คุณคิดว่า หินก้อนเล็กๆ นี้มีมูลค่าเท่าไหร่ ระหว่าง 2 / 20 / 200 / 2,000 / 20,000 หรือ 200,000 บาท
ในเช้าวันหนึ่ง เณรน้อยวิ่งเข้าไปถามพระอาจารย์
“พระอาจารย์ขอรับ คุณค่าของชีวิตคนเราคืออะไรครับ? ”
“พรุ่งนี้เธอจงแบกเอาก้อนหินก้อนหนึ่งไปขายที่ตลาด หากมีคนถามราคา เธอไม่ต้องพูดอะไร แต่ให้ชู 2 นิ้วให้เขาดู หากคนเหล่านั้นยังต้องการที่จะซื้อ เธอไม่ต้องขาย ให้เอาหินก้อนนั้นกลับมา แล้วอาจารย์จะบอกเธอว่า คุณค่าของชีวิตเธอคืออะไร? ”
วันรุ่งขึ้น เณรน้อยจึงแบกก้อนหินก้อนหนึ่งในสวนออกไปขายที่ตลาด ในตลาดที่มากมายด้วยผู้คน ต่างก็สงสัยว่าเณรน้อยขายอะไร อยู่ๆ ก็มีแม่บ้านคนหนึ่งปรี่เข้ามา และก็ถามว่า
“หินก้อนนี้ราคาเท่าไหร่?” เณรน้อยไม่ตอบ ได้แต่ชู 2 นิ้วให้ดู
“2 บาท เหรอ?” เณรน้อยส่ายหัวไปมา
“20 บาท ก็แล้วกันนะ ป้าจะเอาไปทับผักดอง” เณรน้อยคิดในใจ “ไอ้หยา! หินที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร วันนี้มีราคาตั้ง 20 บาท ถ้าขนมาขายก็คงได้หลายตังค์ ” แต่เณรน้อยก็ไม่ยอมขาย เอาแต่อมยิ้มแบกหินก้อนนั้นกลับวัด
เมื่อกลับถึงวัดแล้ว เณรน้อยก็บอกกับพระอาจารย์ว่า
“พระอาจารย์ขอรับ วันนี้มีคุณป้าคนหนึ่ง ขอซื้อหินก้อนนี้ไปในราคา 20 บาท พระอาจารย์บอกผมได้หรือยังขอรับ ว่าคุณค่าของชีวิตกระผมมีค่าเท่าใด?”
“อืม! ไม่ต้องรีบร้อน พรุ่งนี้เช้าเธอจงเอาหินก้อนนี้ไปที่พิพิธภัณฑ์ หากมีคนถามราคา เธอก็ชู 2 นิ้วให้เขาดู หากมีคนต้องการซื้อ ก็อย่าได้ขายเป็นอันขาด เธอจงแบกมันกลับมา แล้วเราค่อยคุยกัน ”
เช้าวันที่ 2 ณ พิพิธภัณฑ์ ผู้คนต่างอยากรู้อยากเห็นว่าหินก้อนนี้คืออะไร? เสียงของชายสองคนคุยกันว่า
“ก็แค่หินธรรมดาก้อนหนึ่งที่ไม่มีค่าอะไร ทำไมถึงเอามาวางไว้ที่พิพิธภัณฑ์นะ!”
