การเตรียมและฝึกควายไถนา
กระบือปลักไทย หรือ “ควาย” เป็นพันธุ์สัตว์พื้นเมืองที่มีค่ายิ่งของประเทศไทย ชาวนาใช้ควายเป็นแรงงานในการทำนาทุกกระบวนการ ตั้งแต่ การไถเตรียมดิน ใช้มูลเป็นปุ๋ย เป็นพาหนะเทียมเกวียนบรรทุกของไปนา นวดข้าว บรรทุกข้าวกลับมาบ้าน ดังนั้น ชาวนาสมัยก่อนจึงมีความผูกพันกับควาย เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว ควายเป็นสัตว์ที่เชื่องสามารถฝึกใช้งานได้ง่าย ประกอบกับควายปลักไทยมีลักษณะพิเศษ ซึ่งเหมาะในการใช้แรงงาน คือกีบเท้าใหญ่และแข็งแรง ร่างบึกบึน ไม่สูงโปร่ง ทำให้มีกำลังในการฉุดลากถึง 0.87 แรงม้า ใช้งานได้ทุกสภาพ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องเตรียมฝึกทั้งคนและ ควาย สำหรับการเตรียมควายก่อนการใช้งาน เพื่อให้ควายรู้ภาษาของการบังคับ เช่น สั่งหยุด เดิน เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือสั่งถอยหลัง และฝึกบังคับควายด้วยเชือกและใช้เชือกและคำสั่งเป็นภาษาบังคับ ดังนี้
การบังคับควายด้วยเชือก เชือกจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการบังคับควายให้หยุด เลี้ยวซ้าย-ขวา ในขั้นตอนแรกจะต้องเลือกกระบือให้พร้อม คือ
อายุและขนาดที่เหมาะสม อายุของควายที่จะทำการฝึกควรมีอายุระหว่าง 2-3 ปี ซึ่งควายจะเริ่มมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง สามารถฉุดลากไถได้ แต่ถ้าหากฝึกควายที่มีขนาดใหญ่เกินไปจะทำให้การบังคับควายนั้นยากขึ้น
มีรูปร่างลักษณะดี ข้อขาและกีบแข็งแรง มีลักษณะการเดินดี คือ การก้าวขาหลัง ควรจะก้าวข้ามรอยของขาหน้า
การสนสะพายและการผูกเชือก รอบคอ สนสะพายหมายถึง การใช้เชือกร้อยผ่านระหว่างรูจมูกของควายอ้อมผ่านใต้ใบหูและผูกบริเวณด้านหน้าท้ายทอย ด้วยเงื่อนตายในความตึงหรือหย่อนของเชือกที่เหมาะสม
การผูกเชือกและการปล่อยควายเหยียบเชือก การผูกเชือกควายต้องผูกทางด้านซ้ายของควาย ซึ่งเชือกจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บังคับควาย การผูกเชือกครั้งแรกนี้ก็เพื่อให้ควายเกิดความเคยชินกับเชือก จะใช้เชือกที่มีความยาว 1.50-2.0 เมตร เพื่อให้ควายเหยียบโดยผูกแล้วปล่อยให้ควายลากเชือกประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อปล่อยได้ 3 วันควรมีการฝึกจูงสลับกับการปล่อยไปด้วย การเหยียบเชือกของควายจะเป็นการฝึกการดึงไปด้วย ในช่วงนี้ควายจะเจ็บจมูกบ้างและกินอาหารลำบาก ควรตรวจดูแผลตลอดจนตัดหญ้าสดเสริมด้วย
การฝึกจูง การจูงควาย หมายถึง การที่อยู่ด้านหน้าของควายแล้วดึงเชือกเพื่อให้ควายเดินหน้า ในการจูงไม่ควรยกระดับเชือกให้สูงเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ ระดับเอวของผู้จูง หลังจากจูงแล้วควรฝึกผูกล่ามเพื่อให้ควายแทะเล็มหญ้า
