กว่า Amsterdam จะเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับจักรยาน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
เห็นข่าวเศร้าเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนของคนปั่นจักรยานในบ้านเรา ทำให้เรารู้สึกเศร้าใจและแปลกใจผสมกัน ความแปลกใจในที่นี้เกิดขึ้นจากคำถามว่า ทำไมถนนใน Amsterdam ถึงได้มีการจัดระบบการคมนาคมบนถนนได้มีประสิทธิภาพ ครองอันดับ 1 เมืองสวรรค์สำหรับนักปั่นมายาวนานหลายปี
และเมื่อลงไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจว่าประชาชนชาว Amsterdam เองไม่ได้นั่งๆนอนๆรอให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เกิดจากความพยายามและความร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ไม่ต้องไปถึงประเทศ Netherlands หลายคนน่าจะพอนึกภาพเมืองชิวๆ สบายๆ ที่มีคนปั่นจักรยานทั่วท้องถนน เรียกว่าเป็นยานพาหนะหลักก็ไม่ผิด ทั่วเมืองล้อมรอบไปด้วย Bicycle Lane วัยรุ่นหนุ่มสาว ผู้ใหญ่คนทำงาน หรือแม้แต่เด็กและคนแก่ ต่างก็ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะหลักกันอย่างสบายใจ แต่ถ้าย้อนไปดูลึกๆถึงที่มาที่ไป มันไม่ใช่แบบนั้นครับ
รายงานส่วนหนึ่งจาก theguardian บอกว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศนี้ก็มีจำนวนคนปั่นจักรยานเยอะอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงปี 1950s – 1960s เป็นยุคที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ผู้คนต่างมีเงินซื้อรถยนต์กันเยอะขึ้น (เหมือนบ้านเราตอนนี้เป๊ะ) จึงมีการสร้างถนนให้รองรับรถเครื่องมากขึ้นทั่วเมือง Amsterdam ในยุคนั้นจำนวนคนปั่นจักรยานมีน้อยลงเรื่อยๆ ประมาณ 6% ทุกปี แนวโน้มอาจจถึงขั้นทำให้จักรยานปั่นบนถนนหลักไม่ได้เลยทีเดียว
แต่รถยนต์หรือรถเครื่องก็มาพร้อมกับอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงมากกว่า เห็นได้ชัดจากสถิติผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ไปแตะสูงสุดถึง 3,300 รายในปี 1971 ในจำนวนนี้เป็นเด็กมากถึง 400 ราย ทำให้ประชาชนเริ่มไม่อยู่เฉย รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนถนนสำหรับจักรยานชื่อกลุ่ม “Stop de Kindermoord” หรือแปลเป็นไทยว่า “หยุดฆาตกรรมเด็ก” มีผู้นำสตรีคนแรกที่นับว่าเป็นตัวตั้งตัวตีชื่อ “Maartje van Putten”
Maartje van Putten ทนเห็นเด็กๆ ต้องเสียชีวิตจากการโดนรถชนไม่ได้ และไม่อยากให้ถนนในเมืองกลายเป็นที่สำหรับรถยนต์ผ่าน จากที่เคยเป็นถนนสำหรับคนในชุมชนได้พบปะพูดคุยกัน คนจำนวนมากเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ จึงเข้าร่วมกับ Stop de Kindermoord และเริ่มทำการประท้วงอย่างสันติและน่ารักในรูปแบบต่างๆ เช่นการทวงคืนถนนให้คนได้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ เอาโต๊ะ เก้าอี้มาวางเพื่อทานอาหารร่วมกัน ให้เด็กๆได้ออกมาวิ่งเล่นอย่างปลอดภัย โดยมีตำรวจให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมถึงการรวมตัวกันปั่นจักรยานไปร้องเพลงหน้ารัฐสภา โดยมีเนื้อหาเพื่อทวงคืนถนนที่ปลอดภัยสำหรับนักปั่นจักรยานและคนในชุมชน และทำให้มีกลุ่มสนับสนุนเกิดขึ้นอีกมาก ที่ใหญ่หน่อยก็ “The First Only Real Dutch Cyclists Union” ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สำหรับจักรยานโดยเฉพาะ
เหมือนสวรรค์เป็นใจ ผ่านไป 2 ปี เข้าสู่ปี 1973 เป็นยุคที่ประเทศค้าน้ำมันลดการส่งออกน้ำมันให้หลายประเทศ รวมถึง Netherlands ด้วย ทำให้นายกรัฐมนตรี Joop den Uyl หันมาเห็นข้อดีข้องามของจักรยาน ประกาศชักชวนให้ประชาชนหันกลับมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ภายใต้ Car-Free Sundays policy ให้คนออกมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมบนท้องถนนได้แบบไม่ต้องระวังรถยนต์ จุดนี้เป็นจุดเริ่มทำให้รัฐบาลเริ่มคิดใหม่ว่า จักรยานดูจะเหมาะกับบ้านเรามากกว่านะ จึงเริ่มมีการวางแผนสร้างถนนที่ปลอดภัยสำหรับจักรยานอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อมีถนนที่ปลอดภัย คนจึงเริ่มกลับมาขี่จักรยานกันมากขึ้น ทีละคน สองคน สามคน ไปจนถึงเมืองข้างเคียง และกลายมาเป็นแบบวัฒนธรรมถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันประเทศ Netherlands มีถนนสำหรับจักรยานเป็นระยะทางรวมประมาณ 35,000 กิโลเมตร มีสถิติว่าประชาชนในเมือง Amsterdam ใช้จักรยานเดินทางมากถึง 38% ของการเดินทางทั้งหมด เมื่อหันกลับมาดูบ้านเราแล้ว Bicycle Lane เล็กๆข้างฟุตบาท ที่มักจะมีรถ Taxi, 3 ล้อ, รถเมล์ และอีกสารพัดสิ่งจอดขวางเสมอ ยังไม่นับมอเตอร์ไซค์ที่คอยวิ่งโฉบไปเฉี่ยวมา ยิ่งทำให้เราคิดว่า คงต้องใช้เวลาอีกนานเหลือเกินกว่าบ้านเราจะมีความพร้อมแบบนี้ เพราะต่อให้มีนโยบายออกมาอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนก่อนเป็นสิ่งแรกคือพฤติกรรมและนิสัยการใช้ท้องถนนของพวกเรานี่แหละครับ
*** สรุปว่า กว่าอัมสเตอร์ดัมจะมีเลนสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานที่ปลอดภัยนั้นต้องกระตุ้นให้สังคมสำนึกถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง มีผู้นำในชุมชนและทุกระดับ โดยเฉพาะผู้นำสูงสุดของประเทศเข้าร่วม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายต้องให้ความร่วมมือด้วย เมื่อคนรู้สึกปลอดภัยแล้ว ถึงจะเกิดวัฒนธรรมขับขี่จักรยานเช่นนี้ ***