กรขุดเจ้าพระยา และ คลอง กรุงเทพ
โพสท์โดย แพงพวย
การขุดคูคลองในพระนคร
ในอดีต กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่า เป็นเวนิสตะวันออก (เหมือนกรุงศรีอยุธยา) เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน ล้วนแต่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ซึ่งใช้เป็นทางสัญจรไปมา ที่คราคร่ำไปด้วยเรือแพนานาชนิด แล่นกันขวักไขว่ในท้องน้ำ เช่นเดียวกับเมืองเวนิสในประเทศอิตาลี
เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว คนกรุงเทพฯ ไปไหน ต้องใช้เรือเป็นพาหนะทั้งสิ้น เพราะสมัยนั้น กรุงเทพฯ ไม่มีถนน มีแต่คลอง จึงพูดได้ว่า คืบก็คลอง ศอกก็คลอง เช่นเดียวกับชาวทะเล ที่ว่า คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล
แต่ปัจจุบัน สภาพดังกล่าวได้หมดไปแล้ว เพราะถนนและรถยนต์ ได้เข้ามามีบทบาทแทนคลอง ซึ่งให้ความสะดวก และรวดเร็วกว่าหลายเท่า (แต่ปัจจุบันนี้ พ.ศ. 2552 เรือมีความสำคัญกว่า เนื่องจากรถมาก ทำให้ติด จึงไปได้ช้ากว่าเรือ คนจึงหันมานิยมใช้เรือกันมากกว่า กรุงเทพฯ จึงมีนโยบาย จะทำคลองให้เป็นทางสัญจรเหมือนในอดีต เพื่อทำให้น้ำไม่สกปรก และทุ่นเวลารถติดได้เยอะ) ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เวนิสแห่งตะวันออกอีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ดี กรุงเทพฯ ก็ยังคงมีเค้าของเวนิสแห่งตะวันออกอยู่บ้าง แต่ก็เลือนลางเต็มที เนื่องจากคลองส่วนใหญ่ ถูกถมขยายถนน และคลองที่มีอยู่ก็นับวันจะหมดไปตามความเจริญของกรุงเทพฯ
สำหรับคลองที่สำคัญในกรุงเทพฯ ที่ยังคงเหลืออยู่ในเวลานี้ ก็มีคลองหลอด คลองบางลำพู คลองโอ่งอ่าง คลองผดุงกรุงเกษม คลองมหานาค คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองสามเสน คลองพระโขนง เป็นต้น
คลองหลอด
เดิมนั้น เป็นคลองคูเมือง ในสมัยกรุงธนบุรี (กรุงธนบุรี ได้เอาแม่น้ำเจ้าพระยาไว้กลางเมือง เช่นเดียวกันกับเมืองพิษณุโลก จึงมีทั้ฟากตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา)
ครั้นเมื่อ พระยาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2326 (จุลศักราช1145) โปรดฯ ให้รื้อกำแพงเมืองธนบุรี ฟากตะวันออก ริมคลองหลอดเสีย เพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไปอีก
ความจริง แต่เดิมคลองนี้ ไม่ได้เรียกว่า คลองหลอด ทางด้านใต้ ชาวบ้านเรียกว่า คลองตลาด เพราที่ีปากคลอง มีตลาดใหญ่ ทั้งทางบกทางน้ำตั้งอยู่ (คือปากคลองตลาดในปัจจุบัน) ทางด้านเหนือเรียกว่าคลองโรงไหม เพราะมีโรงไหมของหลวงตั้งอยู่ (คือท่าช้างวังหน้า ซึ่งปัจจุบัน สร้างเป็นสะพานพระปิ่นเกล้า)
ส่วนคลองหลอดจริง ๆ ก็คือคลองที่โปรดให้ขุด 2 คลองจากคลองคูเมืองเดิม ออกไปบรรจบกัลคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) คือขุดคลองหลอด ที่ข้างวัดบูรณศิริอมาตยาราม (คือวัดบูรณศิริมากันตยาราม) คลองหนึ่ง กับขุดคลองหลอดที่ข้างวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามคลองหนึ่ง
คำว่า คลองหลอด นั้น หมายความว่า เป็นคลองขนาดเล็ก ที่ขุดตรงไปทะลุออกคลองใหญ่ แต่ตามชนบท เวลานี้ถึงจะเป็นคลองที่ขุดคดเคี้ยวไม่ตรง ชาวนาก็เรียกว่า "คลองหลอด" หรือ "ลำหลอด" หรือ "หลอด" เหมือนกัน
ปัจจุบัน คลองนี้เรือเข้าออกทางปากคลองตลาดได้เพียงด้านเดียว (ปัจจุบันจริง ๆ แล้ว ได้สร้างเขื่อนกั้นไว้หน้าโรงพักพระราชวัง เรือจึงเข้าไม่ได้ เข้าได้เฉพาะเรือเล็ก ๆ ทำความสะอาดคลอง) เพราะปากคลองทางด้านทิศเหนือ ได้สร้างสะพานพระปิ่นเกล้า คร่อมปากคลองไว้ ดังได้กล่าวไว้ในตอนแรก เรือที่วิ่งเข้าออกดังกล่าว ก็มีเฉพาะเรือหางยาวบรรทุกต้นไม้ และผลไม้
