หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ถนนในญี่ปุ่น...ทำไปปลอดภัย..แล้วเราละ??

โพสท์โดย ลูกสาวอบต

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความปลอดภัยทางถนนสูงมาก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2013 ระบุว่ามีคนญี่ปุ่นตายบนถนน 5.2 รายต่อประชากรแสนคน ส่วนบ้านเราตาย 38.1 รายต่อประชากรแสนคน ว่ากันกลมๆ ก็คือบ้านเค้าปลอดภัยกว่าบ้านเราประมาณ 7 เท่า

 

ผมมาอยู่ที่นี่ได้หนึ่งปีเต็ม ถึงแม้จะไม่ได้เรียนเรื่องนี้โดยตรง แต่มันก็อยู่ในสายเลือดไปแล้ว แต่ละวันก็ได้แต่เฝ้าสังเกตสังกาว่าทำไมที่นี่ถึงเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในลำดับต้นๆ ของโลก สิ่งไหนที่น่าสนใจก็อยากจะถ่ายทอดเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับบ้านเราบ้าง

 

7 ข้อต่อไปนี้คือสิ่งที่น่าท้าทายว่ามันจะเกิดขึ้นในบ้านเราเมืองเราได้หรือไม่

 

1. ใบขับขี่

 

ผมไม่ได้สอบใบขับขี่เพราะใช้จักรยานกับรถไฟ/รถเมล์เป็นหลัก ได้แต่แอบครูพักลักจำจากเพื่อนและอินเตอร์เนท ทำให้รู้ว่าการสอบใบขับขี่ที่นี่ยากมากถึงยากที่สุด สำหรับคนต่างชาติที่อยากได้ใบขับขี่ที่ญี่ปุ่นจะมี 25 ประเทศที่ไม่ต้องสอบ ส่วนประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะต้องสอบ (ก็แหงล่ะ) ซึ่งก็มีทั้งสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ สอบข้อเขียนนั้นไม่เท่าไหร่ แต่จะมาพังกันตอนสอบขับขี่ บางคนที่เน้นความชัวร์ก็ต้องลงเรียนเป็นเรื่องเป็นราวกับโรงเรียนสอนขับรถก่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายแพงมาก ส่วนรายละเอียดของแต่ละสนามทดสอบก็จะมีอุปสรรคยากง่ายแตกต่างกันไป (รายละเอียดการสอบใบขับขี่ที่ญี่ปุ่นสามารถดูได้จากวีดีโอชุดนี้ครับ http://www.youtube.com/user/urawaucd/videos) ถ้าเราทำผิดหลักจะตกทันที แต่ถ้าทำผิดย่อยก็ต้องไปลุ้นผลหลังสอบปฏิบัติเสร็จ เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าสอบข้อเขียนจะมีคนผ่านประมาณ 80% แต่สอบปฏิบัติจะมีคนผ่านน้อยมาก (40% ในฮอกไกโด 35% ในโตเกียว และ 20% ในนาโงย่า) เพื่อนผมเคยกดไป 6 รอบ เพราะทำผิดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ช่วงนั่งรอในห้องประกาศผลจึงไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นคนลุ้นกันตัวโก่งและกระโดดดีใจเมื่อรู้ว่าตัวเองสอบใบขับขี่ผ่านแล้ว

 

ความเป็นไปได้ในบ้านเรา

 

ผมได้ใบขับขี่รถยนต์มาด้วยการเดินหน้าถอยหลังเข้าซอง ตอนนั้นรู้สึกดีมากเพราะเป็นการสอบที่ง่าย แต่มารู้ตัวอีกทีว่าตัวเองจะต้องขับรถให้ปลอดภัยเป็นจริงเป็นจังก็หลังจากนั้น 4 ปี หลังจากเสียคนในครอบครัวไปจากอุบัติเหตุทางถนนแล้ว

 

หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการออกใบขับขี่ในบ้านเราคือกรมการขนส่งทางบก หลายต่อหลายคนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และมีโครงการที่จะยกระดับเรื่องใบขับขี่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเหมือนจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่สุดท้ายก็ยังหลุดออกจากอุโมงค์ไม่ได้ เพราะหลายต่อหลายนโยบายนั้นเอื้อให้การทำใบขับขี่นั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น ทำให้ตอนนี้ ขบ. อยู่บนทางสองแพ่งที่ว่า “จะเน้นบริการให้มีใบขับขี่ได้สะดวกขึ้น” หรือ “จะเน้นคุณภาพให้ผู้ขับขี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ถ้าผู้บริหารเลือกอย่างหลังและทนเสียงกรนด่าได้เมื่อไหร่ เราคงจะได้มาคุยเรื่องนี้กันอีกยาวครับ

 

2. ระบบขนส่งสาธารณะ

 

การย้ายคนบนถนนให้ไปอยู่บนรางเป็นวิธีทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างรถไฟชินคันเซ็นให้บริการมาแล้วเกือบ 50 ปี ไม่เคยมีคนเสียชีวิตจากการเดินรถเลย (เรื่องระบบรางคงจะได้มาคุยกันยาวๆอีกครั้ง) ส่วนเรื่องที่อยากจะเน้นคือรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งบนถนน ทั้งรถบัส/รถเมล์/รถตู้ ที่ญี่ปุ่นคนขับรถสาธารณะเป็นอาชีพที่มีเกียรติและจะต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารเป็นสำคัญ ผมเคยนั่งเบาะหลังคนขับของรถบัสระหว่างเมืองและแอบสังเกตพฤติกรรมของคนขับดู เค้าเคร่งครัดกับกฎจราจรมาก ป้ายความเร็วจำกัดบอก 80 ก็ขับ 80 ขับแซงเสร็จแล้วเข้าเลนซ้าย ซึ่งผมแอบคิดเองว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถสาธารณะบ้านเค้ามีความปลอดภัยก็คือ “การเดินรถตามตารางเวลา” ฟังดูเหมือนจะไม่เกี่ยว แต่มันเกี่ยวเลยแหล่ะ เพราะการที่คนขับรถตามตารางเวลาว่าถึงป้ายไหนตอนกี่โมง หมายความว่าจะขับซิ่งไปก็ไม่มีประโยชน์ ถึงมาถึงป้ายเร็วเกินไปก็จะต้องจอดรอให้ตรงเวลา ต่างจากการขับซิ่งเพื่อแย่งผู้โดยสารหรือการจอดแช่ป้ายเพื่อดูดผู้โดยสารขึ้นให้ได้มากที่สุดเหมือนรถโดยสารบ้านเรา

 

แต่ใช่ว่ารถโดยสารที่ญี่ปุ่นจะปลอดภัยจนไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลยนะครับ เพราะเมื่อปีที่แล้วก็มีรถโดยสารคว่ำตายไป 7 คน แต่มันต่างจากบ้านเราตรงที่ประธานบริษัทถูกตำรวจจับและดำเนินคดีด้วย

 

ความเป็นไปได้ในบ้านเรา

 

ในภาพรวมเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะ แผนพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงปีพ.ศ.2500 เน้นการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหลัก ทำให้ระบบขนส่งมวลชนค่อยๆถูกเบียดออกจากถนน ซ้ำร้ายถึงขนาดเบียดรถรางจนต้องยกเลิกการให้บริการไป แต่พอเวลาผ่านไป 30-40 ปีให้หลัง เรากลับหวนหาระบบขนส่งมวลชนเพื่อกลับมาแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพ (เรื่องระบบขนส่งสาธารณะคงจะได้คุยกันยาวๆในโอกาสถัดไป)

 

