ย้อนรำลึก ‘ตราพระมหามงกุฎ’ บนหน้าอกเสื้อนักฟุตบอล เกียรติยศการรักชาติ
ตราบนหน้าอกเสื้อของนักฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นสโมสร หรือของทีมชาติ จะมีความหมายแสดงอัตลักษณ์ของทีมและมนต์ขลังที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาว นาน ในวันนี้ขออาสาพาคอลูกหนังพันธุ์ไทย ไปรู้จักกับตราแรกอันเป็นปฐมของนักเลงฟุตบอลแห่งสยามประเทศ
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี สมัยดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเคยศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ดังนั้น เมื่อขึ้นครองราชย์จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ จัดตั้งทีมชาติชุดแรกของสยาม หรือเรียกกันทั่วไปว่า "คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม" และได้พระราชทาน "ตราพระมหามงกุฎ" ให้แก่นักฟุตบอลทีมชาติสยาม ณ สนามสามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 เพื่อให้ผู้เล่นตัวแทนของชาติใส่ลงแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ (วันที่ 23 พฤศจิกายน 2458) คณะฟุตบอลสยาม กับ สปอร์ตคลับ นับเป็นการลงสนามนัดแรกของทีมชาติไทย
โดยปรากฏจดหมายเหตุ ดังคำกล่าวของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) สภานายกคณะฟุตบอลแห่งสยาม ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ เดลิเมล์ ฉบับวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2458 ดังนี้ (ภาษาและตัวสะกดสมัยนั้น)
"หมวก เครื่องหมายความสามารถฟุตบอลที่ท่านจะได้รับไปในเวลาอีกสักครู่นี้ ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระมหามงกุฎ ซึ่งควรรู้สึกว่าเปนเกียรติยศการรักชาติ ย่อมจะแสดงได้หลายสถาน แต่การที่ท่านตั้งใจเข้าเล่นแข่งขันให้ถึงซึ่งไชยชนะให้แก่ชาติในคราวนี้ ก็เปนส่วนหนึ่งแห่งการรักชาติ"
อนึ่ง "พระมหาพิชัยมงกุฎ" คือราชสิราภรณ์ที่สร้างขึ้นเมื่อรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือเรียกว่า "เบญจราชกกุธภัณฑ์" สำหรับพระมหากษัตริย์ไทย อันประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร, พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติแบบเดียวกับพระราชสำนักของยุโรป ซึ่งจะถือว่า "ภาวะแห่งความเป็นกษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ"
ในระหว่างรัชสมัยของ "พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม" นั้น ทีมชาติสยามจะใส่เสื้อสีแดงสลับขาว พร้อมมี “ตราพระมหามงกุฎ" ติดอยู่ที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย โดยการลงแข่งขันในนามทีมชาติสยาม ผลปรากฏว่าไม่เคยปราชัยให้แก่ชนชาวต่างชาติแม้แต่ครั้งเดียว
นอกจากนี้ ทีมชาติสยาม ยังชนะเลิศถ้วยราชกรีฑาสโมสร (พฤศจิกายน 2458), ถ้วยทองหลวง (ธันวาคม 2458) และถ้วยปอลลาร์ด (มกราคม 2458 เป็นการแข่งขันกันระหว่าง ทีมสยาม, ทีมอังกฤษ และทีมสกอตแลนด์) ดังปรากฏประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระหว่าง พ.ศ.2458 - พ.ศ.2459 ดังนี้
"วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2458 การแข่งขันฟุตบอลสำหรับถ้วยปอลลาร์ด ณ สนามราชกรีฑาสโมสร รอบสุดท้าย ระหว่าง คณะฟุตบอลสยาม ชนะ คณะชาวอังกฤษ เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยปอลลาร์ด ให้แก่ผู้เล่นฝ่ายคณะฟุตบอลสยาม"
เดือนธันวาคม 2459 รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง "ทีมในหลวง" ขึ้นอีกหนึ่งทีม โดยรวบรวมบรรดานักฟุตบอลที่ลงเล่นรายการถ้วยทองหลวงหรือถ้วยทองนักรบ เพื่อทำการแข่งขันกับชาวตะวันตก สำหรับรายการที่มิใช่การแข่งขันระหว่างชาติ กล่าวกันว่า คือกุศโลบายในการรักษาเกียรติภูมิของทีมฟุตบอลของชาติไทย นั่นเอง
เมื่อสิ้นรัชกาล "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" แล้ว คณะฟุตบอลแห่งสยามยังคงใช้ "ตราพระมหามงกุฎ" ประดิษฐานบนเสื้อของนักเตะสยาม โดยรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 การแข่งขันระหว่างชาติครั้งสำคัญ คือการเดินทางไปชิงถ้วยผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศส ณ เมืองไซง่อน ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2473 ทีมชาติสยาม ชนะ ทีมอินโดจีน-ฝรั่งเศส 4-0
อนึ่ง นัยว่าเป็นการเตรียมทีมชาติสยามเพื่อการแข่งขันฟุตบอลตามคำเชิญของฟีฟ่า แต่ในที่สุดต้องยกเลิก เนื่องจากการต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและการเดินทางไปทวีปอเมริกาใต้ ต้องใช้การเดินทางด้วยเรือเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ทีมชาติสยามจึงมิได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งแรก (ค.ศ.1930) ณ ประเทศอุรุกวัย
ปัจจุบัน "ตราพระมหามงกุฎ" จะมีอายุครบ 100 ปี (นับแบบสากล) ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 นี้ แม้ว่าชาวไทยรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยเห็นสัญลักษณ์ "ตราพระมหามงกุฎ" ดังกล่าวบนหน้าอกเสื้อนักฟุตบอลทีมชาติไทย ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในขณะที่สมาคมฟุตบอลของอังกฤษ ยังคงใช้ "ตราสิงโต" มาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นอีกหลายชาติของโลกลูกหนัง
ในอดีตกว่าครึ่งศตวรรษ ทีมฟุตบอลแห่งสยามเคยมีตราพระราชทานพระมหามงกุฎ อันทรงเกียรติยศสูงสุดของแผ่นดิน เฉกเช่นเดียวกับทีมชาติอังกฤษและอีกหลายชาติทั่วโลก ในอนาคตคนอันใกล้คนไทยยังคงหวังกันว่าจะได้เห็น "ตราพระมหามงกุฎ" อีกครั้ง ในสนามฟุตบอลระดับชาติ สมดังพระราชประสงค์ของล้นเกล้าฯ "พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม" ของวงการฟุตบอลเมืองไทย
เจ้าของเรื่อง คุณจิรัฏฐ์ จันทะเสน