8 อาการควรพบจิตแพทย์
แฟ้มภาพ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังเกิดเหตุความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ประชาชนจะมีอาการต่างๆ เช่น โกรธ หงุดหงิด วิตกกังวล เศร้า ร้องไห้ อาจมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม หรือเฉื่อยชาลงมากกว่าเดิม ครุ่นคิด คิดซ้ำๆ ถึงภาพและเหตุการณ์ความรุนแรงที่ได้พบ สับสน ไม่มีสมาธิ เงียบขึ้น หรือแยกตัว นอนไม่หลับ ฝันร้าย ฯลฯ อาการเหล่านี้ ถือเป็นปฏิกิริยาปกติที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ไม่ปกติ
"อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจมีอาการเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่ไม่ควรเกิน 1 เดือน ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าผู้ที่มีอาการเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิตและไม่ใช่ผู้อ่อนแอ แต่อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแสดงออกทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเท่านั้น หากได้รับการช่วยเหลือและดูแลทางด้านจิตใจอย่างเหมาะสม ส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัว และกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ มีเพียงประมาณร้อยละ 5-10 ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลและบำบัดรักษาจากจิตแพทย์ หรือทีมสุขภาพจิต" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะให้สังเกต 8 สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่า บุคคลต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์ หรือบุคลากรสุขภาพจิต ดังนี้
1.มีความสับสนรุนแรงรู้สึกราวกับว่าโลกนี้ไม่มีอยู่จริง เหมือนกำลังฝันไป ล่องลอย
2.รู้สึกถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ซ้ำๆ บ่อยๆ หยุดไม่ได้ จำแต่ภาพโหดร้ายได้ติดตา ฝันร้าย ย้ำคิดแต่เรื่องเดิมๆ
3.หลีกหนีสังคมกลัวที่กว้าง ไม่กล้าเข้าสังคม
4.ตื่นกลัวเกินเหตุฝันร้ายน่ากลัว ควบคุมตนเองให้มีสมาธิไม่ได้ กลัวว่าจะตาย
5.วิตกกังวลมากเกินไปจนทำอะไรไม่ได้ หวาดกลัวรุนแรง มีความคิดฝังใจ ประสาทมึนชา
6.ซึมเศร้าอย่างรุนแรงรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ท้อแท้ ตำหนิตัวเอง หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ อยากตาย
7.ติดสุราและสารเสพติด และ
8.มีอาการทางจิตหลงผิด ประสาทหลอน ฯลฯ
สำหรับการดูแลจิตใจตนเองและคนรอบข้าง เมื่อประสบเหตุรุนแรง ทำได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สุรา หรือยาเสพติด พยายามหากิจกรรมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ ปรึกษา พูดคุยเรื่องไม่สบายใจ หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือจากคนที่ไว้ใจ และเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนหรือสังคม เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมทางศาสนา ฯลฯ ตลอดจนขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง