เบื้องหลังเทคนิคพิเศษที่ทำให้เจ้าหุ่นกล่องสี่เหลี่ยมมีชีวิตในหนัง Interstellar
ในช่วงที่คริสโตเฟอร์ โนแลนกำลังกำกับหนัง Interstellar เขาเอาโมเดลหุ่นยนต์ที่ใช้เป็นตัวละครในหนังให้ลูกๆเขาดู ปรากฏว่าลูกๆของเขาสุดแสนจะผิดหวังพร้อมทั้งบอกโนแลนผู้เป็นพ่อว่า"นี่มันไม่ใช่หุ่นยนต์มันเป็นกล่องต่างหาก" ซึ่งก็ถือว่าจริงถ้าหากเอาโมเดลหุ่นที่ว่านี้ไปให้ใครต่อใครที่ยังไม่ได้ดูหนัง Interstellar และถามว่านี่คืออะไร? ร้อยทั้งร้อยก็เห็นเป็นแค่กล่องเหล็กครับ แต่หลังจากที่ลูกๆของโนแลนได้ลองเล่นและขยับเขยื้อนโมเดลหุ่นกล่องสี่เหลี่ยมในฟังก์ชั่นการทำงานรูปแบบต่างๆ ปรากฏว่าพวกเขาเริ่มทึ่งในรูปแบบการทำงานของเจ้าหุ่นกล่องสี่เหลี่ยมนี้ครับ
หุ่นยนต์ในหนัง Interstellar ได้รับการออกแบบตามความฝันของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลนร่วมกับนาธาน คลอว์รี่ย์ ซึ่งดูๆไปก็เป็นแค่กล่องเหล็กสี่เหลี่ยมธรรมดา ตอนที่ผมดูตัวอย่างผมไม่รู้เลยว่ามันเป็นหุ่นยนต์ ในตอนนั้นผมคิดว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ในการสำรวจดวงดาวเท่านั้น ในหนังจะมีหุ่น 2 ตัว โดยหุ่นตัวหลักของเรื่องคือ TARS(ชื่อของเขาไม่ได้มีความหมายย่อมากจากอะไรทั้งสิ้นครับ) มีลักษณะนิสัยช่างพูดและชอบแสดงความเห็นโต้ตอบกับตัวละครและ CASE หุ่นที่ไม่ค่อยพูดและเน้นทำมากกว่า ทั้ง 2 เป็นหุ่นที่คอยให้ความช่วยเหลือตัวเอกตลอดทั้งเรื่องในยามที่เกิดสถานการณ์คับขันครับ
เกริ่นมาซะยาว ทีนี้เราลองมาดูเบื้องหลังการทำงานของหุ่นยนต์ในโหมดต่างๆกันดูครับ
โหมดพัก
โหมดเดินแบบค้ำยัน
โหมดเดิน 2 ขา
โหมดเคลื่อนที่เร็ว(ก็คือวิ่งนั่นแหละ)
ข้อมูลทางกายภาพ
การเคลื่อนที่ | ทารส์ เป็นหุ่นที่มีรูปร่างเหมือนแท่งช็อคโกแล็ตคิท-แคท เขามีส่วนที่ดูเหมือนเป็นแท่งเหล็ก 4 แท่งประกอบเป็นร่างกายและสามารถเปิดโหมดเดิน 2 ขาได้เหมือนมนุษย์โดยใช้ส่วนที่เป็นแท่งเหล็กซ้ายขวาเป็นขาในการเดินหรือการเคลื่อนที่โหมดไม้ค้ำยันที่ใช้หลักการของกรรไกร รวมทั้งโหมดเคลื่อนที่เร็วโดยเปลี่ยนลำตัวด้านในเป็นขาอีก 2 ขาทำให้เคลื่อนที่ต่อเนื่องไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วด้วยขาทั้ง 4
แขนและขา | เมื่อหุ่นอยู่ในโหมดพัก ขาและนิ้วของหุ่นจะประกบติดกันจนแนบสนิทจนดูเป็นกล่องเหล็กสี่เหลี่ยม แต่หุ่นก็มีแขนเหล็กที่ใช้หยิบจับอะไรก็ได้ตามที่หุ่นต้องการ
บุคลิกภาพ | ตลอดทั้งเรื่องที่มีเนื้อหาที่ค่อนข้างซีเรียส แต่ผู้ชมอย่างเราจะได้รับความผ่อนคลายจากตัวละครตัวนี้ครับ ในการรับบทเบื้องหลังหุ่น TARS โดยบิล เออร์วิน เขาบอกว่าตัวละครตัวนี้เปรียบได้กับอะไรบางอย่างที่อยู่ระหว่างการเป็นผู้บัญชาการทางทหารและครูฝึกในยิม
เทคนิคพิเศษ | สก็อต ฟิชเชอร์ ผู้รับหน้าที่ดูแลเทคนิคพิเศษเบื้องหลังของหุ่นยนต์ในเรื่องบอกว่าในงานสร้างของหนังเรื่องนี้ใช้หุ่นทั้งหมด 8 ตัวและฉากทั้งหมด 80% ของหุ่นในหนังเป็นการถ่ายทำจริงๆโดยที่ไม่ใช้ CG โดยเขาให้เหตุผลว่าถ้าหากใช้ CG เข้าช่วยผู้ชมจะรู้ทันทีว่าเป็น CG หลอกๆ แต่ก็มีฉากที่ใช้ CG เข้าช่วยอย่างฉากที่หุ่น CASE ลุยน้ำด้วยโหมดเคลื่อนที่เร็วเพื่อไปช่วยดอคเตอร์แบรนท์
