ที่มาของชื่อ "ขนมจีบไทย" ในสมัยโบราณเรียกว่า "ขนมไส้หมู"
ขนมจีบไทย อาหารว่างไทยโบราณ ตำรับชาววังสร้างสรรค์ จนกลายมาเป็น ขนมจีบตัวนก สวยงาม ถึงกับออกปากว่า “น่ารักจนไม่กล้ารับประทาน” โดยนำแป้งมากวน จนปั้นเป็นก้อน ปั้นให้เป็นรูปทรงตัวนก แล้วจับจีบรอบลำตัว ตัวไส้เป็นเนื้อไก่/หมู สับ เหมาะสำหรับทำทานเล่น หรือทำในงานเลี้ยงต่างๆ เนื่องจากรูปร่างที่น่ารักสวยงาม รับประทาน กับผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ตำรับชาววังจะมีตะลิงปลิง ให้รับประทานแก้เลี่ยนด้วย
ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของอาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ เล่าถึง ที่มาของชื่อ "ขนมจีบ" ว่า...ในสมัยโบราณเรียกว่า " ขนมไส้หมู" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชวงศ์พระองค์หนึ่ง ทรงเป็นผู้ชำนาญในการปรุงประดิษฐ์ อาหารชนิดนี้ อย่างหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ โดยปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์ กาพย์เห่เรือ ชมเครื่องหวาน
"ขนมจีบเจ้าจีบห่อ งามสมส่อประพิมพ์ประพาย
นึกน้องนุ่งจีบถวาย ชายพกจีบกลีบแนบเนียน"
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรด "ขนมไส้หมู" ของเจ้าครอกวัดโพธิ์อย่างยิ่ง และทรงมีพระราชดำรัสเรียกว่า อากุ ซึ่งหมั่นทำไปถวายบ่อยๆ
ขนมไส้หมู อันมีรูปทรงเหมือนหม้อดิน ขนาดเล็กยอดเป็นหัวนก ก็กลายเป็นขนมจีบ เพราะรอบๆตัวแป้ง ที่เป็นตัวหม้อทำเป็นจีบเล็กๆเป็นริ้ว จนเปรียบได้กับ การที่ส...ุ่งผ้าจีบชักพกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ขนมจีบแบบไทยนั้นตามตำรับเดิมที่ถือว่าสำคัญที่สุดคือ แป้งเมื่อนวดแป้งเป็นก้อนกลมแล้ว นำลงต้ม เจาะรูตรงกลางพอผิวสุกหนาใส ประมาณ 1 เส้นตอก ประมาณ 1/8 ซม. ตักขึ้น ล้างเมือกออก แล้วนวดแป้งให้เข้ากันแล้วต้มอีก ทำไปจนแป้งเนียน เรียกว่า "หมดเกรียน " แล้วจึงปั้นบรรจุไส้ รวบแป้งห่อให้มิด แล้วดึงรูดขึ้นให้แหลม กดเป็นลักษณะหัวนก ข้างๆจะใช้แหนบหนีบจับเป็นจีบถี่ๆรอบๆแป้ง หรือจะจับจีบ ตั้งแต่ปั้นหม้อ พอใส่ไส้รวบแป้งดึงขึ้นแล้ว จะเห็นเป็นจีบรอบตัวแป้ง