การเข้าพรรษาของไทยและในประเทศอื่น
การเข้าพรรษานั้นปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท ซึ่งพระสงฆ์ในนิกายเถรวาททุกประเทศจะถือการปฏิบัติการเข้าจำพรรษาเหมือนกัน (แต่อาจมีความแตกต่างกันบ้างในการให้ความสำคัญและรายละเอียดประเพณีปฏิบัติของแต่ละท้องถิ่น)
เข้าพรรษาในประเทศไทย
สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนประเทศไทย ซึ่งอาจมีปฏิบัติประเพณีนี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่มาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ด้านที่ 2) ดังนี้
คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มันโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทังหลายทังผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดมบังคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก
— คำอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๒
นอกจากนี้ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ยังได้กล่าวถึงการเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยสุโขทัยไว้อีกว่า "เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบก และทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับ ธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้น ๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม" ซึ่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์โดยมี ตามความที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่าแม้มีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัย แต่รายละเอียดมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เข้าพรรษาในต่างแดน
ในปัจจุบัน มีพระสงฆ์จากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะพระสงฆ์จากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา และบางส่วนของญี่ปุ่น จะไปทำพิธีวันเข้าพรรษาที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น พุทธคยา เมืองราชคฤห์ สารนาถ เมืองกุสินารา สวนลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองสาวัตถี และกรุงนิวเดลี เป็นต้น
ขณะเดียวกันในส่วนอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย ต่างก็ถือว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นการถือศีลและปฏิบัติธรรมไปจนครบ 3 เดือน และกำหนดให้วันเข้าพรรษาให้เป็นวันเริ่มการทำความดีเช่นเดียวกัน
สำหรับในประเทศอินเดียนั้น ไม่ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศเหมือนกับวันวิสาขบูชา ส่วนประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาให้เท่าเทียมกับวันวิสาขบูชาด้วย
เครดิตภาพ Khunchild