“แม่” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ในบรรดาคำพูดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด
คำว่า “แม่”ดูจะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่มีมนต์ขลัง มีความหมายกินใจอย่างลึกลับ
และ ลึกซึ้งมากที่สุด เพราะอะไร?
ทุกคนย่อมมี “แม่”ผู้ให้กำเนิดเป็นเพื่อนเราคนแรกในโลกทีเดียว
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็น “ครู” ที่เราเคารพและยึดมั่นในพระปัญญาคุณ พระกรุณาธิคุณและพระบริสุทธิคุณ
แม้ว่าท่านจะเสียพระพุทธมารดาตั้งแต่ประสูติได้ 7 วัน ท่านคงจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับแม่ ไม่ต่างจากบุคคลอื่น
สังเกตได้จากคำสอนในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับแม่ทั่วๆ ไปที่จะยกขึ้นมา
ก่อนที่จะกล่าวถึงแม่ “แม่” ของข้าพเจ้าคนเดียว
พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับแม่ไว้หลายครั้ง บ้างก็เอ่ยถึงพ่อแม่ควบกันไป บ้างก็เอ่ยเฉพาะแม่โดดๆ
เช่น ในโสณนนทชาตกมีคาถาที่กล่าวไว้ว่า
สุหทา มาตา
-มารดาเป็นผู้ใจดี
ชยนฺตี มาตา
-มารดาเป็นผู้ให้เกิด
โปเสนฺตี มาตา
-มารดาเป็นผู้เลี้ยงดู
โคเปนฺตี มาตา
-มารดาเป็นผู้คุ้มครองรักษา
วิหญฺญนฺติ มาตา
-มารดาเป็นผู้เดือดร้อนเป็นห่วงเป็นใย
อนุกมฺปกา ปติฎฐา จ ปุพฺเพ รสทที จโน มคฺโค สคฺคสฺส โลกสฺส
-มารดาเป็นผู้เอ็นดู เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ให้รส (น้ำนม) มาก่อน เป็นทางแห่งโลกสวรรค์
ในสคาถวคฺด มีว่า มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร
-มารดา เป็นมิตรในเรือนของตน
สพฺรหฺมสุตฺต มีความว่า พฺรหฺมาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจนํ
-ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหมนี้เป็นชื่อของมารดาบิดา
ปุพฺพเทวาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจนํ
-ภิกษุทั้งหลาย คำว่า บุพพเทพเป็นชื่อของมารดาบิดา
ปุพฺพาจริยาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจนํ
-ภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุพพาจารย์เป็นชื่อของมารดาบิดา
จริงอยู่ ข้าพเจ้ามีแม่ที่มีคุณธรรมตรงกับพุทธภาษิตที่ยกขึ้นข้างต้นทุกประการ
แต่ท่านมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหมายความว่า ท่านเป็น “แม่”ของคนทั้งชาติ
แล้วก็เป็นแม่ “ส่วนตัว” ของข้าพเจ้าด้วย ทำให้เขียนเรื่องยากขึ้นอีก ทางที่ดีก็เลือกลักษณะอะไรเด่นๆ มาพูดสักอย่างเดียว
คิดดูแล้วตกลงว่าจะเขียนถึงท่านในแง่เป็นบุพพาจารย์หรือเป็นครูคนแรก
คุณยายเล่าให้ฟังเสมอว่า ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จแม่กับน้า โปรดปรานการเล่นครูนักเรียนกับเด็กที่บ้าน โดยท่านจะเป็นครูและให้เด็กคนอื่นเป็นนักเรียน
สมเด็จแม่ทรงมีวิธีการสอนหนังสือที่ดีอยู่แล้ว เด็กๆ ทั้งหลายจึงชอบเป็นลูกศิษย์ท่านกัน
จนกระทั่ง น้าร้องไห้เพราะไม่มีใครไปโรงเรียนของน้า ร้อนถึงคุณยายต้องมาเป็นตระลาการตัดสินคดีให้แบ่งเด็กไปเข้าโรงเรียนของน้าบ้าง
เมื่อการเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เป็นการยากสำหรับท่านเลยในการที่จะสั่งสอนและสอนหนังสือลูกๆ ด้วยพระองค์เอง
ตอนเล็กๆ ท่านสอนให้พับกระดาษ เขียนรูปและทำการฝีมือต่างๆ โดยถือแนวว่าคนเราไม่ควรปล่อยเวลาว่างผ่านไปโดยไร้ประโยชน์
ถ้าเรานั่งดู ทีวี วันเสาร์อาทิตย์เฉยๆ โดยมือไม้ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ เป็นโดนกริ้ว
