ถ้าคุณอยากจะรวย ต้องเลิกนิสัยเหล่านี้ครับ
เกือบครบปีกับชีวิตมนุษย์เงินเดือนของผม ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นไม่ได้ไปได้สวยอย่างที่คิด ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการใช้ชีวิตวัยทำงาน เช่น ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทั้งที่บ้านและที่ทำงาน การเข้าสังคมพบปะเพื่อนฝูง การเติมเต็มไลฟ์สไตล์ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนต้องแลกด้วย “เงิน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตลอดเวลาที่ผ่านมากับการทำงาน กับเงินเดือนที่เริ่มต้นหมื่นห้าถึงหมื่นแปด ผมก็ลองผิดลองถูกกับชีวิตไปไม่น้อย แต่ใช่ว่าผมจะใช้ชีวิตอย่างไร้ระเบียบนะ โดยเฉพาะเรื่องเงิน ผมต้องมีวินัยมากเป็นพิเศษ เพราะมีแรงกระตุ้นจากการที่ผมรู้ความจริงจากแม่หลังจากที่ผมทำงานที่แรกไปแล้ว 1 เดือนว่า แม่เป็นหนี้นอกระบบหลายแสน ถึงแม้ว่าแม่จะบอกว่าตรงนี้ไม่ต้องเป็นห่วงนะ ทำหน้าที่ของตัวเองไปก่อน แต่จุดๆ นั้นก็ทำให้ผมคิดได้ และต้องไม่ใช้เงินโดยขาดการควบคุมเหมือนเมื่อก่อน แต่ถึงกระนั้นก็ตามด้วยสังคมและสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ต้องตามกระแสสังคมตลอดเวลา นับเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมเงินของผมเป็นอย่างยิ่ง
จนกระทั่งผมทำงานได้สักระยะหนึ่งแล้วรู้สึกว่า ผมอยากรวย อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองมากกว่า ก็ต้องเริ่มจากสร้างทุนด้วยการเก็บเงิน ผมก็ทำบัญชีรายรับ - จ่าย เพื่อกำหนดการจัดการเงินใหม่ ก็ทำให้รู้ว่า “พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ผมไม่มีวันรวย”
1. ไม่พยายามเก็บเงินเพราะไม่มีแรงกระตุ้น
มันก็ไม่เกี่ยวนะ แรงกระตุ้นสร้างได้ด้วยตัวเราเองทั้งนั้น แค่เราตั้งเป้าหมายและจริงจังกับมันก็เป็นแรงกระตุ้นชั้นดีแล้ว ยิ่งเราตั้งเป้าไว้สูง ก็เป็นแรงจูงใจให้เราพยายามเก็บเงินให้ได้มากกว่าใช้เงิน และที่สำคัญคือ ต้องเก็บก่อนใช้เสมอ ผมได้เงินเดือน 18,000 บาท ผมรีบแบ่งฝากประจำเดือนละ 3,000 บาททันทีที่เงินเข้าบัญชี แล้วก็คิดซะว่าได้เงินเดือนจริงๆ แค่ 15,000 บาทเท่านั้น
2. ติดหรู ทุกอย่างต้องแบรนด์เนม
ราคากาแฟสตาร์บัคส์ 1 แก้ว กินข้าวได้ 3 มื้อ จริงๆไลฟ์สไตล์ติดหรูไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาตัดสินผิดถูกกันอย่างเอาเป็นเอาตาย คือเสพได้แต่ต้องให้พอดีกับฐานะของตน ผมทำใจไว้ตั้งแต่แรกเข้าทำงานแล้วล่ะว่า ต้องมีวันหนึ่งที่ต้องไปกินหรูกับเพื่อนที่ทำงาน หรือไม่ก็ต้องใช้ของทุกอย่างเป็นแบรนด์เนม ผมทำได้ดีที่สุดคือพยายามหลีกเลี่ยงถ้าไม่จำเป็น ยกเว้นกรณีที่เป็นงานโอกาสสำคัญต่างๆ จึงจะยอม ก็คิดซะว่าเป็นค่าเข้าสังคม แต่เคยคิดไหมว่า เงินที่เสียไปกับการบริโภคของแบรนด์เนม แลกกับการเข้ากับสังคมที่ทำงานหรือสังคมอื่นๆ ที่เราต้องไปพบปะบ่อยๆ มันคุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้รับมาไหม
3. ของเก่ายังใช้ได้ ก็ซื้อของใหม่อีกแล้ว
พูดถึงของที่สิ้นเปลืองเช่น ปากกาด้ามละหลักร้อย ซื้อมาเรื่อยๆ ไปเพื่ออะไร ในเมื่อด้ามที่ใช้อยู่หมึกก็ยังไม่หมด เดือนก่อนเพื่อนที่ทำงานซื้อรองเท้า Converse ไปคู่หนึ่ง เดือนนี้ Converse ลดราคาก็ซื้อมาอีกคู่หนึ่ง แต่พอเข้าปลายเดือนเงินเริ่มไม่พอใช้ แล้วจะมาขอยืมเงินผมแต่ผมไม่ให้ ดังนั้น มันจะดีกว่าไหม ถ้าเรารู้จักใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเงินมาใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
4. สินค้าไอที มีออกใหม่เมื่อไหร่ต้องซื้อ