ส่วนในเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารนั้น เจ้าภาพหลักของเรื่องนี้คือกรมการขนส่งทางบก แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายเจ้ามีอำนาจต่อรองมากกว่าเจ้าภาพด้วยซ้ำ แม้จะมีบริษัทที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารอยู่บ้าง แต่ก็ถูกเจ้าอื่นๆ เหน็บว่าตนทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะสัมปทานสู้ไม่ได้ แต่ละคนที่กระโดดลงมาทำธุรกิจนี้ต่างก็หวังถึงผลกำไรในการประกอบการทั้งนั้น และเบื้องหลังก็เต็มไปด้วยเจ้าพ่อและมาเฟียที่พร้อมจะใช้พลังมืดหากตนเองเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้มียุทโธปกรณ์ใหม่ที่ชื่อว่า “รถตู้” เกิดขึ้นมาและกำลังระบาดทั่วประเทศ หลังจากเปิดสัมปทานไปแล้วก็ควบคุมได้ยากเพราะแต่ละเจ้ามีแบ็คทั้งนั้น ผมก็ได้แต่หวังว่ารถไฟจากโครงการสองล้านล้านจะเอามาเบียดรถพวกนี้ไปได้บ้าง แต่เปิดดูแล้วงบส่วนใหญ่เอาไปลงกับรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายรถไฟความเร็วต่ำก็ยังคงแหว่งๆไปไม่ถึงเมืองเล็ก ไม่สามารถเกิดเป็นโครงข่ายมาสู้กับถนนได้

 

สุดท้ายเมื่อรถโดยสารไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย คนไทยก็ซื้อรถขับกันดีกว่า

 

3. คนเดินเท้าและจักรยาน

 

จริงๆ แล้วคนเดินเท้าและจักรยานจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพียงแต่แยกเรื่องความปลอดภัยออกมาในแง่ของการเดินตามถนนและเดินข้ามถนน ซึ่งที่ญี่ปุ่น (รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทุกที่) คนกลุ่มนี้จะมีศักย์ใหญ่กว่าคนใช้รถ หมายความว่ารถต้องหยุดและให้ทางกับคนเดินเท้าเพื่อข้ามถนน

 

ทางเดินเท้าก็จะเป็นทางสำหรับคนเดินเท้าจริงๆ ไม่มีร้านค้ามาตั้งแผงขายของหรือมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางเดิน แม้จะเป็นถนนในชนบทก็มีการก่อสร้างทางเท้าไว้ด้วยเสมอ เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสะดวกแก่คนเดินเท้าและจักรยานก็คือการตัด curb (ขอบถนน) ทิ้ง หรือทำ curb ให้ต่ำบริเวณทางขึ้นลง ทำให้รถจักรยานหรือรถเข็นคนพิการสามารถขึ้นลงถนนได้อย่างสะดวก แล้วปรับช่องระบายน้ำให้เป็นรางแนวนอนที่ขอบผิวทางเอา ว่างๆจะถ่ายรูปมาให้ดูครับ

 

ด้วยความที่มีศักย์และสิทธิมากกว่าผู้ใช้รถยนต์ รวมถึงการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย ทำให้คนเดินเท้าและจักรยานมีความปลอดภัยมากในประเทศญี่ปุ่น

 

ความเป็นไปได้ในบ้านเรา

 

จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันของเราต้องมีซักช่วงหนึ่งของวันที่เราเป็นคนเดินเท้า แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคและทำให้บ้านเราแก้ปัญหานี้ได้ยาก คือ คนที่ได้ประโยชน์กับคนที่เสียประโยชน์เป็นคนเดียวกัน เราบ่นว่าเค้าขายของขวางทาง แต่เราก็ยังซื้อของจากเค้า จะให้เทศกิจหรือตำรวจไปจับไปรื้อตอนนี้ก็สายเสียแล้ว เพราะเค้าก็จะรวมกลุ่มเข้าไปพบผู้ว่าหรือนายกเล็กหาว่าตำรวจรังแกประชาชน ของที่ขายก็เป็นของสุจริตไม่ได้ไปขายยาบ้ายาอีซะหน่อย พอผ่อนผันไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ทำมาหากินของฉันเลย สุดท้ายคนเดินเท้า (ที่ไม่ได้จะมาซื้อของ) ก็ต้องลงไปเดินบนถนนเสี่ยงต่อการถูกเฉี่ยวชน

 

วันไหนว่างๆ เวลาเราเดินบนทางเท้า ลองฝึกตั้งคำถามดูสิครับว่า ทำไมต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่บนทางเท้า ทำไมร้านค้าต้องตั้งขายของบนทางเท้าในเมื่อมันเป็นที่สาธารณะ ส่วนเมื่อเวลาเราขับรถอยู่ ลองถามตัวเองดูสิครับว่าทำไมเราถึงไม่ยอมจอดให้คนข้ามถนนที่ทางม้าลาย

