เบาะที่นั่งเด็กมีวันหมดอายุ และอีก 4 ข้อที่ควรรู้ก่อนใช้เบาะที่นั่งเด็ก
เบาะที่นั่งสำหรับเด็กเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศเนื่องจากให้ความปลอดภัยสูงสุด แต่สำหรับเมืองไทยยังไม่มีการให้ความรู้ในการใช้เบาะสำหรับเด็กเท่าที่ควร
ผู้โดยสารที่เป็นเด็กจะมีรูปร่างเล็กและเปราะบางมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเบาะที่นั่งที่ออกแบบสำหรับเด็กโดยเฉพาะจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ถึงแม้รถของคุณจะมีความปลอดภัยเพียงใด แต่อุบัติเหตุเกิดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นจึงควรป้องกันความปลอดภัยสูงสุดสำหรับลูกหลานที่คุณรักอยู่เสมอ
องค์กรเพื่อความรู้ Cincinnati Children และโตโยต้าจับมือกันเผยแพร่ข้อมูล 5 ข้อควรรู้ก่อนใช้เบาะที่นั่งเด็กซึ่งตรงกับสัปดาห์ความปลอดภัยผู้โดยสารเด็ก (Child Passenger Safety Week) ระหว่างวันที่ 13 – 19 กันยายนที่ผ่านมา
1. เบาะที่นั่งมีวันหมดอายุ
พ่อแม่บางคนรับช่วงต่อ (หรือซื้อต่อ) สิ่งของมาจากพ่อแม่คู่อื่น อาทิ เสื้อผ้าหรือของเล่น แต่เบาะที่นั่งเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้สินค้ามือสอง โดยเฉพาะเบาะที่เคยติดตั้งอยู่ในรถที่ประสบอุบัติเหตุมาแล้ว วัสดุพลาสติกอาจเสื่อมสภาพตามการใช้งานและไม่สามารถปกป้องได้เท่าที่ควร เบาะที่นั่งเด็กมักมีวันหมดอายุกำกับอยู่ด้วย ควรตรวจสอบก่อนใช้งาน
2. เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีควรนั่งเบาะหลัง
พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนเมื่อเห็นลูกหลานโตขึ้นจนนั่งเบาะเด็กไม่ได้แล้วก็จะให้มานั่งเบาะคู่หน้าข้างคนขับแทน แต่แท้จริงแล้ว เด็กทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีจะมีความปลอดภัยสูงสุดเมื่อนั่งอยู่เบาะหลัง
3. เด็กที่มีส่วนสูงไม่ถึง 145 ซม. ควรนั่งเบาะนิรภัย
เข็มขัดนิรภัยได้รับการออกแบบมาเพื่อผู้ใหญ่และไม่สามารถปกป้องเด็กเล็กได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกัน เข็มขัดนิรภัยยังอาจบาดคอเด็กได้เนื่องจากพวกเขามีรูปร่างเล็ก การนั่งบนเบาะสำหรับเด็กทำให้พวกเขามีตำแหน่งนั่งที่สูงเพียงพอ เข็มขัดนิรภัยจึงปกป้องอย่างเหมาะสม
4. เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีควรนั่งเบาะที่หันไปด้านหลัง
สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ระบุว่า เด็กที่มีอายุไม่ถึง 2 ปีควรนั่งบนเบาะที่หันไปทางด้านท้ายรถ โดยมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเปิดเผยผลสำรวจว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีที่นั่งบนเบาะหันไปด้านหน้ามีอัตราการเสียชีวิตถึง 75% เมื่อประสบอุบัติเหตุ
5. เบาะที่นั่งไม่ว่าถูกหรือแพง ถ้าผ่านการรับรองจะมีความปลอดภัยเท่าเทียมกัน
ในสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเบาะที่นั่งทุกรายจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่เท่าเทียมมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานความปลอดภัยบนถนนหลวงแห่งชาติ (National Highway Traffic Safety Administration – NHTSA) ผลิตภัณฑ์บางยี่ห้ออาจมีราคาแพงกว่าเนื่องจากใช้เนื้อผ้าคนละประเภทหรือมีการออกแบบที่สวยงาม แต่เมื่อพูดถึงความปลอดภัย แต่ละยี่ห้อมีความเท่าเทียมกัน