กมธ.ศึกษาปิโตรเลียมเตรียมเสนอ สนช. ตั้ง ‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ’
กมธ. เสนอแผนต่อสนช. เกี่ยวกับแนวทางแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แนะ จัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นตัวแทนรัฐ ควบคุมปิโตรเลียมแบบเบ็ดเสร็จ
คณะกรรมธิการ (กมธ.) เตรียมเสนอแผนแก้ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้
โดยข้อเสนอดังกล่าวมีข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปพลังงานหลายประเด็น อาทิ การให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company)ให้มีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ เป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับปิโตรเลียมในการบริหารจัดการปิโตรเลียม และการบังคับบริษัทน้ำมันเอกชนในฐานะคู่สัญญา โดยตราเป็น พ.ร.บ.ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติมีสภาพนิติบุคคล
โดยบรรษัทดังกล่าวมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการสัญญาที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการพัสดุของส่วนราชการหรือกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ โดยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิทรัพยากรปิโตรเลียมแทนรัฐในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากปิโตรเลียม และบริหารสัญญาสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิตและสัญญาจ้างผลิต
ส่วนการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม คณะ กมธ.เห็นควรดำเนินการ 2 ระยะ คือ
1.ในระยะยาวควรศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศอื่นๆ ที่มีแหล่งปิโตรเลียม สภาพสังคม และสภาพเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกับไทย
2.ในระยะเร่งด่วน เพื่อให้การสำรวจปิโตรเลียมดำเนินการได้ในระหว่างปรับปรุงกฎหมายทั้งฉบับ โดยต้องแก้ไขรายมาตราที่สำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตและสัญญาจ้างบริการมาใช้บังคับได้ไปพลางก่อน
ในการเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 คณะ กมธ.เห็นว่ามีความสำคัญเร่งด่วนต่อความมั่นคงทางพลังงาน จึงต้องแก้ไขกฎหมายจากเดิมที่ระบุว่า "กำหนดให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ และผู้ใดจะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องได้รับสัมปทาน" โดยบัญญัติเพิ่มเติมให้มีรูปแบบอื่นนอกจากสัมปทานด้วย การที่รัฐบาลจะให้ระบบสัมปทานไปก่อน โดยมีข้อตกลงในสัญญาว่าสามารถเปลี่ยนแปลงระบบแบ่งปันผลผลิตได้ภายหลังนั้น อาจทำให้เอกชนไม่มั่นใจในการลงทุน จึงควรชะลอการเปิดสัมปทานไปจนกว่าจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยก่อนทำสัญญา
สำหรับปัญหาความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อการบริหารด้านพลังงานนั้น อาจกำหนดให้คณะกรรมการปิโตรเลียมมีสัดส่วนของตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยแก้ไขเพิ่มเติมความในหมวด 2 คณะกรรมการปิโตรเลียม มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 นอกจากนี้ควรแก้ไขมาตรา 76 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เรื่องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น รวมถึงรัฐต้องสามารถตอบปัญหาของประชาชนได้ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจต่อรัฐบาลในด้านพลังงาน