วัสดุ | ตัวหุ่นที่ใช้ในการถ่ายทำมีน้ำหนักเกือบๆ 200 ปอนด์(ราวๆ 90 กิโลกรัม) โครงเหล็กภายในของหุ่นทำมาจากอลูมิเนียมและมีผิวภายนอกเป็นสแตนเลส ใช้เวลาในการสร้าง 6 อาทิตย์ด้วยต้นทุนประมาณ 20,000 เหรียญ แต่ถ้าเป็นหุ่นจริงๆแล้วล่ะก็ ทางฟิชเชอร์บอกว่ามันจะมากกว่านั้นหลายเท่าเลยครับ
การปฏิบัติการ | คุณจะต้องทึ่งเมื่อรู้ว่าเสียงของเจ้าหุ่นทารส์ไม่ได้ถูกพากย์หลังจากที่ถ่ายทำเสร็จ แต่เป็นการพากย์เสียงในขณะเข้าฉากร่วมกับนักแสดงเลยครับ นั่นทำให้การสื่ออารมณ์โต้ตอบของหุ่นและนักแสดงเป็นไปอย่างลื่นไหลสุดๆ โดยในขณะที่เข้าฉากแสดง เออร์วินจะอยู่ข้างหลังหุ่นทารส์พร้อมทั้งควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นและพากย์เสียงโต้ตอบนักแสดงไปด้วย ทีมเทคนิคพิเศษจะลบเขาออกไปในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ส่วนที่ยากที่สุดคือตอนที่ถ่ายทำฉากบนผืนน้ำ เออร์วินจะต้องควบคุมหุ่น พากย์เสียงในขณะที่อยู่บนน้ำและด้วยเพราะชิ้นส่วนของหุ่นเป็นเหล็ก เมื่อโดนน้ำทำให้เกิดความเสียหายจนทีมงานต้องซ่อมประกอบชิ้นส่วนกันใหม่ครับ
ใบหน้าของหุ่น | หุ่นในเรื่องจะไม่มีใบหน้า มีเพียงหน้าจอและข้อความใช้โต้ตอบเท่านั้น พอล แฟรงคิน ผู้ดูแลเทคนิคพิเศษอีกคนหนึ่งบอกว่าทางนักแสดงจะต้องช่วยเหลือตัวเองในสื่อสารกับหุ่นอย่างเป็นธรรมชาติแม้ว่าหุ่นจะไม่มีใบหน้า แต่แม้ว่าทางทีมงานพยายามที่จะลดความเป็นมนุษย์ในหุ่นลงไปมากที่สุดแล้ว ผู้ชมก็ยังคงมองหาหน้าใบหน้าของหุ่นครับ
มาลองดูเบื้องหลังงานสร้างในหนังกันดูบ้าง
ฉากหุ่นออกมาจากยาน ฉากนี้ถ่ายทำกันในไอซ์แลนด์
©2014 WARNER BROS. ENTERTAINMENT INC. AND PARAMOUNT PICTURES CORPORATION. ALL RIGHTS RESERVED.
"พวกเขา(หุ่น)มีชีวิตเพื่อรับใช้ภารกิจนี้ พวกเขารู้ว่าพอที่จะช่วยเหลือได้ แต่พวกเขาก็ยังเข้าใกล้ความฉลาดและจิตวิญญาณของมนุษย์"- บิล เออร์วิน นักแสดงผู้ให้เสียงและควบคุมหุ่นทารส์
©2014 WARNER BROS. ENTERTAINMENT INC. AND PARAMOUNT PICTURES CORPORATION. ALL RIGHTS RESERVED.
บิล เออร์วิน ทำงานร่วมกับหุ่นในฉากที่ถ่ายทำกันในไอซ์แลนด์
©2014 WARNER BROS. ENTERTAINMENT INC. AND PARAMOUNT PICTURES CORPORATION. ALL RIGHTS RESERVED.
แม้ว่าหุ่นจะดูไม่เหมือนมนุษย์ แต่นักแสดงในเรื่องจะโฟกัสไปที่หน้าจอเวลาที่สนทนากับหุ่น
©2014 WARNER BROS. ENTERTAINMENT INC. AND PARAMOUNT PICTURES CORPORATION. ALL RIGHTS RESERVED.
โครงของหุ่นเป็นอลูมิเนียมและสแตนเลสพร้อมทั้งแผงควบคุมด้านหลัง ด้วยโลหะขนาดนี้ทำให้หุ่นหนักราวๆ 200 ปอนด์
©2014 WARNER BROS. ENTERTAINMENT INC. AND PARAMOUNT PICTURES CORPORATION. ALL RIGHTS RESERVED.
ทารส์อยู่ในห้องนักบินที่ยานกำลังจะทะยานขึ้น เขายังเป็นผู้ช่วยนักบินด้วยนะ
©2014 WARNER BROS. ENTERTAINMENT INC. AND PARAMOUNT PICTURES CORPORATION. ALL RIGHTS RESERVED.
ในขณะถ่ายทำกันที่ไอซ์แลนด์ ชิ้นส่วนของหุ่นได้รับความเสียหายจากแช่น้ำ ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมกันยกใหญ่