นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถไขปริศนา ที่มาของคลื่นความร้อนรุนแรงในเอเชียใต้
คณะนักวิทยาศาสตร์ในอินเดียและปากีสถาน ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์คลื่นความร้อนรุนแรงในทวีปเอเชียใต้ ส่วนปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์นี้ยังคงเป็นปริศนา
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ความกดอากาศต่ำ ความชื้นสูง และปริมาณลมที่น้อยผิดปกติ มีส่วนสำคัญที่ทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงมาก อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวในช่วงเวลานี้ของปี
นักอุตุนิยมวิทยาในปากีสถานพยากรณ์ว่า คลื่นความร้อนในนครการาจีเมื่อสัปดาห์ก่อนจะพุ่งแตะ 43 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ที่แม่นยำ แต่ปัจจัยอื่นส่งผลให้รู้สึกเหมือนอากาศร้อนถึง 49 องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 1,000 คน และถือเป็นคลื่นความร้อนรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ส่วนในอินเดียนั้นทางการรายงานยอดผู้เสียชีวิตว่า มีมากกว่า 2,000 คน แต่สื่อรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3,000 คน
มูฮัมหมัด ฮานีฟ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติปากีสถาน บอกว่า ความรู้สึกที่ว่าอากาศร้อนเกินอุณหภูมิจริงนั้นเรียกว่า ดัชนีค่าความร้อน โดยภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นจากความกดอากาศที่ค่อนข้างต่ำ และความชื้นที่สูงมาก ซึ่งกรณีของปากีสถานนั้น ความกดอากาศต่ำมักไม่ค่อยเกิดขึ้นในช่วงนี้ในพื้นที่แถบนครการาจี ประกอบกับมีลมทะเลปริมาณน้อยผิดปกติ ส่งผลให้คลื่นความร้อนมีความรุนแรงมาก
ด้านนักวิทยาศาสตร์อินเดียก็เห็นว่า ภาวะที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิดปกติ โดยชี้ว่า ปีนี้ไม่มีลมทะเลที่พัดเข้าฝั่งเพื่อช่วยบรรเทาความร้อนในแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ความร้อนที่ยาวนานติดต่อกันหลายวันน่าจะเกี่ยวข้องกับรูปแบบการหมุนเวียนของอากาศในชั้นบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้คลื่นความร้อนมีความรุนแรงขึ้นเช่นเดียวกับที่ทำให้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่นมีความรุนแรงผิดปกติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า