โลกไร้หม้อ
ฉันมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ เวลาไปเดินเตร็ดเตร่ตามห้างหรือแถวสยาม จะต้องพยายามกวาดสายตามองหาพวกเดียวกัน ส่งเกย์ดาห์ออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางทีก็พยายามนับว่าวันนี้เจอคู่หญิง-หญิงกี่คู่แล้ว ยิ่งมากก็ยิ่งดีใจ เพราะรู้สึกเหมือนมีเพื่อนเยอะ ถ้าไปกับเพื่อน บางทีก็ต้องมีเถียงกันบ้าง ฉันว่าคนนั้นใช่ แต่เพื่อนกลับบอกว่าไม่ใช่ชัวร์ แล้วก็ลงเอยที่ว่าไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ ก็ใครจะกล้าเข้าไปถามคนแปลกหน้าว่า เธอ ๆ เธอใช่พวกเดียวกับฉันรึเปล่า
เพื่อนคนหนึ่งเรียกการละเล่นเช่นนี้ว่า “ผีมองผี” ตอนแรกฉันก็ไม่ค่อยชอบคำว่า “ผี” นี้สักเท่าไร เพราะดูเลวร้าย น่ากลัวชอบกล แต่คิดไปคิดมา คำว่าผีนี้อาจจะแทนความมืดมิด ความที่ต้องอยู่ในที่ที่เปิดเผยตัวไม่ได้เต็มที่ เหมือนผีที่มาหลอกหลอนได้เป็นบางเวลา ตอนกลางวันไม่สามารถโผล่ออกมาได้
ถ้ามียันตร์กันผีแปะอยู่ก็ไม่สามารถก้าวล้ำเข้าไปในที่นั้น แถมซ้ำร้าย บางทียังถูกถ่วงลงหม้อ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ฝรั่งใช้สำนวนเรียกคนที่ไม่เปิดเผยตัวเองว่า “อยู่ในตู้” (closet) ซึ่งทำให้เห็นภาพของที่มืด ๆ แคบ ๆ ขาดอากาศหายใจ บางทีสำนวนไทย เราอาจใช้คำว่า “อยู่ในหม้อ” (แม่นาค) ซึ่งก็สามารถให้ความรู้สึกอึดอัดได้พอกัน อาจเลวร้ายกว่า ตู้ด้วยซ้ำ เพราะต้องถูกถ่วงอยู่ใต้น้ำ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด
บางทีก็อยากรู้เหลือเกินว่า ถ้าเราโตขึ้นมาในโลกที่คนยอมรับการรักเพศเดียวกัน พอ ๆ กับยอมรับการแปรงฟันในตอน เช้า มันจะเป็นยังไงบ้าง โลกใบนั้นบางทีก็ดูจะไกลเกินเอื้อม ยิ่งเวลาเจอพวกหัวโบราณ ที่เห็นว่าผู้ชายต้องคู่กับ ผู้หญิงตลอดกาลด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกท้อแท้ เหมือนกับว่าเราเกิดมาผิดโลกซะอย่างนั้น
แต่ก็ยังดีอยู่หน่อยที่โลกมันไม่ได้เป็นอย่างนี้เสมอไป
มีคนเขาไปค้นคว้ามาให้แล้วนะ คน ๆ นี้ชื่อ เลสลี่ ไฟน์เบิร์ก เป็นคนอเมริกันคนหนึ่งที่โตมาแบบแตกต่าง จากนิยามคำว่า เพศที่มีอยู่ในสมัยเมื่อ 40-50 ปีก่อน
ไฟน์เบิร์กเองนิยามตนว่าเป็น ทรานสเจนเดอร์ คือเธอ (หรือเขา) เกิดมามีสรีระ ร่างกายเป็นหญิง แต่โตขึ้นก็เริ่มแมนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้ดูจากรูปแล้ว มองไม่ออกจริง ๆ ว่าเป็นผู้หญิง การที่โต มาอย่างแตกต่างจากคนรอบข้าง ทำให้เธอพยายามแสวงหา “เพื่อนผี” ด้วยกันตลอดประวัติศาสตร์ งานเขียนของ เขา (หรือเธอ) บอกให้เรารู้ว่า โลกที่กะเทย เกย์ เลสเบี้ยน คนที่มีเพศสภาพที่แตกต่าง สามารถได้รับการยอมรับนั้น เคยมีอยู่จริง
ฉันขอเล่าตัวอย่างหนึ่งที่ไฟน์เบิร์กยกขึ้นมา ก็คือ ในโลกของ ชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือ อินเดียนแดง
