30 มิ.ย. นี้ โลกปรับเพิ่มเวลา 1 วินาที เพราะหมุนช้าลง
องค์กรด้านเวลาโลกเตรียมเพิ่มเวลา 1 วินาที ในวันที่ 30 มิ.ย.2558 เพื่อชดเชยเวลาเนื่องจากโลกหมุนช้าลง ทำให้วันยาวขึ้น หวั่นกระทบการทำงานระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
หน่วยงานติดตามระบบการหมุนของโลก (International Earth Rotation and Reference Systems Service) ในประเทศฝรั่งเศส เตรียมปรับนาฬิกาเชิงอะตอมซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงเวลาที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่งเพิ่ม 1 วินาที (อธิกวินาที) ในวันที่ 30 มิ.ย.2558 หลังพบว่าโลกหมุนรอบตัวเองช้าลง และมีแนวโน้มจะช้าลงเรื่อยๆ ในอัตราส่วน 1/2000 วินาที ต่อ 1 วัน ซึ่งจะทำให้เวลา 23:59:59 น.ในวันที่ 30 มิ.ย.2558 จะกลายเป็น 23:59:60 น.เพื่อให้ตรงกับเวลาสุริยะ (Solar Time)
นายนิก สตามาตาโกส หัวหน้าฝ่ายสังเกตการณ์ตำแหน่งโลกของกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า ความเร็วของการหมุนรอบตัวเองของโลกจะช้าลงทีละเล็กน้อย
การปรับอธิกวินาที (Leap Second) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2515 และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 26 ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งหมายความว่า โลกได้หมุนช้าลง 26 วินาที หากอ้างอิงจากเวลาของนาฬิกาเชิงอะตอมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเวลา
ขณะที่บริษัทซอฟท์แวร์หลายบริษัทเตรียมรับมือกับการปรับอธิกวินาทีหลังหลายเว็บไซต์อย่าง Reddit, Foursquare, StumbleUpon, Yelp, LinkedIn และ Mozilla ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ Linux และเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Java ทำงานผิดปกติในปี พ.ศ.2555 หลังมีการปรับอธิกวินาที
สำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั่วไปในปัจจุบัน แม้จะสามารถปรับเวลาอัตโนมัติผ่านเซิร์ฟเวอร์ NTP (Network Time Protocol) ซึ่งจะปรับให้เวลาของทุกอุปกรณ์ในโลกตรงกันได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคอมพิวเตอร์ยังไม่เข้าใจการเพิ่มอธิกวินาที ล่าสุด Google สามารถพัฒนากลไกซอฟท์แวร์ที่สามารถรับมือกับการปรับอธิกวินาทีได้แล้ว ด้วยการกระจายตัวเลขของเศษวินาที (Leap Smear) เข้าไปในเวลาแต่ละวันก่อนจะมีการปรับอธิกวินาที
ในขณะที่หลายประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการปรับอธิกวินาที และต้องการให้ยกเลิกระบบนี้ โดยผู้แทนจากสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมด้านเวลาในปี 2012 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า การปรับอธิกวินาทีจะส่งผลกระทบกับระบบคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การใช้งานระบบระบุตำแหน่ง (GPS) ที่ยึดการทำงานกับเวลา ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมทางการเงิน ระบบคอมพิวเตอร์นำร่องในยานพาหนะต่างๆ ที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงทำงานผิดพลาด
ส่วนอังกฤษเห็นว่า ควรรักษาการปรับอธิกวินาทีไว้ เพราะหากไม่ปรับอาจเปลี่ยนความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเวลาไปโดยสิ้นเชิง เพราะจะทำให้การขึ้นลงของดวงอาทิตย์เพี้ยนไป โดยนายรอรี แมคอีวอย ผู้ดูแลด้านเวลาจากหอดูดาวหลวงกรีนิช ประเทศอังกฤษระบุว่า การหมุนของโลกเป็นตัวกำหนดเวลามาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงต้องมีการเพิ่มอธิกวินาที เพื่อรักษาเวลามาตรฐานกรินิช (Greenwich Mean Time) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2390 โดยอาศัยหลักการหมุนรอบตัวเองของโลกและความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเวลาอธิกวินาทีเป็นข้อถกเถียงยาวนานกว่า 12 ปี โดยคาดว่าในปีนี้อาจจะได้ข้อสรุป