ตอนบ่ายๆ ท่านไล่ให้ลงไปวิ่งเล่นข้างล่าง เพราะเด็กๆ ควรได้อากาศบริสุทธิ์ โตขึ้นท่านจะให้มีหน้าที่ดูแลสนาม ถอนหญ้าแห้วหมู และคอยตัดหญ้า กับต้นข่อยที่ดัดเป็นรูปต่างๆ เป็นการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์
พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร ตอนอาหารนี้ ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย
ประการแรก ท่านจะได้ดูว่ารับประทานที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่
ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะ
และประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคน รวมทั้งพี่เลี้ยง ชอบที่สุด
คือท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง หนังสือที่ท่านเอามาเล่าบางทีก็เป็นนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ และความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์
ตอนหลัง ๆ นี้ ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษ ให้เราหัดฟังภาษาด้วย นาน ๆ ที่ก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท
เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่า
“หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่ามันสนุกตื่นเต้น มีรสมีชาติขึ้นมาทันที”
ท่านจะเน้น ระบายสี หยิบยกจับความที่น่าสนใจขึ้นมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่าย ไม่ต้องท่อง
เรื่องนี้ มีความลับอย่างหนึ่ง (ที่เปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือ เพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากที่สมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติม แล้วใช้ตอบข้อสอบ หรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ
เรื่องนิทานของสมเด็จแม่ มีเรื่องที่น่าตื่นเต้น คือเรื่องผี แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก
สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่า ผีไม่มี จ้างก็ไม่เชื่อ
ท่านจึงสำทับ โดยการเล่าเรื่องผี ที่น่ากลัวกว่า ให้เข็ด
เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทย โดยการให้อ่านวรรณคดี เรื่องยืนโรง สามเรื่อง
คือ พระอภัยมณี อิเหนา และรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา
ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่น ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ
คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอน
ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ค่อนข้างจะอ่อน และหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อ เรื่อง “ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ” แล้วสมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์อังกฤษ ให้ท่องให้อ่านหนังสือ ตามลำดับยากง่าย จนเดี่ยวนี้ พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้
นอกจาก จะเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้ว สมเด็จแม่ยังทรงจัดให้ลูกๆ เรียนพิเศษวิชาต่างๆ มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ทั้งภาษา เลข ดนตรี วาดรูป และแม้ว่าท่านไม่นิยมความฟุ่มเฟือย (ข้าวของทุกอย่างต้องใช้อย่างประหยัด)
เรื่องการใช้จ่ายในเรื่องการเล่าเรียน การซื้อหนังสือ ท่านจ่ายอย่างไม่อั้น เพราะ วิชาความรู้ ทำให้เราสามารถทำงานช่วยคนหมู่มาก ช่วยบ้านเมืองได้
