ผู้หญิงควรสวนล้างช่องคลอดวันละกี่ครั้ง
การสวนล้างช่องคลอด
เป็นการฉีด หรือ พ่นน้ำเปล่า หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อเข้าไปในช่องคลอด เพื่อหวังผลไปช่วยชำระสิ่งสกปรกต่างๆในช่องคลอดให้ไหลตามน้ำหรือน้ำยาออกมาทางช่องคลอด การสวนล้างช่องคลอดยังเป็นที่นิยมทำกันมากในสตรี ทั้งๆที่ประโยชน์ยังไม่ชัด เจน และอาจก่อให้เกิดโทษ
การสวนล้างช่องคลอดเป็นที่นิยมทั้งในวัยรุ่น และในสตรีที่แต่งงานแล้ว โดยเข้าใจผิดว่า การสวนล้างช่องคลอดจะทำให้ช่องคลอดสะอาด ช่วยลดอาการตกขาว ลดอาการคัน ช่วยกำ จัดที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์กับสามี หรือคิดว่าจะช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์
ทั้งนี้โดยความเป็นจริง หรือจากข้อมูลทางการแพทย์ ไม่มีความจำเป็นที่สตรีปกติทั่วไปต้องทำการสวนล้างช่องคลอด เพราะธรรมชาติของร่างกายมีการช่วยอยู่แล้ว โดยมีการขับสารเมือก/น้ำเมือก หรือมีการหลุดลอกของเซลล์เยื่อบุช่องคลอดออกมาเป็นตกขาวที่ปกติเป็นประจำอยู่แล้ว ในภาวะปกติช่องคลอดจะมีแบคทีเรียหลายชนิดที่อยู่อย่างไม่ทำอันตรายต่อสตรีผู้นั้น
ในสตรีวัยเจริญพันธุ์จะมีแบคทีเรียกลุ่มนี้ที่ชื่อ Lactobacilli bacteria ที่จะสร้างความเป็นกรดในช่องคลอด (pH 4-4.5, pH/power of hydrogen คือ ค่าของความเป็นกรดและด่าง) ซึ่งความเป็นกรดนี้เองจะเป็นตัวป้องกันการติดเชื้อต่างๆที่จะเกิดขึ้นในช่องคลอด หากเราไปสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ จะไปทำให้แบคทีเรีย Lactobacilli ลดลง ทำให้เสียระบบนิเวศน์ในช่องคลอด จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น
ใครควรสวนล้างช่องคลอดบ้าง?
ในสตรีทั่วไป สูติ-นรีแพทย์ไม่แนะนำให้มีการสวนล้างช่องคลอด เพราะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ปัจจุบันมีการสวนล้างช่องคลอดเฉพาะในกลุ่มสตรีที่จะมีการผ่าตัดทางช่องคลอด หรือผ่าตัดมดลูก ที่ต้องมีหัตถการเข้าไปในช่องคลอดเท่านั้น
ประโยชน์ของการสวนล้างช่องคลอด
ในทางการแพทย์ สมาคมสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Obste tricians and Gynecologists ย่อว่า ACOG) แนะนำว่า การสวนล้างช่องคลอดเป็นประจำไม่มีประโยชน์ แต่อาจทำให้สตรีผู้นั้นสบายใจขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเมื่อคิดว่าได้ล้างตกขาว หรือกลิ่นต่างๆในช่องคลอดออกไปแล้ว
โทษของการสวนล้างช่องคลอด คือ
- ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบชนิดที่เรียกว่า Bacterial vaginosis เพิ่มขึ้น เนื่องจากการสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ จะไปทำให้จำนวน แบคทีเรีย Lactobacilli ลดลง ความเป็นกรดในช่องคลอดน้อยลง ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนที่มีอยู่ในช่องคลอด เช่น เชื้อ Gardnerella vaginalis แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สตรีผู้นั้นจะมีตกขาวมากผิดปกติและมีกลิ่นเหม็นมาก (ช่องคลอดมีกลิ่น) ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงไปพบสูตินรีแพทย์บ่อยมาก
- เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมากขึ้น เนื่องจากน้ำ หรือน้ำยาที่ใช้สวนล้างไม่สะอาดพอ การฉีดน้ำเข้าไปในช่องคลอดสามารถทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปในปากมดลูก โพรงมดลูก ปีกมดลูก ทำให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อการเจริญพันธุ์ในอนาคตได้
- เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก
- ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องคลอดจากสารเคมีในน้ำยา เช่น คัน แสบ ช่องคลอด และอวัยวะเพศภายนอก
- เสียเวลาที่ต้องใช้ในการสวนล้าง
- เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
การดูแลอวัยวะเพศ (หญิง) ด้วยตนเอง
- กลิ่นในช่องคลอดสตรี (ช่องคลอดมีกลิ่น) จะมีเล็กน้อย ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการคัน หรือ มีกลิ่นแรงมากต้องคิดถึง การติดเชื้อในช่องคลอด ซึ่งควรต้องรีบไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์
- รักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยสบู่อ่อนๆ ไม่ต้องล้างเข้าไปด้านใน และซับให้แห้ง ไม่ต้องใช้นิ้วเข้าไปล้วงในช่องคลอด หรือสวนล้างช่องคลอด
- สวมใส่เสื้อผ้า โดยเฉพาะกางเกงใน ที่ไม่รัดแน่นเกินไป
สูตินรีแพทย์
บรรณานุกรม
Cottrell BH . An updated review of evidence to discourage douching. MCN Am J Matern Child Nurs 2010 ;35(2):102-7.
Overview of postpartum care. http://www.uptodate.com/contents/overview-of-postpartum-care?source=search_result&search=postpartum&selectedTitle=1~150#[2013, Jan 25].