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ไฟน์เบิร์กค้นคว้ามา เป็นบันทึกของพวกทหาร มิชชันนารี หรือ นักมานุษยวิทยา ที่เข้ามาในอเมริกา ยุคแรก ๆ คนเหล่านี้นำอคติทางเพศเข้ามา พร้อม ๆ กับการดูถูกเหยียดหยามชนพื้นเมืองอเมริกัน แม้บันทึกจะมีอคติ แต่ไฟน์เบิร์กก็บอกว่า มันทำให้เราเห็นได้ว่ามีคนที่มีเพศ-เพศสภาพแตกต่างอยู่ในอเมริกามายาวนานแล้ว และที่สำคัญ คนเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างสูง
ไฟน์เบิร์กเล่าว่า ในปี คศ. 1567 Pedro de Magalhaes ทำการสำรวจในเขตบราซิลตอนเหนือ พบว่า ในเผ่า Tupinamba มีผู้หญิงที่ใช้ชีวิตแบบผู้ชาย ได้รับการยอมรับจากผู้ชาย ออกไปล่าสัตว์และ ออกรบ เหมือน ๆ กับผู้ชาย คณะสำรวจเห็นว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นนักรบหญิงเหมือนพวกอเมซอนในกรีก เลยตั้งชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านบริเวณนั้นว่า แม่น้ำอเมซอน อ่านถึงตรงนี้อิฉันก็ถึงบางอ้อว่า ผู้หญิงแมน ๆ เหล่านี้เองที่เป็นที่มาของชื่อแม่น้ำอันรู้จักคุ้นเคยกันดี
ปี 1930 นักมานุษยวิทยา Leslie Spier พบว่าบรรดาชนเผ่าในเขตตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก มีคนที่เป็นกะเทย หรือเรียกอย่างดูถูกว่า Berdaches อาจจะในทุกเผ่า คนเหล่านี้เป็นผู้ชายหรือ ผู้หญิงที่แต่งตัวและมี ลักษณะนิสัยของเพศตรงข้าม
ไฟน์เบิร์กอธิบายเสริมว่า Berdaches นั้นเป็นคำที่ผู้บุกรุกชาวยุโรปใช้เรียกใครก็ตามที่มีเพศ-เพศสภาพไม่เป็นไปตาม ความเข้าใจของคนยุโรป ในปัจจุบัน องค์กรเกย์อเมริกันอินเดียน ขอให้ใช้คำว่า Two-Spirit หรือ คนสองจิตวิญญาณ แทน ซึ่งคำนี้เป็นคำที่แสดงความเคารพ
อีกบันทึกเป็นของมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่ประณามคนสองจิตวิญญาณ แต่เขาเห็นว่าตัวชนเผ่าเองไม่ได้มีอคติ เช่นเดียวกับเขาเลย เขาบันทึกไว้ว่า “คนเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาได้รับการเคารพมาก พวกเขายังมีส่วนร่วม ในพิธีกรรมต่าง ๆ วิถีชีวิตเช่นนี้เป็นวิถีที่พิเศษมาก จนผู้คนพากันถือว่าพวกเขาเป็นชนชั้นสูงกว่า”
ก็ไม่ใช่ว่าทุกบันทึกจะมีแต่คำดูถูกเหยียดหยาม ไฟน์เบิร์กพบว่า บางทีบันทึกก็แสดงความสำคัญของ คนสองจิตวิญญาณ ออกมาได้เหมือนกัน เช่น ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 พระสงฆ์คณะเยซูอิตคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า คนสองจิตวิญญาณนั้น “เรียกประชุมเผ่า และไม่มีการตัดสินใจใดเลยที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากพวกเขา ชีวิตที่พิเศษ อย่างนี้ถือว่าเป็นชีวิตที่มาจากพลังเหนือธรรมชาติ หรือว่ามาจากจิตวิญญาณ”
ไฟน์เบิร์ก พบว่าคนสองจิตวิญญาณในเผ่าต่าง ๆ นั้น มีชื่อเรียกหลากหลายกันไป เช่น