สมบัติใดๆ ย่อมไม่ประเสริฐ เท่าการกระทำคุณงามความดี เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและวิชาความรู้
ตอนระยะหลังมานี้ พระราชกิจมีมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ในด้านการดูแลความเรียบร้อยของสถานที่ เวลามีใครมาเฝ้าฯ จนกระทั่ง ความเป็นอยู่ของราษฎร
เวลาเสด็จออกเยี่ยมราษฎร ทูลกระหม่อมพ่อ มักจะทรงเป็นผู้แนะนำ ในทางด้านการชลประทาน การเกษตรเป็นส่วนใหญ่
เมื่อทรงพบคนเจ็บ ทั้งทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่จะทรงให้หมอในขบวนเสด็จตรวจดู ถ้าป่วยมาก โปรดฯ ให้เข้าโรงพยาบาล และ ให้การศึกษาแก่คนที่อยากเรียน แต่ไม่มีทุน
พระราชดำริที่สำคัญของสมเด็จแม่ในเรื่องของราษฎร คือการสนับสนุนอาชีพ นอกจากการทำเกษตรกรรม บางปีการเพาะปลูกจะไม่ได้ผลดีนัก ด้วยดินฟ้าอากาศไม่อำนวย เกษตรกรต้องเดือดร้อน บ้างก็ต้องทิ้งบ้านช่องไร่นาเข้าหางานทำที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเข้ามาทำงานในเมือง ดังนั้นเขาควรจะมีงานทำเพื่อเพิ่มพูนรายได้
สมเด็จแม่ทรงมีพระราชดำริว่า งานอุตสาหกรรมในครัวเรือน เป็นงานที่เหมาะสมมาก
คนไทยเราเป็นผู้ที่มีฝีมือในทางการช่าง มีหัวทางศิลปอยู่แล้วจึงสนับสนุนได้ไม่ยาก ก็โปรดเกล้าฯ สนับสนุนงานที่เหมาะสมกับแต่ละภาค เช่น การทอผ้า การจักสาน การทำตุ๊กตาไทย เป็นต้น
การส่งเสริมนั้น ได้ทรงส่งข้าราชบริพารให้เข้าไปติดตามซื้อผลผลิตมาด้วยราคาที่เหมาะสม พระราชทานวัตถุดิบในการผลิตด้วย ของที่นำมา เช่น ผ้ามัดหมี่ ก็ทอดพระเนตร ควบคุมคุณภาพ และ จ่ายงานให้ผู้ผลิตด้วยพระองค์เอง
โปรดการใช้สอยของที่ผลิตในประเทศไทย บางอย่าง แม้ว่าจะแพงหน่อยถ้าเรามีสตางค์แล้วก็ควรจะจ่าย เช่น เราตัดเสื้อสักตัว คนที่ทอผ้าก็ได้เงิน แล้วต่อมาเจ้าของร้านตัดเสื้อ ลูกมือลูกจ้างอีกหลายคนก็ได้ด้วย เป็นการกระจายรายได้ และป้องกันปัญหาการว่างงานด้วย
เรื่องอื่นที่สมเด็จแม่พระราชทานพระราชดำริ มีอีกหลายเรื่องที่สำคัญๆ คือ การจัดตั้งมูลนิธิสายใจไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสนองคุณผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันประเทศชาติ การจัดละครรักชาติ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว ในระยะหลังๆ แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย กับท่านบ่อยอย่างแต่ก่อน แต่ก็ได้ศึกษาเรียนรู้ทัศนคติ อันเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมาก ยังเป็นครูที่ดีทีเดียว
ถึงแม้ว่าสมเด็จแม่จะทรงมีความคิดต่างๆ มากมาย และทรงบ่นเก่ง เมื่อพวกเราทำผิด (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร)
ก็ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง ที่จะยอมรับฟังความคิดของลูกๆ จริงอยู่ท่านไม่พอพระทัยถ้าเรา “เถียง” แต่ถ้า เป็นการ “ออกความเห็น” อย่างสุภาพก็ไม่ทรงว่าอะไร จะดีพระทัยเสียอีก ว่าเรารู้จักคิดเหตุผล
เรื่องของแม่มีอยู่มากมายเกินกว่าจะกล่าว นับว่าข้าพเจ้าเป็นผู้โชคดี ที่มีทั้งพ่อและแม่ ที่เป็นแนวทางให้ยึดถือได้อย่างภาคภูมิใจ
ที่เขียนเรื่องนี้มิได้ตั้งใจอวดโม้ แต่เป็นเพียงบันทึกความทรงจำเล็ก ๆ น้อย ๆ บางประการเท่านั้น.
ทรงพระเจริญ
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ขอเดชะ
*ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก board.palungjit.com (พลังจิต)