มารู้จักหมากหวานอินเดียที่พาหุรัดกัน?
pan หรือ paan ออกเสียงว่า ปาน แปลตามตัวคือใบพลู วัฒนธรรมการเคี้ยวหมากไม่ได้ถือกำเนิดที่อินเดีย แต่เริ่มมาจากประเทศในแถบอุษาอาคเนย์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์คิดว่าจะเป็นมาเลเซีย การเคี้ยวหมากมีในหลายประเทศมาก จากดินแดนชมพูทวีป อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ จนไปถึงไต้หวัน (หลายคนคงจะเคยได้ยินสาวน้อยขายหมากอันเลื่องชื่อ)
สำหรับใบพลูที่ได้รับการยอมรับว่าสุดยอดที่มีชื่อเสียงของอินเดียมาจากเมืองพาราณสี และกัลกาต้า ซึ่งจะเห็นว่า 2 เมืองนี้อยู่คนไปทางตะวันออกของประเทศซึ่งอยู่ใกล้กับพม่าและไทยนั่นเอง เท่าที่เคยเห็นหมากที่คนไทย คนลาว คนเขมร หรือเวียดนามเคี้ยว ซึ่งแทบจะเหมือนกันในเรื่องขององค์ประกอบ ที่มีใบพลู เนื้อหมาก ปูนขาวหรือปูนแดง สีเสียด ใบยาสูบหั่นฝอย) ส่วนของอินเดีย (และเข้าใจว่ารวมถึงปากีสถาน บังคลาเทศ และพม่า) จะมีองค์ประกอบที่คล้ายกัน ซึ่งจะมีส่วนผสมอย่างอื่นเพิ่มเข้าไปอีกเช่น เม็ดยี่หร่าให้ความหอม ชะเอม และหากเป็นหมากหวานก็จะใส่พวกมะพร้าวอบแห้ง หรือผลไม้อบแห้งแม้แต่เชอรี่เชื่อม หมากเมาแบบใส่ยาเส้น และหมากหวานก็เคี้ยวจะละเอียดแล้วกลืนลงท้องได้เลย ไม่มีน้ำแดงๆ เป็นเหมือนยาสมุนไพร ช่วยย่อย ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เขาว่าไว้อย่างนั้นครับ ส่วนใหญ่จะกินกันหลังกินอาหาร คงจะเทียบได้กับ After Mint ของฝรั่ง