ตราสัญลักษณ์มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
๑ ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ
ตราสัญลักษณ์ งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ออกแบบโดย นายพินิจ สุวรรณบุณย์ นายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) ประกอบด้วยรูปครุฑพ่าห์ ซึ่งหมายถึงรัฐบาลและปวงชนชาวไทย เทิดพระแสงจักร และตรี อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระบรมราชจักรีวงศ์ กลางวงจักร มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และเลข ๙ ประจำรัชกาลปัจจุบัน อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี สองข้างซ้ายและขวา มีรูปคชสีห์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนข้าราชการฝ่ายทหาร กับราชสีห์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนข้าราชการฝ่ายพลเรือน ประคองฉัตรเครื่องสูง ๗ ชั้น สำหรับประกอบพระบรมราชอิสริยยศ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า เบื้องล่างมีแพรแถบ จารึกอักษรข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐”
๒ ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
ความหมายตามนัยศิลปะแห่งดวงตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
- อักษรพระปรมาภิไธย ภปร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ตรงกลางตราสัญลักษณ์ฯ ประดิษฐานอยู่เหนือพระที่นั่งอัฐทิศ เป็นการแสดงความหมายว่า
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง เป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยวและเคารพบูชาอย่างสูงสุด ของประชาชน"
- สีเหลืองของอักษรพระปรมาภิไธย ภปร. เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ อยู่บนพื้นวงกลมสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์
- ล้อมรอบด้วยตราพระแสงจักร และมีเลข ๙ บนอักษรพระปรมาภิไธย ภปร. ซึ่งหมายถึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีสัปตปฎลเศวตฉัตรประกอบอยู่สองข้าง ซ้าย-ขวา และมีนพปฎลมหาเศวตฉัตร ประดิษฐานอยู่เบื้องบนสุด
- เส้นกรอบรอบนอกที่ออกแบบให้มีลักษณะเป็นสี่แฉกหรือสี่ส่วน แทนประชาชนชาวไทยทั่วทุกภาคของประเทศที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข สีพื้นจึงเป็นโทนสีเขียวอันแสดงถึงความสงบร่มเย็น และอุดมสมบูรณ์
- ดอกบัวสี่ดอก แทรกตรงกลางระหว่างแฉกทั้งสี่ แสดงความหมายเป็นการเทิดทูนบูชาใน โอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
- รัศมีสีทองโดยรอบตราสัญลักษณ์ฯ เปรียบได้ดังพระบุญญาบารมี พระมหากรุณาธิคุณ และน้ำพระราชหฤทัยที่แผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศ ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ยังความปลาบปลื้มมาสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า
- เบื้องล่างตราสัญลักษณ์ฯ ออกแบบเป็นแพรแถบสีน้ำเงิน แสดงข้อความพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
๓ ตราสัญลักษณ์มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และโปรดเกล้าตราสัญลักษณ์ ๘๐ พรรษาแล้ว โดยเลือกแบบที่ ๑๒ ของนายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ ๗ ว. ช่างสิบหมู่ ของกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ตราสัญลักษณ์ ๘๐ พรรษา ซึ่งการออกแบบได้ใช้ตราสัญลักษณ์ มีพระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๙ หมายถึง แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระมหาพิชัยมงกุฎ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระเศวตฉัตร ที่หมายถึงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ของพระมหากษัตริย์ ด้านล่างมีเลขไทย ๘๐และเพชร ๘๐เม็ด ที่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา ๘๐พรรษา พร้อมแถบแพรสีชมพู หมายถึงสีอายุตามโหราศาสตร์ทักษาพยากรณ์ ตรงกับวันอังคารของพระองค์ และบอกชื่อตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้เขียนดอกพิกุลทอง ๕ ดอก ดอกพิกุลเงิน ๔ ดอก เพิ่มเติมที่แท่นแปดเหลี่ยมรองรับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์
สำหรับความหมายตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ มีความหมายดังนี้ พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ เป็นภาพพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็นอุณาโลม รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือวงจักรเป็นพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น ตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันหมายถึง พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระบรมเดชานุภาพเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์ได้ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ตามโบราณราชประเพณี และสมาชิกรัฐสภาได้ถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปดเป็นครั้งแรกแทนราชบัณฑิต ส่วนพระแท่นลานั้นโรยด้วยดอกพิกุลเงินพิกุลทอง ๙ ดอก พระราชลัญจกรล้อมรอบด้วยเพชร ๘๐ เม็ด หมายถึงพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ด้านบนพระราชลัญจกรเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ
อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ภายในพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเลข ๙ หมายถึงรัชกาลที่ ๙ พระมหาพิชัยมงกุฎนั้นอยู่ด้านหน้าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งอยู่กึ่งกลางและขนาบข้างด้วยพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น อันเป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ด้านล่างพระราชลัญจกรเป็นเลข ๘๐ หมายถึงพระองค์มีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ถัดจากเลขไทยลงมาเป็นแพรแถบบอกชื่องานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ แพรแถบนอกจากบอกชื่องานพระราชพิธีแล้ว ยังรองรับประคองพระเศวตฉัตรด้วย
๔ ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองทอง อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพอยู่กลางตราสัญลักษณ์ ขริบรอบตัวอักษรด้วยสีทองบนพื้นวงกลมสีน้ำเงินล้อมรอบด้วยกรอบโค้งเรียบ สีเหลืองทองหมายความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ด้านบนอักษรพระปรมาภิไธยเป็นเลข ๙ หมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เลข ๙ นั้น อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จราชาธิราช ถัดลงมาด้านข้างซ้ายขวาของอักษรพระปรมาภิไธย มีสายพุ่มข้าวบิณฑ์สีทอง ซึ่งมีสัปตปฎลเศวตฉัตร ประดิษฐานอยู่เบื้องบน ด้านนอกสุดเป็นกรอบโค้งมีลวดลายสีทองบนพื้นสีเขียว หมายถึงสีอันเป็นเดช แห่งวันพระบรมราชสมภพ อีกทั้งยังหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และความสงบร่มเย็น ด้านล่างอักษรพระปรมาภิไธย เป็นรูปกระต่ายสีขาว กระต่ายนั้นทรงเครื่องอยู่ในลักษณะกำลังก้าวย่าง อันหมายถึง ปีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๗ รอบ ตรงกับปีเถาะซึ่งปีกระต่ายเป็นเครื่องหมายแห่งปีนักษัตร โดยรูปกระต่ายอยู่บนพื้นสีน้ำเงิน มีลายกระหนกสีทอง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เบื้องล่างตราสัญลักษณ์เป็นแพรแถบสีชมพู ขลิบทองเขียนอักษรสีทอง ความว่า พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ทรงพระเจริญ
ที่มา : http://www.lampang.go.th/king/symbol/