 

4. ลำดับชั้นถนน

 

เรื่องนี้จะว่าไปก็เหมือนเปิดตำรามาพูด โครงข่ายถนนในประเทศญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาแล้วเค้าจะแบ่งตามลำดับชั้น ถนนระหว่างเมืองจะใหญ่/รถเยอะ/วิ่งได้เร็ว/จำกัดทางเข้าออก ถนนในเมืองจะเล็กลงมา/รถพอสมควร/วิ่งได้ช้าลง/เลี้ยวเข้าเลี้ยวออกได้บ้าง ถนนในพื้นที่อยู่อาศัยจะเล็กที่สุด/รถน้อย/วิ่งได้ช้า/เลี้ยวเข้าเลี้ยวออกได้ทุกที่ เปรียบเสมือนเส้นเลือดในร่างกายที่มีเส้นเลือดใหญ่เส้นเลือดฝอย เปรียบเสมือนรากต้นไม้ที่มีรากแก้วรากฝอย เปรียบเสมือนลำน้ำที่มีแม่น้ำลำคลอง 

 

พอถนนเป็นลำดับชั้นอย่างนี้แล้ว การบริหารจัดการจราจรก็จะง่าย ถนนระหว่างเมืองไม่มีทางแยกไม่มียูเทิร์นไม่มีคนเดินข้าม ถนนในเมืองมีแยกไฟแดง ถนนในที่อยู่อาศัยมีแค่ป้ายหยุด เป็นต้น ความปลอดภัยก็จะบังเกิดขึ้น

 

ความเป็นไปได้ในบ้านเรา

 

หน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องถนนในบ้านเราคือกรมทางหลวง/กรมทางหลวงชนบท/การทางพิเศษฯ/ท้องถิ่น ฯลฯ ถนนบ้านเรามีการจัดลำดับชั้นทั้งตามกฎหมายและตามแผน แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วทำตามตำราไม่ได้ มีเพียงเส้นมอเตอร์เวย์สาย 7 ที่ใกล้เคียง ส่วนสาย 1 พหลโยธิน สาย 2 มิตรภาพ สาย 3 สุขุมวิท สาย 4 เพชรเกษม ถูกผ่าตัดเล็กผ่าตัดน้อยไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยรอบข้าง ถูกใส่ไฟแดง ถูกใส่ยูเทิร์น จนเสียความเป็นถนนระหว่างเมือง เมื่อรถเร็ว (+100 กม./ชม.) มาเจอกับรถช้า (0-5 กม./ชม.) เมื่อไหร่ ความปลอดภัยก็หมดลงทันที 

 

เมื่อมอเตอร์เวย์สู่ภูมิภาคมาเมื่อไหร่ เรื่องดังกล่าวน่าจะทุเลาขึ้น ส่วนเรื่องไฟแดงกับยูเทิร์นคงเป็นหนังชีวิตไปแล้ว ตอนนี้กินยาพาราเอาไม่อยู่ ต้องผ่าตัดใหญ่อย่างเดียว ทางออกคือไม่สะพานก็ทางลอด ส่วนจุดไหนที่งบยังมาไม่ถึงก็ต้องวัดใจกันเอาครับ

 

5. รถมอเตอร์ไซด์กับรถกระบะ

 

คงจะขำไม่ออกนะครับถ้าจะบอกว่ารถมอเตอร์ไซด์ 100-125 ซีซี ญี่ปุ่นทำแต่ญี่ปุ่นไม่ใช้ รถกระบะญี่ปุ่นทำแต่ญี่ปุ่นก็ไม่ใช้ และจะขำไม่ออกยิ่งกว่าถ้าจะบอกว่ารถสองประเภทนี้เป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนหนึ่งที่เยอะเพราะมันมีจำนวนมาก โอกาสเกิดมันก็เลยเยอะ แต่ส่วนหนึ่งคือเราเอามาใช้กันผิดที่ผิดทางด้วย

 

รถมอเตอร์ไซด์ที่คนญี่ปุ่นใช้ส่วนใหญ่เป็นรถขนาด 50 ซีซี วิ่งได้ไม่เกิน 30 กม./ชม. นั่งได้คนเดียว ผมแอบจับไต๋ได้ว่ารถขนาดกลางบ้านเราเอารถ 50 ซีซีที่นี่ไปขยายส่วนกันทั้งนั้น เช่น - Yamaha Vino 50 ซีซี ที่นี่ เอาไปขยายเป็น Yahama Fino 115 ซีซี ที่บ้านเรา 

- Honda Zoomer 50 ซีซี ที่นี่ เอาไปขยายเป็น Honda Zoomer-X 110 ซีซี ที่บ้านเรา (ไอ้คันที่ชอบมาเข้าโฆษณาฮอร์โมนน่ะ)

 

ส่วนรถกระบะขนของจะเป็นแบบรถสี่ล้อเล็กในบ้านเรา (ไว้จะถ่ายรูปมาให้ดูครับ) ห้ามคนนั่งด้านหลัง ส่วนรถกระบะแบบที่ขายดิบขายดีในบ้านเราไม่เคยเห็นที่นี่เลย แต่ถึงมีก็ห้ามคนนนั่งด้านหลัง

 

ความเป็นไปได้ในบ้านเรา

 

หมดสิทธิด้วยประการทั้งปวง เรามาไกลเกินกว่าที่จะแก้ไขเรื่องนี้แล้ว ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความปลอดภัย แต่เป็นทั้งเรื่องอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพราะประเทศเราเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะระดับโลก เป็นตลาดรถมอเตอร์ไซด์ที่สำคัญ คนต่างจังหวัดมีมอเตอร์ไซด์กันทุกบ้านโดยเฉพาะขนาดกลาง คนต่างจังหวัดซื้อรถกระบะเพราะนั่งได้หลายคน เทศกาลอะไรเราก็ใช้รถกระบะขนนู่นขนนี่กันหมด 

 

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คงมีแต่เพียงการบอกกล่าวให้กับคนใช้รถประเภทนี้ว่าคุณกำลังแบกความเสี่ยงอยู่ รถมอเตอร์ไซด์ขนาดกลางใช้ความเร็วได้สูงแต่เสถียรภาพต่ำกว่ามอเตอร์ไซด์ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ รถกระบะพอเอาคนไปไว้ด้านหลังจุดศูนย์ถ่วงมันก็สูงขึ้นเสถียรภาพก็ต่ำลง 

 

แต่ถ้าไม่ชัวร์จริงๆ อ่านข้อต่อไปดีกว่าครับ

 

6. Self Enforcing....น่าจะต้องมาจากจิตสำนึกละ

 

ผมมีประสบการณ์เรื่องบังคับใช้กฎหมายน้อยมาก ด้วยความที่ไม่ได้ขับรถเองและคนรู้จักก็ไม่มีใครเคยถูกจับปรับซักเท่าไหร่ แต่ก็สังเกตได้ว่าในเมืองที่ผมอยู่เจอตำรวจจราจรตามท้องถนนน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตำรวจไม่ต้องควบคุมสัญญาณไฟจราจร ไม่ต้องอำนวยความสะดวกช่วงเวลาเร่งด่วน และไม่ต้องตั้งด่านเหมือนบ้านเรา แต่ทั้งที่ไม่มีตำรวจ คนก็ยังขับรถตามกฎกันเป็นปกติ ใส่หมวกกันน็อค คาดเข็มขัด จอดที่ป้ายหยุด จอดให้คนข้าม จอดติดไฟแดงตอนตีสองคันเดียว เปิดไฟเลี้ยว ฯลฯ เรียกว่าวัฒนธรรมความปลอดภัยนั้นฝังอยู่ในสายเลือดกันเลย

 

ความเป็นไปได้ในบ้านเรา

 

ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ คำนี้ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มันเป็นเรื่องจริงที่สะท้อนว่าคนที่ทำตามกฎหมายกลายเป็นคนแปลก มีคนบอกว่าเรื่องความปลอดภัยทางถนนต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ผมเห็นด้วยครึ่งเดียว เพราะนั่นเป็นการผลักภาระไปให้เด็ก และตีความกลายๆได้ว่าฉันแก่แล้วนะ ฉันเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้หรอก ซึ่งผมมองว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ นี่แหล่ะควรจะทำพฤติกรรมดีๆ เป็นตัวอย่างให้เด็กดู

 

ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เราลองสำรวจพฤติกรรมในการใช้รถใช้ถนนของตัวเองดูสิครับว่าเราจะเป็นตัวอย่างดีๆ ให้กับลูกๆ หลานๆ ได้ไหม

 

- ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขี่/ซ้อนมอเตอร์ไซด์หรือไม่?

- จอดให้คนเดินข้ามที่ทางม้าลายหรือไม่?

- ทางหลวงระหว่างเมืองขับไม่เกิน 100 กม./ชม. หรือไม่? (กฎหมายบอก 90 กม./ชม. บวกอีก 10%)

- จอดพักทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือเปลี่ยนให้คนอื่นขับทันทีถ้าง่วงหรือไม่?

- นั่งรถแท็กซี่หรือให้คนอื่นขับรถเวลาจะไปกินเหล้าหรือไม่?

 

7. ดื่มอย่างรับผิดชอบ

 

เมาแล้วขับแม้จะยังไม่ได้ชนกับใครก็ตามก็ถือเป็นอาชญากรรมในญี่ปุ่น มีการเปรียบเปรยว่าคนดีถือปืนยังอันตรายน้อยกว่าคนเมาขับรถซะอีก ถ้าเผลอเมาแล้วขับที่นี่ถูกปรับหลังอานกันเลยทีเดียว

- เมาแล้วขับ (ยังไม่ชน) จำคุก 5 ปี หรือปรับประมาณ 300,000 บาท

- เอารถให้คนเมาขับ (รถเราแต่ให้เพื่อนที่เมาเป็นคนขับ) จำคุก 5 ปี หรือปรับประมาณ 300,000 บาท

- คนโดยสารรู้ว่าคนขับเมาแต่ไม่ห้าม จำคุก 3 ปี หรือปรับประมาณ 150,000 บาท

- ขายเหล้าให้คนเมาแล้วขับ จำคุก 3 ปี หรือปรับประมาณ 150,000 บาท

- ไม่เป่าเครื่องตรวจ จำคุก 3 เดือน หรือปรับประมาณ 150,000 บาท

 

จะว่าไปคนญี่ปุ่นก็กินเหล้ากินเบียร์ไม่น้อย ทั้งนักเรียนทั้งอาจารย์ก็กินกันกระจุย เพียงแต่กินเสร็จเค้าก็นั่งรถไฟ/รถเมล์/รถแท็กซี่กลับบ้าน

 

ความเป็นไปได้ในบ้านเรา

 

เรื่องเมาไม่ขับเป็นปัญหาโลกแตกในบ้านเรา ปัจจุบันมีเจ้าภาพเยอะมาก เรียกได้ว่าระดมสรรพกำลังสู้รบเรื่องนี้กันเต็มที่ ทั้งตำรวจ สาธารณสุข สื่อ ฯลฯ แต่อีกฝั่งหนึ่งของสังคมเหมือนจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับเรื่องนี้ ถ้าที่จอดรถรัชดาซอย 4 เต็ม ที่จอดรถ RCA เต็ม ที่จอดรถทองหล่อเต็ม ที่จอดรถร้านเลียบทางด่วนเต็ม หรือตราบใดที่นักดื่มทั้งหลายยังคิดว่าการนั่งรถแท็กซี่ไปกินเหล้าเป็นการเสียฟอร์ม ผมก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าบ้านเราจะปราบเรื่องเมาแล้วขับให้หมดไปได้ยังไง นี่ไม่นับรวมตามต่างจังหวัดที่ไม่มีแท็กซี่ด้วย

 