“ในเมื่อมันมาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้ มันก็คงมีคุณค่าอะไรสักอย่าง ไม่งั้นเณรคงไม่เอามันมาวางโชว์ในนี้หรอก” ชายอีกคนตอบ จู่ๆ ก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาถามราคาของหินกับเณรน้อย เณรน้อยไม่ได้พูดอะไรนอกจากชู 2 นิ้ว
“ 200 บาทเหรอ?” เณรน้อยส่ายหัวไปมา
“ 2000 ก็ 2000 ผมกำลังต้องการหินไปแกะสลักพระพุทธรูปพอดีเลย” เมื่อเณรน้อยได้ยิน ก็เซไปก้าวหนึ่ง รู้สึกทึ่งกับราคาที่นักแกะสลักให้มา แต่ก็ไม่ได้ขาย เมื่อแบกหินก้อนนั้นกลับวัด ก็เข้าไปพบพระอาจารย์พร้อมกับพูดด้วยอาการตื่นเต้นว่า
“พระอาจารย์ขอรับ วันนี้มีคนขอซื้อหินก้อนนี้ในราคาตั้ง 2000 ขอรับ พระอาจารย์บอกผมได้หรือยังครับว่าคุณค่าของชีวิตผมคืออะไรครับ? ”
พระอาจารย์หัวเราะชอบใจ และก็กล่าวว่า
“พรุ่งนี้ให้เธอนำหินก้อนนี้ไปที่ร้านขายของเก่า และก็ทำเหมือนทุกวันที่ผ่านมา หากยังมีคนจะซื้อ ก็ให้นำหินก้อนนี้กลับมา อย่าได้ขายเป็นอันขาด เย็นนี้พระอาจารย์จะเฉลยให้ฟังว่าคุณค่าของชีวิตเธอคืออะไร?”
เช้าของวันที่3 เณรน้อยก็แบกหินก้อนนั้นไปที่ร้านขายของเก่า มีคนมากมายที่เข้ามารุมล้อมดูหินก้อนนั้น เสียงของคนที่เข้ามาดูต่างพากันพิจารณา
“หินก้อนนี้คือหินชนิดไหน? ขุดขึ้นมาจากที่ใด? อยู่ในราชวงศ์อะไร? มีประวัติในช่วงไหน?” และแล้วก็มีชายคนหนึ่งเอ่ยกับเณรน้อยว่า
“หินก้อนนี้ราคาเท่าไหร่?” เณรน้อยไม่ตอบอะไร เพียงแค่ชู 2 นิ้วให้ดู
“ 20,000 บาท!” เมื่อเณรน้อยได้ยินก็เบิกตาและอ้าปากค้าง พร้อมกับอุทานออกไปว่า “ห๊า!”
ชายคนนั้นคิดว่าตนเองให้ราคาต่ำไป จึงทำให้เณรน้อยโมโห ก็รีบพูดขึ้นว่า
“เปล่าๆๆ ผมพูดผิดครับ ผมจะบอกเณรว่าผมให้สองแสนต่างหากครับ!”
“ 200,000 บาท!”เณรน้อยอุทานออกไปด้วยความตกใจ เมื่อรู้สึกตัว เณรน้อยก็รีบอุ้มหินก้อนนั้นวิ่งกลับวัดในทันที เมื่อกลับถึงวัน เณรน้อยก็เข้าไปพบกับพระอาจารย์ด้วยอาการตาลีตาเหลือก
“พระอาจารย์ครับพระอาจารย์ เราจะรวยกันแล้วครับ วันนี้มีโยมคนหนึ่งให้ราคาหินก้อนนี้ตั้ง 200,000 นะครับ
ตอนนี้พระอาจารย์บอกกระผมได้หรือยังครับว่าคุณค่าชีวิตของกระผมคืออะไร?”
พระอาจารย์เอื้อมมือไปลูบหัวของเณรน้อยและกล่าวออกมาอย่างเมตตาว่า
“เณรน้อยเอ๋ย คุณค่าชีวิตของเธอก็เหมือนกับหินก้อนนี้ หากเธอนำตัวเองไปไว้ที่ตลาด เธอก็มีค่าแค่ 20 บาท หากเธอนำตัวเองไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เธอก็มีค่าแค่สองพันบาท แต่หากเธอนำตัวเธอไปไว้ที่ร้านขายของเก่า เธอก็มีมูลค่าถึงสองแสนบาท
เวทีต่างกัน จุดยืนต่างกัน คุณค่าของชีวิตก็ย่อมต่างกัน !