5 เหตุผลที่เมื่อผู้ใหญ่สูงวัยเล่นเน็ตโซเชียลมีเดียแล้วอันตรายกว่าเด็กและวัยรุ่น
1. ไม่มีประสบการณ์ถูกหลอกลวง
ผู้ใหญ่วัยเบบี้บูมเมอร์หรือฮิปปี้ในอดีต (60-70's) เติบโตมากับการรับสารทางเดียว และเป็นสารที่ถูกคัดกรองแล้วโดยรัฐหรือสำนักข่าว เมื่อมาพบกับข่าวสารที่ใครก็เขียนได้ในสมัยใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อไว้ก่อนโดยไม่ทันพิจารณาข้อเท็จจริง เพียงแค่มีแหล่งหรือบุคคลอ้างอิง(ซึ่งอาจจะไม่จริง) ก็เชื่อได้โดยง่าย ชาวเน็ตที่เล่นมาตั้งแต่สัยรุ่นจะพบเรื่องหลอกลวงเดิมซ้ำๆ จนรู้ทัน แต่ผู้ใหญ่ที่เพิ่งเล่นใหม่ๆ ท่านจะไม่รู้มาก่อนและคิดเอาเป็นจริงจัง โดยเฉพาะฟอเวิร์ดเมล์สุขภาพต่างๆ
2. ขาดภูมิต้านทานการล้อเลียน
วัยผู้ใหญ่จนถึงวัยชรานั้นต้องทำงานทำการจริงจัง บางครั้งก็ตามไม่ทันมุขตลกล้อเลียนหรือมีม (meme) ของสังคมอินเตอร์เน็ตยุคใหม่ บางครั้งก็ตีความตรงๆ เท่าที่เห็น ทำให้เกิดความเครียด ความโกรธ หรือไม่พอใจได้
3. รู้ไม่ทันภาพตัดต่อ
ภาพตัดต่อในอดีตนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทำในห้องมืดถ่ายภาพ ไม่แปลกที่ผู้สื่อสารที่สูงอายุเห็นภาพโฟโตช็อปหรือการแต่งภาพสมัยใหม่แล้วจะหลงเชื่อไปว่ามีสิ่งที่เกิดขึ้นตามภาพแต่งจริงๆ ตั้งแต่ภาพอภินิหาร ไปจนถึงภาพหนุ่มสาวแต่งแอ็พให้ดูดี
4. มีเครือข่ายแพร่ความเข้าใจผิดกว้างขวาง
เมื่อผู้ใหญ่หันมาเล่นเน็ตและโซเชียลมีเดีย ก็มักจะมาพร้อมกับสังคมเพื่อนโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเก่าสมัยยังเรียนหรือในที่ทำงาน พร้อมที่จะส่งข้อความ ข้อมูล ข่าว ผิดๆ ให้แพร่กระจายไปได้เร็วกว่าเด็กและวัยรุ่นที่มีกลุ่มคนรู้จักแคบกว่า
5. มีอำนาจเงินและตำแหน่งที่จะใช้ทำตามความหลอกลวงเข้าใจผิด
เพราะว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบมีคนนับถือ หรือมีกำลังทรัพย์มากแล้วที่สะสมมา เมื่อหลงเชื่อเข้าใจผิดสิ่งใด ก็พร้อมจะทุ่มเทใช้เงินทองหรืออำนาจสั่งการ ทำตามความคิดของตัวเองโดยดื้อรั้นไม่ฟังคนทักท้วงได้ง่าย และอาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าเด็กหลายเท่านัก
บุตรหลานผู้ใดมีผู้ใหญ่ในบ้านหัดเล่นเน็ตเล่นโซเชียล จึงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ระมัดระวังการเล่นเน็ตของผู้ใหญ่ผู้อาวุโส เพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าวไปด้วยกัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการต้องห่วงใยการใช้เน็ตของเด็กและวัยรุ่นเลย
Theerapat Charoensuk