การฝึกบังคับให้ควายเลี้ยวซ้าย-ขวา เมื่อต้องการให้ควายเลี้ยวซ้ายขณะที่เดินตามหลังควาย จะใช้วิธีดึงเชือกเข้าหาตัวควายก็จะเลี้ยวซ้าย และถ้าหากต้องการให้ควายเลี้ยวขวา จะใช้วิธีการกระตุกเชือกเบาๆและถี่ๆ ควายก็จะเลี้ยวขวาตามที่ต้องการ
การบังคับควายหยุด การให้ควายหยุดขณะเดินตามหลังควาย จะใช้วิธีดึงเชือกแล้วส่งเสียงบอกให้ควายหยุด การเป็นภาษาทางอีสานจะใช้คำว่า ยอๆ ฝึกเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
การบังคับควายเดินหน้าและถอยหลัง นอกจากเราจะใช้วิธีการจูงให้ควายเดินหน้าแล้ว ขณะเมื่อเดินตามหลังควายก็สามารถใช้ไม้เรียวตีที่สะโพก หรือใช้เชือกที่ถืออยู่สะบัดให้ตีส่วนข้างของลำตัวควายได้ เมื่อต้องการให้ควายถอยหลังต้องจับสะพายควายทางด้านซ้ายและเดินไปด้านหน้าของควายหรือจับสะพายทั้ง 2 ข้างแล้วยกหัวควายขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับกระตุกเชือกสะพายส่งเสียงบอกให้ควายถอยหลัง
เมื่อควายเป็นเชือก (รู้ภาษาเชือก) ดีแล้ว จึงเริ่มการฝึกไถโดยนำควายมาเทียมไถ ใช้แอกใหญ่วางลงบนคอของควายแล้วมัดสายรัดคอให้พอดี ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป การฝึกลากครั้งแรกอาจใช้วิธีลากท่อนไม้ก่อน เพื่อให้ควายเกิดความเคยชินในการลากและการสัมผัสแอกใหญ่ซึ่งทำเช่นนี้ประมาณ 3 วันๆ ละ 30 นาที หลังจากนั้นจึง เทียมไถซึ่งจะต้องใช้คนจำนวน 2 คน คือคนที่ 1 ต้องจับสนสะพายจูงนำหน้าไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่ 2 จะเป็นคนจับหางไถ ในการฝึกช่วงแรกจะยังไม่ให้ไถปักลงในดิน โดยกดหางไถไว้ก่อนเพื่อให้ควายเกิดความเคยชินกับไถ เมื่อควายตื่นตกใจแล้วจะค่อยๆปักไถให้เข้าไปในเนื้อดิน และเมื่อควายเริ่มเดินได้ดี คนจูงต้องเปลี่ยนจากการจับสะพายมาใช้เชือกจูงแทน เมื่อควายเดินได้ดีแล้วจึงปล่อยเชือกให้ควายเดินเอง (คนที่จูงอาจเดินนำหน้าก่อนสักระยะหนึ่งก็ได้) โดยคนที่ถือหางไถจะเป็นคนบังคับควายให้เดินไปตายทิศทางที่ต้องการ คือเดินไปตามรอยไถเดิน ในวันแรกของการฝึกควรใช้เวลา 30 นาทีก่อนแล้วคอยเพิ่มเวลาให้มากขึ้นในวันต่อๆ มา
การฝึกควายไถนานั้นจะฝึกไถได้เร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของควายด้วย บางตัวอาจใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ แต่บางตัวอาจใช้เวลานานประมาณ 1-2 เดือน ปกติ แล้วควายจะมีแรงฉุดลาก 0.87 แรงม้า จะสามารถไถนาสังกะสีหรือยางนอกจักรยาน หัวหมูจะทำหน้าที่เป็นที่ยึดของใบไถเชื่อมกับไถ
อ้างอิงจาก วารสารข่าวปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์