หน้าตาของอาหาร Slow Food (กินอย่างละเมียด) เป็นอย่างไร?
ช่วงนี้กระแสสโลว์ไลฟ์ (Slow Life) กำลังมาแรง
เพราะนับวันชีวิตคนเรา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่นั้นวุ่นวายมากขึ้นทุกที
เราอยู่ในบ้าน ที่ไม่ใช่บ้าน อยู่ในเมืองที่จำเจ เราความความสัมพันธ์ แต่ขาดความรัก
ดังนั้น จึงมีคนที่คิดเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ โดยเริ่มจากมุมมองที่ว่า
ชีวิตควรจะนิ่ง และช้าลง เพื่อที่จะมีเวลาพิจารณาว่าสิ่งใดที่มีความหมายที่สุด
สำหรับวันนี้เรามาดูถึงประเด็นแรก คือการกินอาหารกันก่อน
เชื่อว่าทุกวันนี้มีคนมากมายที่จำเป็นต้องกินอาหารที่ปรุงสำเร็จ
ด้วยความเร่งรีบ และสภาพที่บีบคั้น
“หน้าตาของอาหาร Slow Food เป็นอย่างไร? มีแต่ผักอย่างเดียว
หรือเปล่า? แล้วจะหาซื้อได้จากที่ไหน? ต้องทำอาหารที่บ้านเท่านั้ ?”
คงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับใครหลายคนที่อยากลองรับประทานอาหารตาม
แบบฉบับละเมียดนิยม ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันเสียหน่อย
ว่าการกินอย่างละเมียด (Slow Food) คืออะไร
การกินอย่างละเมียดไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร
คาวหวานและไม่ได้จำกัดแค่พืชผักผลไม้ แต่เป็นวิถีการบริโภค
อาหารที่ครอบคลุมตั้งแต่รสนิยมของปัจเจกชน สังคม
วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยมีความ
ละเมียดละไมเป็นส่วนผสมสำคัญในการปรุงรสให้กลมกล่อม
ไม่ว่าจะเป็นอาหารของชาติไหน ขอเพียงแค่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น
ที่สดใหม่ตามฤดูกาล มีประโยชน์ และปลอดภัย ปราศจาก
การตัดต่อทางพันธุกรรมหรือสารเคมี ผ่านกระบวนการปรุง
อย่างใส่ใจในทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน เพียงเท่านี้ความสุข
ก็พร้อมเสิร์ฟในจานแล้ว
สำหรับ Slow Foodie มือใหม่ เราขอแนะนำให้ลองทำตาม
ทิปส์เล็กๆ น้อยๆ ดังต่อไปนี้
1. ลองทำอาหารที่บ้านเองสักมื้อ
อาจจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่คุณสามารถปลีกตัวจาก
การงานอันวุ่นวายแล้วผ่อนคลายไปกับการทำอาหาร
สไตล์โฮมเมด หากจะชักชวนเพื่อนสนิท คนรัก หรือคน
ในครอบครัวมาร่วมวงสนทนาบนโต๊ะอาหารพร้อมกับ
เสิร์ฟเมนูเด็ดที่คุณทำเองเป็นครั้งแรกก็น่าสนุกไม่น้อย
เลยทีเดียว
2. อุดหนุนสินค้าท้องถิ่นจากเกษตรกร
ชาวไร่ชาวสวน และเจ้าของฟาร์มโดยตรงหรือเวียนแวะไปที่
ตลาดเกษตรกร (Farmers’ Market) ดูสิ รับรองว่าคุณ
จะได้ผัก ผลไม้ และวัตถุดิบที่ทั้งสดใหม่และคุณภาพดีเยี่ยมซึ่ง
จะทำให้รสชาติของอาหารของคุณไม่เป็นรองใคร
3. เลี่ยงการบริโภคอาหารที่ถูกดัดแปลง
พวกอาหารพันธุกรรม และหันมาซื้อสินค้าออร์แกนิกแทน
4. ลองปลูกผักสวนครัวด้วยตนเอง
ผักในตลาดสมัยนี้เต็มไปด้วยสารเคมี จะให้ชัวร์ก็ต้องปลูกเอง
เราอาจเริ่มจากชนิดที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตดีก่อน อาทิ กะเพรา
โหระพา คะน้า ผักชี เป็นต้น สำหรับผู้อาศัยในคอนโดและมีพื้นที่
จำกัด เราแนะนำให้หากระถางเล็กๆ ที่สามารถวางข้างนอก
ระเบียงได้ จัดสวนแนวตั้งหรือใช้ระบบไฮโดรโปรนิกส์แทน
การใช้ดิน เพียงเท่านี้คุณก็จะมีผักสดใหม่ไร้สารเคมีไว้
รับประทานตลอดทั้งปี
5. ลองทำอาหารกล่องจากบ้านเพื่อสุขภาพแบบง่ายๆ
วันไหนที่คุณรู้สึกเบื่อกับการออกไปรับประทานอาหารข้างนอก
บ้านหรือออฟฟิศ ลองทำอาหารกล่องเพื่อสุขภาพแบบง่ายๆ
สำหรับมื้อเช้าหรือกลางวันดูสิ ทั้งสะอาด ประหยัด แถมยังดี ต่อสุขภาพอีกด้วย
แน่นอนว่ารสชาติแห่งความอร่อยก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการ
รับประทานอาหารดีๆ สักจาน แต่อย่าลืมด้วยว่าหัวใจสำคัญของ
Slow Food ก็คือการสนับสนุนอาหารที่ดี สะอาด และเป็นธรรม
ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค แค่เราใส่ใจกับสิ่งที่จะกินกันมากขึ้น
เพียงเท่านี้การรับประทานอาหารอย่างละเมียดละไมก็ไม่ใช่ เรื่องยากและไกลตัวอีกต่อไป