ก็ไม่ต่างจากข้อ 3 แต่ต่างกันตรงที่ความจำเป็นมีมากกว่าคือ มีไว้เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกรวดเร็วขึ้น อันนี้เป็นประสบการณ์จากเพื่อนร่วมงาน เปลี่ยน IPhone ทุกปี ปีที่แล้วซื้อ 6Plus มา ปีนี้มีแผนเตรียมจอง 6s ล่วงหน้าไว้แล้ว ผมดูสเป็กของทั้งสองรุ่นแล้วเทียบดูมันก็ไม่เห็นจะต่างกันตรงไหน เข้าใจว่าชีวิตต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิตอล แต่บางทีชีวิตก็ไม่ต้องเดินเร็วมากก็ได้ การไม่อัปเดตอุปกรณ์ไอทีแบบถี่ๆ ให้ทันทุกยุคทุกสมัยมันไม่ได้ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคุณตกต่ำลงหรอก
5. ซื้อน้ำเปล่าดื่มทุกวัน
เชื่อว่าวันๆ หนึ่งเราซื้อน้ำเปล่าขวดเล็ก ขวดละ 7 - 8 บาท ไม่ต่ำกว่า 1 ขวดแน่นอน แล้วถ้าซื้อทุกวันล่ะ เคยคิดไหมว่าเงินที่เสียไปกับค่าน้ำดื่มในแต่ละเดือนจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่น้อยๆนะ บางคนแค่ค่าน้ำดื่มต่อเดือนก็ใกล้จะเหยียบหลักพันแล้ว แต่ถ้าเราเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้มาเป็นการลงทุนระยะยาวแทน ยังไม่ต้องคิดไกลไปถึงเครื่องกรองน้ำหรอก แค่เปลี่ยนจากซื้อน้ำดื่มเป็นขวดๆ มาเป็นซื้อน้ำเป็นแกลลอนหรือถัง แม้ว่าจะยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้เยอะเหมือนกัน
6. ซื้อหนังสือบ่อยเกินไป
การซื้อหนังสือบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ดีในการประเทืองปัญญา แต่ถ้าเดือนๆหนึ่ง ซื้อบ่อยเกินไปแต่ทำได้แค่วางไว้บนตู้เฉยๆ ก็ลองคิดดูว่า เงินที่เสียไปกับค่าหนังสือมันเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกไหม สมัยเรียนผมก็ซื้อหนังสือบ่อย เดือนหนึ่งซื้อมาแค่ 2 - 3 เล่ม ก็ถือว่าเยอะอยู่ พอทำงานได้ระยะหนึ่งงานเริ่มยุ่ง ผมเลยเริ่มไม่มีเวลาอ่านหนังสือ แต่ก็ยังไม่หยุดซื้อหนังสือนะ เพียงแต่เปลี่ยนจากเห็นปุ๊บต้องซื้อปั๊บมาเป็น ลิสต์รายการหนังสือที่อยากซื้อจริงๆ ไปรอซื้อที่งานหนังสือเลยทีเดียว ยกเว้นนิตยสารที่ผมซื้อเป็นประจำเพราะต้องหาคอนเทนต์ใหม่ๆ มาใช้ทำงานตลอด วิธีนี้ก็จะลดการใช้จ่ายสิ้นเปลืองลงไปได้ระดับหนึ่ง
7. ไม่ลงทุนให้เงินงอกเงย
ข้อนี้สำคัญมาก สมัยเรียนผมเก็บเงินราวกับว่าจะเผื่อไว้ใช้ตอนตาย เงินเก็บก็คือเงินเก็บ จะไม่พยายามเอาออกมาใช้เลย แต่พอถึงช่วงที่ขอเงินพ่อซื้อ Macbook ไว้ทำงานแต่งภาพและทำกราฟิก รู้ไหมว่าพ่อบอกผมว่ายังไง
“ก็เอาจากแต๊ะเอียมาซื้อสิ มีเงินเก็บก็ไม่ใช่เอาแต่เก็บไว้เฉยๆ หัดเอาออกมาลงทุน ซื้ออะไรที่เอาไปต่อยอดเพิ่มรายได้บ้าง”
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะคิดลงทุน ไม่ว่าจะเป็นลงหุ้น หรือทำธุรกิจส่วนตัวก็ควรจะเก็บเงินให้ได้ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้คงตัวก่อน เริ่มต้นแบบค่อยๆเป็น ค่อยๆไปจะดีกว่า ดังนั้นถ้าคิดจะอยากรวยก็ต้องลงมือทำทันทีน่ะถูกแล้ว แต่ก่อนที่คิดจะเดินไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ก็ลองสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินในปัจจุบันของตัวเองดูซะก่อน เพื่อที่พฤติกรรมเหล่านี้จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างความรวยของคุณในเวลาต่อไป
สิ่งที่ควรจะโฟกัสที่ปลายทาง แต่ถ้าคุณยังไม่รวย ก็คือคุณยังคงอยู่ระหว่างทาง ต้องเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโลกที่กว้างใหญ่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด จะได้ไม่ต้องเสียใจเมื่อมาถึงปลายทางและถ้าหากคุณเองก็เป็นคนชอบการเรียนรู้ รักการเรียนรู้ตลอดเวลา สามารถเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดกับความสำเร็จของตัวเองได้
ที่มาข้อมูล สมาชิกหมายเลข 2505342