1.โรคน้ำกัดเท้า
ซึ่งก็คือการติดเชื้อราที่เท้า พบได้บ่อยเป็นผื่นเปียกยุ่ยสีขาวที่ง่ามนิ้วเท้าบางครั้งมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้เป็นผื่นแดงและมีน้ำเหลืองไหล
2.โรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ
หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสังคัง มักเกิดจากการเป็นเชื้อราที่เท้า แล้วเวลาสวมกางเกงในจะนำเชื้อราที่เท้าไปสัมผัสขาหนีบ มักมีอาการคันมาก
3.โรคเท้าเหม็น
ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรียแกรมบวก เห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ ที่เท้า บางครั้งเห็นเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ ที่ฝ่าเท้า มีน้ำเหลืองซึม และเท้ามีกลิ่นเหม็นมาก เวลาถอดถุงเท้านอกจากได้กลิ่นเหม็นแล้ว ยังรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้าแบคทีเรียบางตัว เช่น Aeromonas hydrophila อาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลามทั้งเท้าและขาจนถึงขั้นเสียชีวิต
4.โรคพยาธิ
การเดินย่ำน้ำเฉอะแฉะยังเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิ ที่พบได้บ่อยคือโรคพยาธิปากขอ ซึ่งทำให้เกิดโรคโลหิตจาง
5.โรคฉี่หนู
มีอาการเป็นไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดและถึงแก่กรรม
6.ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ
7.อันตรายอีกอย่างที่มักพบในช่วงฤดูฝน
คือ การถูกแมงกะพรุนไฟ เพราะมักมีชุกชุมในท้องทะเลทุกแห่งของไทย โดยเฉพาะหลังมีพายุฝนฟ้าคะนอง แผลจากการถูกแมงกะพรุนไฟรักษายากมาก และมักทิ้งแผลเป็นไว้ตลอดชีวิต
- ชาวกรุงเทพฯ หลายคนไม่รู้ถึงอันตรายของแมงกะพรุนไฟ แต่ชาวประมงรู้ถึงอันตรายนี้ดี พบว่าถ้าผู้ป่วยที่ถูกแมงกะพรุนไฟที่หน้าหรือที่ขาจะทำให้เสียโฉม โดยเฉพาะเด็กที่เล่นเรือกล้วยหอมแล้วถูกสะบัดให้ตกเรือ จึงขอแนะนำให้ว่ายน้ำในสระริมทะเลแทนการว่ายน้ำในทะเล
- ถ้าถูกแมงกะพรุนไฟต้องรีบขึ้นจากน้ำ เพราะอาจแพ้พิษถึงขั้นจมน้ำตายได้ และห้ามใช้น้ำจืดหรือแอลกอฮอล์ราดแผลเพราะกระเปราะพิษจะยิ่งแตก อาจใช้น้ำทะเลล้างแผล แล้วใช้บัตรแข็งขูดกระเปราะพิษออกแล้วรีบไปพบแพทย์
ป้องกันโรคติดเชื้อ
การหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อที่อาจถ่ายทอดจากการเดินย่ำน้ำสกปรก ดังนี้
- สวมรองเท้าบู๊ตกันน้ำให้มิดชิด
- ถ้าจำเป็นต้องใส่ถุงเท้าไปทำงาน ไม่ควรเลือกถุงเท้าที่หนาและคับเกินไป
- ล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำเปล่าจนสะอาดและซับแห้งทุกครั้งที่เดินย่ำน้ำ
- หากอยู่ในเวลาพักผ่อน ควรสวมรองเท้าแตะเพื่อให้เท้าแห้งจะลดการติดเชื้อราของเท้า
- ไม่ควรนุ่งกางเกงที่หนา (เช่น กางเกงยีน) เพราะจะชื้นแฉะง่ายและเกิดการลุกลามของเชื้อราที่เท้ามายังขาหนีบเกิดเป็นโรคสังคังขึ้น
- นอกจากนี้ กางเกงยีนยังทำให้เกิดความอับชื้น และเกิดกลิ่นเหม็นของอวัยวะสืบพันธุ์ได้ เพราะตำแหน่งนี้มีต่อมเหงื่อที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว เช่นเดียวกับที่รักแร้
- เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคเชื้อราที่เท้าและขาหนีบพบได้ค่อนข้างน้อยในประเทศเพื่อนบ้าน (เช่น พม่า) ทั้งที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงกับไทย เพราะชาวพม่านิยมใส่รองเท้าแตะทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอไม่อับชื้น ทำให้ไม่ค่อยเป็นเชื้อราที่เท้า และการนุ่งโสร่งและไม่สวมกางเกงในก็ทำให้ผิวที่ขาหนีบไม่อับชื้น จึงไม่ค่อยเป็นสังคัง
- ส่วนชาวตะวันตกเป็นเชื้อราที่เท้าและขาหนีบได้บ่อย เพราะมักใส่ถุงเท้ารองเท้าอยู่เสมอ เคยเห็นเพื่อนฝรั่ง อเมริกันนอนโดยไม่ถอดถุงเท้ารองเท้าด้วย
หมอฝรั่งจึงมีคำแนะนำให้สวมถุงเท้าก่อนสวมกางเกงใน เพื่อลดการติดเชื้อราจากเท้าไปสู่ขาหนีบ