เผ่า Crow เรียกว่า bade
เผ่า Cocopa เรียกว่า warhameh
เผ่า Chumash เรียกว่า joya
เผ่า Maricopa เรียกว่า kwiraxame
ผู้บุกรุกชาวยุโรปรังเกียจและกลัวคนเหล่านี้มาก จนพยายามกำจัดเสียสิ้น พร้อม ๆ กับการเข้ายึดครองดินแดนที่เกิด ควบคู่กับการเข่นฆ่าชนเผ่าพื้นเมืองไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม
ว้า เรื่องเศร้าอีกแล้ว…
แต่ก็ยังไม่จบแค่นั้น คนสองจิตวิญญาณก็ยังคงดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ตอนนี้เขาก็รวมตัวกันเป็นองค์กรแล้ว มีคนหนึ่ง ที่ไฟน์เบิร์กสัมภาษณ์ เธอชื่อ Spotted Eagle หรือ แปลเป็นไทย ๆ ว่า อินทรีย์ลายจุด เป็นเผ่า White Mountain Apache เธอเล่าเรื่องชีวิตตัวเองให้ฟังคร่าว ๆ ดังนี้
“ฉันเกิดเมื่อปี 1945 แล้วก็โตมาอย่างได้รับการยอมรับเต็มที่ ฉันรู้ตั้งแต่เกิดแล้วว่า ฉันเป็นคนสองจิตวิญญาณ ทุกคนรอบ ๆข้างฉันก็รู้ดี คนอื่น ๆ ให้เกียรติฉัน ฉันเป็นสิ่งสร้างที่พิเศษ แล้วก็ได้รับพรสวรรค์ ให้สอนและรักษาคนอื่น ๆ แต่สิ่งเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ในคนรุ่นฉัน แต่เป็นรุ่นต่อจากฉัน”
“ในเผ่าของเรามีการพูดแตกต่างกันสามแบบ คือ วิธีที่ผู้หญิงพูด ผู้ชายพูด และการพูดในพิธีกรรม ฉันพูดทั้งสามวิธี คนสองจิตวิญญาณที่แก่กว่าฉันในเขตสงวน* ก็พูดทั้งสามวิธีเหมือนกัน”
“พวกเราเป็นเผ่านับถือผู้หญิง (Matriarchy) แล้วก็เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์แล้วด้วย ผู้หญิงในเผ่าเรามีสถานะต่าง จากผู้หญิงอื่น ๆ ข้างนอก ไม่ใช่ว่าเราจะมีอำนาจหรืออภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น แต่มันเป็นวิถีที่สมดุลกว่า เกิดมาเป็นผู้หญิง น่ะ ถือว่าเป็นข้อดี ถ้าเป็นคนสองจิตวิญญาณด้วยแล้วจะดีเป็นทวีคูณเลย ฉันไม่เคยมีความคิดแง่ลบเกี่ยวกับการ เป็นคนสองจิตวิญญาณเลย จนมาเริ่มมีตอนออกมาจากเขตสงวนน่ะแหละ”
ไฟน์เบิร์กถามเธอว่า ความเข้มแข็งและความภาคภูมิของเธอมาจากไหน
“ก็มาจากคนรอบข้างที่ให้ฉันมาเก็บรักษาไว้ ถ้าทั้งชีวิตของเธอสัมพันธ์กับจิตวิญญาณแล้ว เธอจะมีความภูมิใจในตัวเอง ภาพลักษณ์ของเธอเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเธอ เธอจะหอบหิ้วมันไปด้วยในทุก ๆ ที่”
ถึงเรื่องคนสองจิตวิญญาณจะเป็นเรื่องสุขปนเศร้า แต่แง่คิดหนึ่งก็คือ แม้ประวัติศาสตร์อาจจะไม่ย้อนกลับไปรอยเดิม แต่เรื่องราวของโลกที่ยอมรับความแตกต่างทางเพศอย่างในอดีตหรืออย่างที่อินทรีย์ลายจุดพบพานมาในเขตสงวน อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครบางคนลุกขึ้นมาทุบหม้อแม่นาคใบนั้น ฉีกยันตร์กันเกย์ทิ้ง แล้วประกาศอิสรภาพจากหมอผี ออกมาหายใจอย่างโลกอกท่ามกลางแสงแดดอันอบอุ่น
แล้วในโลกที่ไร้หม้อนั้น การละเล่น “ผีมองผี” ของฉันคงสนุกขึ้นอีกอักโข
บทความ โดย หลิน