ดาบ ถือเป็นอาวุธประจำตัวนักรบโบราณที่ใช้กันทั่วไปทั่วโลก จะผิดแผกแตกต่างกันก็เฉพาะรูปแบบ สำหรับ “ ดาบไทย ” อันใช้เป็นดาบเพชฌฆาต ได้รับการสร้างขึ้นตามตำนานการสร้างด้วยการหาเหล็กที่เป็นเหล็กเนื้อดีนำมาไล่ขี้ควายออกแล้วหลอมกันเป็นก้อนเจือด้วยเหล็กจากบ่อพระแสง จ.อุตรดิตถ์ ที่เรียกกันว่า“ เหล็กน้ำพี้ ”
|
ดาบไทยโบราณ |
เหล็กน้ำพี้นั้นเป็นเหล็กที่มีส่วนผสมโลหะธาตุตามธรรมชาติที่มีคุณสมบัติควบคุมเนื้อเหล็กธรรมดาให้เกิดความคงทนแข็งแกร่งไม่กินตัวเองให้เป็นสนิม ทนทานต่อการฟันของหนาๆที่แข็งคมจนเกิดประกายอันเป็นการข่มขวัญศัตรูด้วย การสร้างดาบเพชฌฆาตต้องถือ “ ฤกษ์เพชฌฆาต ” เป็นสำคัญ ส่วนการตีดาบให้ได้รูปลักษณ์ที่ต้องการและคม ต้องใช้ยามยมขันธ์เป็นหลัก
|
แร่เหล็กน้ำพี้ |
ลักษณะดาบเพชฌฆาตแยกเป็น ดาบหนึ่ง ดาบสอง
ดาบหนึ่ง จะมีความสั้นกว่าดาบสอง ใบดาบจะกว้างกว่าดาบสอง ทั้งด้ามดาบก็สั้นกว่า สันดาปจะหนาประมาณ ๑ ซ.ม. ส่วนด้ามดาบประกอบด้วยเหล็กรัด ใช้เชือกด้ายดิบถักหุ้มด้วยลวดลายรัดกุมเพื่อให้สาก ถนัดในการกระชับ ทั้งลงรักและยางไม้เพื่อรักษาด้วยให้คงทนต่อการใช้งาน สภาพดาบปลายจะหักลง แล้วงอนขึ้นคล้ายใบง้าวของจีนเพื่อให้เกิดน้ำหนักถ่วงทางโคนดาบให้ได้ดุล
ดาบสอง ใบดาบจะยาวกว่าดาบหนึ่งประมาณ ๘ ซ.ม. ใบดาบเรียวคล้ายดาบที่นักรบไทยโบราณทั่วไปใช้ ปลายดาบเฉียงต่ำรับกับความโค้งของใบดาบด้านล่าง สันดาปบางประมาณ ๐.๗ ซ.ม.
ดาบเพชฌฆาตคู่นี้ได้รับการทิ้งไว้ยัง ห้องพิเศษในคุกหลวง ห้ามผู้ใดแตะต้อง ทุกวันเสาร์จะมีการสังเวยด้วยเหล้าและไก่ต้มเป็นการบวงสรวง จนมีการเล่าขานกันว่า ดาบ ๒ เล่มดังกล่าวจะสั่นได้เองเหมือนถูกคนจับเขย่า และหลังจากดาบทั้งคู่สั่นไม่เกิน ๗ วันก็จะต้องมีพิธีประหารชีวิตนักโทษเกิดขึ้นทุกคราไป
ทั้งดาบหนึ่ง ดาบสองนี้ถูกใช้มาจนถึง รัชกาลที่ ๖ จึงได้ยกเลิก แต่สำหรับชีวิตนักโทษที่สังเวยไปจากดาบคู่นี้ประมาณไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ศพ
สำหรับ “เพชฌฆาต” นั้นเป็นตำแหน่งที่โปรดเกล้าพระราชทานให้แก่ผู้มีดวงอันเหมาะสมโดยจะมีบรรดาโหราจารย์นำดวงชะตาไปคำนวณอย่างละเอียดเพื่อประกอบในการคัดเลือก ทั้งนี้ด้วยถือกันว่า การประหารชีวิตคนอันเป็นสัตว์ประเสริฐนับเป็นกรรมหนักรุนแรง จึงต้องเฟ้นหาดวงเพชฌฆาตที่มีดวงคุ้มตัวเองได้ มิฉะนั้นชีวิตจะสั้น !