ผมมั่นใจว่าถึงเพิ่มด่านเมาแล้วขับอีกสิบเท่าเรื่องนี้ก็ไม่จบแบบสวยหรู เพราะเล่ห์เหลี่ยมของนักดื่มทั้งหลายแพรวพราวกันเหลือเกิน ไหนจะงอแงไม่ยอมเป่า ไหนจะจ้างคนมาขับผ่านด่านให้ ไหนจะเบ่งรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ แถมตำรวจจับมากก็โดนหอการค้าจังหวัดด่าหาว่าเป็นตัวทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของจังหวัดเสียหาย

 

ส่วนร้านขายเหล้าก็นั่งยิ้มดูตำรวจทะเลาะกับประชาชนไป เพราะกฎหมายสาวไม่ถึงตัวคนขาย ส่วนผู้ผลิตนี่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย นั่งแท่นเจ้าสัวระดับประเทศ มีเงินสนับสนุนพรรคการเมืองหรือกีฬาระดับประเทศระดับโลกสบายๆ

 

ผมเองก็ไม่มีอะไรจะไปตักเตือนท่านนักดื่มแล้วขับทั้งหลายได้ เพียงแค่อยากให้จำไว้เสมอว่า การผิดศีลข้อ 5 จะทำให้เราผิดศีลข้อ 1 (และข้อ 3) โดยไม่รู้ตัว

 

บรรทัดสุดท้าย

 

มีการศึกษาในประเทศสวีเดนว่า คนเราจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปทันทีเมื่ออยู่หลังพวงมาลัย จากคนที่นิสัยดียิ้มแย้ม แต่เมื่อขึ้นไปขับรถนิสัยดังกล่าวจะหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกปัจจัยภายนอกมารบกวนหรือการจราจรรอบข้างมารบเร้า

 

ผมไม่รู้ว่าลึกๆ แล้วคนญี่ปุ่นหรือประเทศที่พัฒนาแล้วเค้าคิดกับเรื่องความปลอดภัยทางถนนกันอย่างไร รู้แต่เพียงว่าความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องของความเสียสละ มันไม่ได้ทำให้เราไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น มันไม่ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น หรือมันไม่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น...

 

แต่มันทำให้ชีวิตเรายาวขึ้นเท่านั้นเอง

 

ชาติหน้าก็อย่าได้หวัง

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
ลูกสาวอบต's profile


โพสท์โดย: ลูกสาวอบต
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
44 VOTES (4/5 จาก 11 คน)
VOTED: มู๋มี่ มากินเกี๊ยวแปบเดวกลับ, โนบิตะ, boonb, Chawap, Flameburn, หวยเต็มคีย์
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เผยคำพูดปารีณา พูดกับเสรีพิศุทธ์ ในงานศwพ่อ"ใบเตย สุธีวัน" กลับสู่บ้านเดิม เซ็นสัญญาเข้าบ้าน "อาร์สยาม"ทำรากฟันเทียม แต่หน้ากลายเป็นสัตว์ประหลาดหนุ่มเร่ขาย "ลาบูบู้" กลางสี่แยก..ทำเอาหลายคนแห่ถามพิกัดชาวเน็ตฮือฮา! ขายที่ดินพร้อมบ้าน 200 ล้าน ติดวิวสภาสัปปายะสภาสถานชาวกัมพูชาเดือด เมื่อมีบล็อคเกอร์หนุ่มคนกัมพูชา ไปถ่ายรูปล้อเลียนรูปปั้นม้าน้ำมากจนเกินงามเกินไปเขมรคือต้นกำเนิด วัฒนธรรมของการกิน 'สุนัข' ?อดีตพระเอกดัง เตรียมตัวย้ายประเทศไปเยอรมนีสาวร้องสายไหมต้องรอด คลีนิกทำ "จิ๊มิไหม้" แล้วไม่รับผิดชอบ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ทำรากฟันเทียม แต่หน้ากลายเป็นสัตว์ประหลาดทำไมบ้านคนญี่ปุ่นแขวนธงปลาคาร์ฟ5 สาเหตุ ที่คนแก่ยึดติดกับอะไรเดิม ๆชาวกัมพูชาเดือด เมื่อมีบล็อคเกอร์หนุ่มคนกัมพูชา ไปถ่ายรูปล้อเลียนรูปปั้นม้าน้ำมากจนเกินงามเกินไป
ตั้งกระทู้ใหม่