ขนมจีน
ขนมจีน เป็นอาหารคาวอย่างหนึ่งประกอบด้วยเส้นเรียกว่า เส้นขนมจีนและน้ำยา หรือน้ำยาขนมจีน เป็นที่นิยมทุกท้องถิ่นของไทย แต่มีการปรุงน้ำยาแตกต่างกัน
แม้ว่า ขนมจีน จะมีคำว่า "ขนม" แต่ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับขนมใดๆ ขณะเดียวกัน แม้จะมีคำว่า "จีน" แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารของชาวจีน ขนมจีนชนิดหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกับขนม คือ ขนมจีนซาวน้ำ เพราะมีรสออกหวาน
ที่มาของขนมจีน
คำว่า "ขนมจีน" ไม่ใช่ของคนจีน แต่คำว่า "จีน" ที่ต่อท้ายขนมนี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากคนมอญซึ่งเรียกขนมจีนว่า "คนอมจิน" คุณพิศาล บุญปลูก คนรามัญผู้สนใจศึกษาอาหารและวัฒนธรรมมอญกล่าวว่า "จริง ๆ แล้ว ขนมจีนเป็นอาหารของคนมอญหรือรามัญ คนมอญเรียกขนมจีนว่า คนอมจิน คนอม หมายความว่าจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จินแปลว่าทำให้สุก " นอกจากนี้ "คนอม" นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำไทย "เข้าหนม" แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งภายหลังกร่อนเป็น "ขนม" จริง ๆ แล้ว ขนม ในความหมายดั้งเดิมจึงมิใช่ของหวานอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน ขนม หรือ หนม ในภาษาเขมร หรือ คนอม ในภาษามอญหมายถึงอาหารที่ทำจากแป้ง ดังนั้นขนมจีน จึงน่าจะเพี้ยนมาจาก คนอมจิน ซึ่งทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ ในสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณกาล
เส้นขนมจีนนั้นทำมาจากแป้งข้าวเจ้าโดยจะต้องนำแป้งข้าวเจ้ามาแช่น้ำให้นิ่มและนำไปโม่ก่อน แล้วนำแป้งข้าวเจ้าไปหมักในบ่อหมักประมาณเจ็ดวัน เมื่อหมักแล้วจึงนำมานวดในเครื่องนวดแป้ง นวดเสร็จก็นำเข้าเครื่องบีบเพื่อทำให้เป็นเส้นขนมจีน นำแป้งที่นวดแล้วเทใส่กระบอกทองเหลือง มีรูเจาะไว้ที่ปลายด้านหนึ่ง เมื่อกดแป้งเข้าไปในกระบอก เส้นขนมจีนก็จะไหลออกจากปลายกระบอก เป็นเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตร เส้นขนมจีนที่ได้มักจะจัดเรียงเอาไว้เป็นกลุ่มๆ ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ บางถิ่นเรียก จับ หรือ หัว เมื่อเรียงในจานสำหรับรับประทาน จะใส่ประมาณ 3-4 จับ
เมื่อได้เส้นแล้วก็นำไปต้มในน้ำร้อนที่เดือดจัดเพื่อทำความสะอาด แล้วนำมาราดด้วยน้ำสะอาดอีกทีหนึ่ง ก่อนที่จะนำเส้นไปจับเป็นจีบ โดยที่ตะกร้าขนมจีนจะต้องรองด้วยใบตองก่อนที่จะ นำขนมจีนมาวางใส่ ปัจจุบันมีการผลิตเส้นขนมจีนให้มีมากมายหลายสี
ภาคเหนือ เรียกว่า ขนมเส้น, ภาคอีสาน เรียกว่า ข้าวปุ้น, ภาคกลาง เรียกว่า ขนมจีน, ภาษาอังกฤษ เรียก Thai rice vermicelli (ไทย ไรซ เวิร์มมิแชลลี)
น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป เช่น น้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก น้ำแกง น้ำเงี้ยว แกงไตปลา ซาวน้ำ สำหรับเด็กก็ยังมี น้ำยาหวานที่ไม่มีรสเผ็ดและมีส่วนผสมของถั่ว เป็นต้น
เมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจานแล้ว ผู้รับประทานจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว ใช้ช้อนตัดเส้นขนมจีนให้มีความยาวพอดีคำ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำยา (บางท่านนิยมรับประทานขนมจีนกับน้ำปลารสดีก็ได้) นอกจากน้ำยาแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสด
ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต
ซ้ำขออภัยค่ะ