พอเลือกเฟ้นได้คนที่มีดวงเหมาะสม ยังต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเพลงดาบอย่างดี ทั้งมีความรู้เกี่ยวกับดาบ มีความแม่นยำในการลงดาบ เพื่อขณะทำการประหารจะได้ไม่เป็นการทรมานนักโทษจนเกินไป และผู้เป็นเพชฌฆาตจะต้องมีความรู้ทางด้านคาถาอาคมเป็นพิเศษด้วยเช่น คาถาสวดวิญญาณผีตายโหง อาคมก่อนหยิบดาบเพชฌฆาต รวมทั้งสามารถแก้อาถรรพณ์หากผู้ถูกประหารมีวิชาด้านคงกระพันชาตรี
ตัวเพชฌฆาตหรือมือประหารเองจะต้องอยู่ประจำ ณ เรือนจำตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้เตรียมการ จากนั้นเมื่อได้เวลาเพชฌฆาตจะอัญเชิญดาบออกจากที่ตั้งไปทำการบวงสรวงด้วยเครื่องเส้น เพื่อปลุกดาบให้เข้มขลัง เสร็จพิธีแล้วจึงค่อยเก็บดาบไว้ที่ตั้งเดิมรอเวลาประหาร
ครั้นได้ฤกษ์เพชฌฆาตดาบหนึ่ง ดาบสองค่อยอันเชิญดาบออกจากที่ตั้ง พร้อมแต่งกายด้วยผ้าเตี่ยวสีแดงสด นุ่งหยักรั้งทะมัดทะแมงสวมเสื้อกั๊กสีแดงลงยันต์มหาอำนาจ มหาเดช มีบางรายคาดหัวด้วยผ้าสีแดงลงยันต์
เมื่อออกจากเรือนจำไปกับขบวนนักโทษ เพชฌฆาตจะอยู่รั้งท้ายขบวน เมื่อถึงลานประหารที่กำหนดไว้ นักโทษจะถูกผูกตา ช่วงนี้เองที่เพชฌฆาตทั้งดาบหนึ่ง ดาบสองจะเข้าไปขออโหสิกรรม
กรณีเป็นเชื้อพระวงศ์หรือกษัตริย์
ส่วนในกรณีที่นักโทษเป็นเชื้อพระวงศ์หรือกษัตริย์ ก็จะมีวิธีเฉพาะคือการทุบด้วยท่อนจันทน์
ที่ถือเป็นไม้หอม เป็นการให้เกียรตินักโทษ โดยการประหารด้วยท่อนจันทน์นี้ จะใช้วัดปทุมคงคาเป็นลานประหาร
ส่วนวิธีการ ก็คือ จะนำร่างของผู้ถูกประหารสวมด้วยถุงแดงแล้วรัดถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้ใครแตะต้องพระวรกายและไม่ให้ใครเห็นพระศพด้วย จากนั้นเพชฌฆาตที่ได้รับนามเฉพาะว่า "หมื่นทะลวงฟัน" ก็จะใช้ไม้จันทน์ขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายสากตำข้าวทุบลงไปสุดแรงบริเวณพระเศียรหรือพระนาภี เสร็จแล้วก็นำไปฝังในหลุม 7 คืนเพื่อให้มั่นใจว่าสิ้นพระชนม์แล้วจริง ๆ ก่อนขุดขึ้นมาประกอบพิธีต่อไปและหากใครสงสัยว่าทำไมไม่ใช้วิธีเปิดผ้าดูว่าสิ้นแล้วหรือไม่ ก็อย่างที่บอกไปว่าไม่ว่าจะอย่างไรหลังจากนำนักโทษใส่ถุงแดงแล้วก็ห้ามเปิดให้ใครเห็นหรือแตะต้องพระวรกายโดยตรงได้เป็นอันขาด
วิธีการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ เลิกล้มไปในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมาย ร.ศ. 127ว่า ให้ประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ด้วยวิธีเดียวกันกับสามัญชน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นนักโทษและในที่สุด ในปี 2477 ก็ได้ล้มเลิกการประหารชีวิตด้วยการตัดหัวไป เปลี่ยนเป็นการใช้ปืนยิงแทนโดยวิธีการยิงปืนประหารนี้ ก็จะมีขั้นตอนคล้ายกับการประหารชีวิตด้วยการตัดหัว ต่างที่การยิงปืนประหารจะทำในห้องประหารมิดชิด ไม่มีการเรียกประชาชนมามุงดูเหมือนกับการประหารชีวิตด้วยการตัดหัวอีกต่อไป
การประหารชีวิตด้วยปืนทำกันมาได้ไม่นานนัก เพราะเมื่อปี 2545 ได้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตด้วยปืน
มาเป็นการฉีดยาแทน ซึ่งการฉีดยาจะมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกจะฉีดยาให้นักโทษสลบก่อนจากนั้นค่อยฉีดยาหยุดการทำงานของปอดและกระบังลม และสุดท้ายก็จะฉีดยาที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นเป็นอันเสร็จพิธี เรียกว่าสบายกว่าวิธีไหน ๆ ไม่ต้องตื่นเต้นว่าจะถูกสับหัวหรือยิงปืนเมื่อไหร่ และวิธีนี้ก็ยังเป็นวิธีที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการของการประหารชีวิตในสยาม ที่ดูเหมือนจะลดความทรมานลงทุกวัน ๆ ขณะเดียวกันที่สถิติการประหารชีวิตก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งที่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่เพราะว่าคนเรามีคุณธรรมกันมากขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะบทลงโทษในสังคมทุกวันนี้มันเบาลงเรื่อย ๆ ต่างหาก..
ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคที่บทลงโทษในสังคมเบาลงทุกวัน ขณะที่โจรผู้ร้ายมีมากขึ้นแบบนี้ ก็ยังมีคนในหลายประเทศออกโรงต่อต้านการประหารชีวิตกันอย่างมากมาย เพราะเห็นว่ามันโหดร้ายก็ไม่แน่ว่า.. บางที โทษประหารอาจถูกล้มเลิกไปในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้
เครื่องลงทัณฑ์เกี่ยวกับการประหารชีวิตด้วยดาบ
1.ดาบ ดาบที่ใช้ในการประหารชีวิตนั้น มีรูปร่างต่างๆกัน ดาบเก่าครูเพชฌฆาตจะจัดทำขึ้น เช่น ดาบปลายแหลม ดาบปลายตัดดาบหัวปลาไหล ดาบมีฝักและสายสะพายพร้อม เท่าที่ปรากฎอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ขณะนี้มีอยู่ 3 แบบคือ ดาบหัวปลาไหล ดาบปลายแหลม ดาบหัวตัด ปรากฎหลักฐานแน่
ชัดว่าเริ่มใช้สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยกฎหมาย พระอัยการขบถศึก จุลศักราช 796 (พ.ศ. 1978) เลิกใช้สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตรงกับแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขพิ่มเติมประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2477
2.มีดตัดสายมงคล ชาวบ้านเรียกว่า "มีดหมอ" มีไว้สำหรับตัดสายมงคลที่ล้อมลานพิธีประหารชีวิตเท่านั้น การตัดสายมงคลจะใช้มีดชนิดอื่นไม่ได้ ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับพิธีทางไสยศาสตร์ ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยกฎหมาย "พระอัยการขบถศึก" จุลศักราช 796 (พ.ศ. 1978) เลิก
ใช้สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2477
3.มีดตัดส้นเท้า ผู้ร้ายอุกฉกรรจ์มหันตโทษ ที่ถูกประหารชีวิต ที่ข้อเท้าจะถูกตีตรวนขนาดใหญ่ให้ห่วงของตรวนรัดติดแน่นกับข้อเท้าจนไม่สามารถรูดออกทางส้นเท้าได้ เมื่อถูกประหารชีวิตแล้วจึงใช้มีดสับส้นเท้า เพื่อถอดตรวนข้อเท้าออกปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยกฎหมาย "พระอัยการขบถศึก" จุลศักราช 796 (พ.ศ. 1978) เลิกใช้สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 5) ร.ศ.131 (พ.ศ. 2455)
เนื่องจากมีตรวนข้อเท้าที่สามารถไขได้ด้วยกุญแจมาใช้แทน
4.คบเพลิงสำหรับท่องทาง การนำนักโทษประหารออกจากคุกไปตัดหัวที่วัด มักนำนักโทษลงเรือพายไปตามลำคลองให้ทันเวลาย่ำรุ่งประมาณ 03.00 นาฬิกา ซึ่งยังมืดมากต้องใช้คบเพลิงส่องให้แสงสว่างขณะเดินทาง
5.หลักไม้กางเขน ใช้เป็นหลักประหารนักโทษที่ถูกประหารด้วยดาบเพชฌฆาต จะนำนักโทษประหารเข้าไปนั่งผูกติดกับหลักไม้กางเขนเรียกว่า "มัดแบบกาจับหลัก" วิธีปักหลักไม้กางเขน มัดนักโทษ ครูเพชฌฆาต ต้องขุดหลุมเสกคาถาเรียกแม่ธรณี แล้วเอาไม้กางเขนปักลงกลบให้แน่น เขียนยันต์ลงที่ดินหน้าไม้กางเขนตรงก้น นักโทษที่จะนั่ง แล้วเอาใบตอง 3ยอด ปูให้นักโทษนั่งบนใบตองเอาด้ายดิบที่เสกแล้ว มัดแขนด้านหลัง ติดกับกลักกางเขน ทำพิธีเสกดินอุดหูสะกดให้นักโทษสงบจิต ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยกฎหมาย "พระอัยการขบถศึก" เลิกใช้สมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2477 เปลี่ยนแปลงการลงโทษอาญาประหารชีวิตด้วยดาบเป็นยิงด้วยปืน
