ปวดเอวด้านหลัง สัญญาณเตือนของโรคไต?
การใช้ ชีวิตประจำวันของหนุ่มสาวยุคใหม่อาจก่อให้เกิดโรคขึ้นโดยไม่รู้ตัว หากคุณหมั่นสังเกตอาการแปลกๆ ของร่างกายเป็นประจำก็จะสามารถแยกแยะความแตกต่างของสัญญาณเตือนต่างๆ ได้ อาการปวดตามเนื้อตัวเองก็เป็นหนึ่งในสัญญาณบอกโรคเช่นกัน โดยเฉพาะอาการ “ปวดเอวด้านหลัง” ที่อาจเป็นเพียงอาการปวดกล้ามเนื้อธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นตัวบ่งบอกถึงโรคร้ายอย่างโรคไตก็เป็นได้
สาเหตุ
- เกิดอาการปวดเนื่องจากไตอักเสบหรือเป็นนิ่วที่ไต
- แบกของหนัก ก้มยกของผิดท่า
- นั่งทำงานนานเกินไปโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ สวมรองเท้าส้นสูงนาน นั่งหลังค่อม รวมถึงนอนบนเตียงที่นุ่มเกินไป
อาการ
- หากเป็นอาการปวดที่เกิดจากไตอักเสบ นอกจากความรู้สึกปวดเอวด้านหลังแล้วมักมีอาการร่วมคือ รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ มีไข้ หากเคาะเบาๆ ตรงส่วนเอวด้านหลังก็ทำให้เจ็บมากได้
- มีอาการปวดจากการที่กระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท จนอาจทำให้ปลายเท้าชา อ่อนแรง ยกขาไม่ขึ้น
- หากอาการปวดจากโรค ไม่ใช่การปวดกล้ามเนื้อธรรมดา อาจทำให้เกิดภาวะปวดรุนแรงขึ้นมาเป็นระยะๆ
วิธีรักษา
- พยายามนั่งหลังตรง ควบคุมร่างกายให้อยู่ในอิริยาบถที่หลังตรง ไม่นั่งหลังค่อม
- หากมีความจำเป็นต้องยกของหนัก ควรยกอย่างถูกวิธีหรือใช้เครื่องทุนแรงช่วย เช่น รถเข็น
- สำหรับผู้ที่นั่งทำงานนานๆ ควรหาเวลาพักเพื่อยืดเส้นยืดสาย
- ไม่นอนบนเบาะที่นุ่มเกินไปเพราะจะทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปจนไปกดทับเส้นประสาท ก่อให้เกิดอาการปวดขึ้นมาได้
- หมั่นออกกำลังกายเบาๆ สม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดอาการบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี การออกกำลังที่เหมาะสมสำหรับผู้มีปัญหาปวดกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ พีลาทิส ว่ายน้ำ เป็นต้น
- หากเกิดอาการปวดร่วมกับภาวะข้างเคียง อื่นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาจเป็นอาการเตือนถึงโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นและโรคไต
“ความสัมพันธ์ของการปวดเอวด้านหลังและโรคไต”
หาก คุณรู้สึกปวดธรรมดา ไม่มีอาการเป็นไข้ คลื่นไส้อาเจียน หรือความผิดปกติเมื่อปัสสาวะ เช่น ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะยาก ติดขัดรวมถึงมีสีขุ่นก็ไม่ต้องกังวล เพราะหากเกิดโรคไตอักเสบจริง อาการปวดก็มักจะมาพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเสมอ นอกจากนี้อาการปวดจะไม่ได้อยู่แค่บริเวณนี้เท่านั้น แต่จะลามไปถึงบริเวณท้องน้อย ขาอ่อน หัวเหน่า และอวัยวะเพศด้วย เนื่องจากเกิดการอุดตันของท่อไต กรวยไตอักเสบและในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพองผิดปกตินั่นเอง
อย่าละเลยอาการปวดที่มาพร้อมกับภาวะข้างเคียงนะคะ หรือแม้จะไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่หากมีความรู้สึกปวดเรื้อรัง หายช้า ปวดร้าวลามไปถึงส่วนอื่นของร่างกายก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและทำการรักษา อย่างถูกวิธีจะเป็นการดีที่สุด