พระเมธีธรรมาจารย์ ชี้แจงละเอียดว่าทำไมออกมาเคลื่อนไหวค้านนายไพบูลย์ เก็บภาษีพระสงฆ์ไทย
จากกรณีพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา(สนพ.) ทำหนังสือเรื่อง "การเตรียมกฎหมายเก็บภาษีพระและตรวจสอบทรัพย์สินของวัด" ถึงเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศ จำนวน 33,902 วัด พร้อมแนบแบบตอบรับแสดงความคิดเห็นที่พร้อมส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนายกฯ จะได้รับทราบถึงความคิดเห็นของเจ้าคณะพระสังฆาธิการที่มีต่อข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่ให้เก็บภาษีพระภิกษุที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป และเก็บภาษีวัดที่จัดกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้รับข้อเสนอดังกล่าวและส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ศึกษาข้อดีข้อเสียเพื่อตอบข้อสงสัยของครม.นั้น
พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า กระแสตอบรับจากเจ้าคณะพระสังฆาธิการมีขึ้นก่อนส่งหนังสือ เพราะภายหลังแชร์ในโซเชียลมีเดียและไลน์ ทางเจ้าอาวาสก็สอบถามตนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และต้องการให้ทำตามหนังสือดังกล่าวเลยใช่หรือไม่ ฉะนั้นเชื่อว่าเรื่องนี้พระสงฆ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการทำหนังสือถึงเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศครั้งนี้ ก็เป็นไปตามที่อาตมาประกาศกับคณะสงฆ์ทั่วประเทศที่ว่าเมื่อรัฐบาลไม่ให้คณะสงฆ์ออกมาเจริญพุทธมนต์ครั้งใหญ่เราก็ไม่ออกมาแต่อาตมาจะขอจับตามองแม่น้ำสายนี้คือทั้งรัฐบาลสปช. และนายไพบูลย์ ที่ดูเหมือนจะเป็นสายเดียวกัน และตอนนี้ข้อเสนอของนายไพบูลย์ ก็ไม่ได้ยุติแต่ดำเนินการไปตามโรดแม็บโดยครม.ได้รับทราบข้อเสนอและส่งให้ส่วนราชการศึกษา ซึ่งเท่ากับครม.ก็เห็นด้วยถึงได้ส่งให้ส่วนราชการศึกษา อาตมาจึงต้องแจ้งความคืบหน้าให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศรับทราบ และเพื่อป้องกันข้อกล่าวหาว่าอาตมาทึกทักหรือแปลงสารของเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ถึงได้ให้ส่งตรงไปที่นายกฯ
"ครม.ส่งให้ส่วนราชการมาศึกษา ก็สอดคล้องกับสิ่งที่อาตมาดำเนินการ ทางรัฐบาลจะได้ทราบความคิดเห็นของคณะสงฆ์ที่มีต่อข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้าอาตมาไม่ทำ ถามว่าใครจะมารับประกันได้ รัฐบาลหรือครม.จะรับประกันได้ไหมว่าจะไม่ทำตามข้อเสนอของนายไพบูลย์ แล้วถ้าอาตมาไม่ออกมา เดี๋ยวก็ถูกหาว่าทำไมไม่ออกมาคัดค้านตั้งแต่เนิ่นๆ ฉะนั้นถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็จะถูกเหมาได้ว่าเห็นด้วยไปโดยปริยายอีก" พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวด้วยว่า ถึงตอนนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดข้อเสนอของนายไพบูลย์ว่าจะเก็บภาษีพระที่มีรายได้เกิน 20,000 บาท หรือวัดที่ทำกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์อย่างไร แล้วคำจำกัดความของคำดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหา ถามว่าจะตามไปดูคณะสงฆ์ที่รับสวดกิจนิมนต์ทุกเช้าว่าญาติโยมถวายปัจจัยเท่าไรหรืออย่างไร แล้วจะไปดีแคลร์กับใคร แล้วศาสนาอื่นๆ ที่ประชาชนบริจาคด้วยความศรัทธาหรือมีการดำเนินการลักษณะเดียวกันวัตถุมงคล แต่อาจไม่ใช่พระพุทธรูปแต่เป็นอย่างอื่น แล้วจะต้องเสียค่าภาษีด้วยไหม วัดที่มีปัจจัยมากจนสามารถนำเงินมาใช้ประโยชน์ได้นั้น มีเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่กี่แห่ง ทำไมไม่ไปดูวัดในต่างจังหวัดที่ไม่มีแม้แต่เงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ถามว่าจะไปช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูวัดเหล่านี้อย่างไร
และอยากถามว่านายไพบูลย์มีวาระซ่อนเร้นอย่างไรถึงเลือกปฏิบัติแต่กับศาสนาพุทธ ขณะที่บอกว่าทั้ง 6 ศาสนาในประเทศไทยเท่าเทียมกัน แต่วันนี้พุทธศาสนากลับถูกจาบจ้วงก้าวล่วงอยู่ศาสนาเดียว
แล้วข้อเสนอของนายไพบูลย์ที่ว่าให้สับเปลี่ยนเจ้าอาวาสทุก 5 ปีแล้วให้ญาติโยมมีส่วนในการคัดเลือกเจ้าอาวาสซึ่งปรากฏในร่างพ.ร.บ.พุทธบริษัทของนายไพบูลย์นั้น
ถามว่าคนที่มาปฏิรูปศาสนาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วทำไมถึงให้เจ้าอาวาสมาจากการคัดเลือกของประชาชน เท่ากับว่านายไพบูลย์มองแค่วัดในกรุงเทพฯ ไม่กี่แห่ง เห็นเป็นปัญหาแล้วนำมาโจมตีพระพุทธศาสนาในภาพรวม ทั้งที่พระทั่วประเทศมีไม่มาก วัดในต่างจังหวัดขาดแคลนพระ แทบจะหาพระมาจำพรรษาไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วจะมาสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามข้อเสนอของนายไพบูลย์ได้อย่างไร เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้มององค์รวม แต่มองเฉพาะวัดในกรุงเทพฯ ที่นายไพบูลย์เห็นว่าเป็นปัญหา
"ยืนยันว่าอาตมาไม่ได้คัดค้านการปฏิรูป อาตมาเห็นด้วยกับการปฏิรูปที่เป็นการพัฒนานำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ทำอยู่ ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการเหยียบย่ำพระพุทธศาสนา" พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว
ข่าว-วัดป่านิวส์
๒๐ พ.ค. ๕๘