6.ขันทำน้ำมนต์ ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นภาชนะสำหรับเพชฌฆาตทำน้ำมนต์ก่อนและหลังพิธีตัดคอนักโทษ เพื่อใช้น้ำมนต์ในขันปัดรังควานและอาบหรือพรมตามร่างกาย เป็นการป้องกันวิญญาณร้ายเข้าสิงร่างกาย ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้ สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยกฎหมาย "พระอัยการขบถศึก"จุลศักราช 796 (พ.ศ.1978) เลิกใช้สมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 เปลี่ยนการลงโทษอาญาประหารชีวิตด้วยดาบเป็นยิงด้วยปืน
7.ธงแดง ธงทำด้วยผ้าสีแดง ด้ามทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 23 นิ้ว สำหรับปักในบริเวณลานประหารเพื่อให้รู้ว่าบริเวณนี้มีพิธีประหารชีวิต ห้ามฝูงชนมากีดขวางบริเวณที่มีธงแดง
8.ศาลเพียงตา มีลักษณะสองชั้นทำด้วยไม้เนื้อแข็งติดกันยกหรือเคลื่อนย้ายได้สะดวกแก่การนำไปใช้ในการประหารชีวิต ชั้นล่างสำหรับวางดาบประหาร ชั้นบนสำหรับวางถาดใส่อาหาร เครื่องเซ่นสังเวยเมื่อนำนักโทษไปถึงแดน ประหารแล้ว เพชฌฆาตที่เป็นหัวหน้าเรียกว่า ครูเพชฌฆาตเป็นผู้ประกอบ พิธีบวงสรวงสังเวยเทพยดาและภูตผีต่างๆ ตลอดจนผีตายโหงที่เคยฆ่า เมื่อบริกรรมเสร็จแล้ว
จะเรียกเพชฌฆาตดาบหนึ่งดาบสองเข้าในวงพิธี โดยนั่งหน้าศาลเพียงตาแล้วร่วมพิธีบวงสรวงครูเพชฌฆาตจะนำเอาแป้งกระแจะเจิมหน้าเพชฌฆาตทั้งสองเมื่อบวงสรวงเสร็จแล้ว มอบดาบจากศาลเพียงตาส่งให้เพชฌฆาตทั้งสองทำหน้าที่ประหารชีวิตต่อไป
9.ไม้เสาหลักกลม การประหารชีวิตในสมัยโบราณทำพิธีกันกลางทุ่งแจ้ง และใช้เวลานาน ไม้เสาหลักกลมมีไว้สำหรับขึงผ้ากันแดดและกันฝูงชนมิให้รุกล้ำเข้ามาในระหว่างทำพิธีสังเวยหรือบวงสรวง
10.ถาดทองเหลือง ก่อนการประหารชีวิตเพชฌฆาตต้องทำพิธีไหว้ครูและสักการะสิ่งเคารพบูชาตามที่ตนเลื่อมใสเพื่อให้มีจิตใจมั่นคง เพราะการฆ่าคนก็เกรงกลัวแรงผีเข้าสิง ภาชนะที่ใช้ในพิธี บวงสรวง ประกอบด้วย ถาดทองเหลืองมีเชิงและลวดลาย ถ้วยชามกระเบื้องลักษณะมีลายสีน้ำเงิน เหมือนชามสังคโลก สำหรับใส่ของหวานและน้ำจิ้ม เพื่อเซ่นสังเวยเทพยดาฟ้าดิน เครื่องสังเวยประกอบด้วยหัวหมูซ้ายขวา เป็ดหนึ่งไก่หนึ่ง ปลาแปะซะหนึ่ง พร้อมน้ำจิ้ม บายศรีกล้วยน้ำไทย 1 หวี มะพร้าวอ่อน 1 ลูก ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว สิ่งละถ้วย ขนมธรรมดาอีก 4 ถ้วยเหล้าโรง 2 ขวด ดอกไม้พร้อมด้วยธูป 1 ซอง เทียน 9 เล่ม
11.ถ้วยเคลือบดินเผา สำรับอีกหนึ่งชุด ลักษณะเป็นถ้วยเคลือบ ดินเผามี 5 ใบ สำหรับใส่อาหารคาวหวานให้นักโทษประหารกินเป็นมื้อสุดท้ายก่อนถูกตัดหัว ทั้งเครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวงและอาหารผู้ต้องโทษ มีฝาชีครอบไว้เรียบร้อย
12.ฝาชีครอบถาด ใช้สำหรับครอบถาดทองเหลืองที่มีเครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวง และสำหรับอาคารคาว หวานให้นักโทษประหารกินเป็นมื้อสุดท้ายก่อนตัดหัว เพื่อกันไม่ให้ตัวแมลงหรือสิ่งสกปรก ตอมอาหาร