าเป็นงานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์