คลองบางลำพู หรือ คลองโอ่งอ่าง และคลองมหานาค
คลองทั้งสองนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ขุด คราวสร้างพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2326 คลองบางลำพู กับคลองโอ่งอ่างความจริงเป็นคลองเดียวกัน คือ เป็นคลองคูพระนคร ทางด้านนะวันออก ซึ่งโปรดฯ ให้เกณฑ์เขมรจำนวนหนึ่งหมื่นคน ทำการขุด โดยขุดทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางลำพู มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดตีนเลน หรือวัดเชิงเลน(ปัจจุบัน คือ วัดบพิตรพิมุข) ยาว 45 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5ศอก พระราชทานนามว่า "คลองรอบกรุง"
ในการขุดคลองคูพระนครดังกล่าวนี้ โปรดให้ขุดคลองหลอด กับคลองที่อยู่เหนือวัดสะแก (วัดสระเกษ) อีกคลองหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้ว พระราชทานนามว่า "คลองมหานาค" (เนื่องจาก พระมหานาค เป็นแม่กองดำเนินการขุด) และพระราชทานนามวัดสะแก ว่า "วัดสระเกษ" (ปัจจุบัน เขียน วัดสระเกศ)
การที่พระองค์ โปรดให้ขุดคลองมหานาคขึ้น ก็เพื่อจะให้ประชาชนชาวพระนคร ได้ไปลงเรือเล่นเพลงและสักวา ในเวลาหน้าน้ำเหมือนเาื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ในเวลานั้น ยังไม่มีภูเขาทอง เหมือนที่กรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ต่อมา ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สร้างภูเขาทองขึ้นที่วัดสระเกศ
คลองผดุงกรุงเกษม
เป็นคลองคูพระนครอยู่ชั้นนอก ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว โปรดให้ขุด เพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเดิม
คลองนี้ ว่าที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กอง เจ้าหมื่นหววรนารถ เป็นกงสี จ้างจีนทำการขุด ทางเหนือทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างวัดเทวราชกุญชร ทางใต้ทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างวัดแ้ก้วฟ้า โดยลงมือขุด เมื่อวันเสาร์ที่ 25ตุลาคม พ.ศ. 2394 (เดือน 12 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน ตรีศก) ยาว 137 เส้น กว้าง 10 วา ลึก 6 ศอก ขุดเสร็จ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2395 (เดือน 9 แรม 14 ค่ำ) รวมเวลาขุด 10 เดือน ราคาขุด เส้นละ 4 ชั่ง 10 ตำลึง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 391 ชั่ง 10 ตำลึง 1 บาท 1 เฟื้อง ทั้งนี้รวมทั้งค่าขุดตอไม้ ตลอดทั้งคลองด้วย เมื่อขุดเสร็จแล้ว ได้ประมาณ 4-5 ปี จึงโปรดฯ ให้มีการฉลองคลอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2379 (เดือน 1 ขึ้น 14ค่ำ) โดยทรงขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้ปลูกศาลา และโรงตามแถวริมคลอง ฟากละ50 หลัง ตลอดทั้งคลองรวม 5 ฟาก เป็นศาลา และโรง 100 หลัง แล้วให้เผดีงพระสงฆ์ 500 รูป เจริญพระปริตรหลังละ 5 รูป และมีการละเล่นต่าง ๆ พอวันรุ่งขึ้น ถวายอาหารบิณฑบาต และถวายไทยทาน ส่วนราษฎร ทำบุญตามศรัทธา พอตกกลางคืนวันอังคาร ให้ชาวบ้านที่อยู่ริมคลอง จุดโคมไฟให้สว่างไสวทั้ง 2 ฟากคลอง ปรากฏว่า มีเจ้านายข้าราชการ และราษฎรลงเรือพากันมาเที่ยวเล่นเป็นจำนวนมาก
คลองผดุงกรุงเกษม ขุดผ่านคอลงมหานาคที่สี่แยกมหานาค ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นย่านการค้าทางเรือที่สำคัญตลอดมา จนกระุทั่งปัจจุบัน และขุดผ่่านทุ่งวัวลำพอง (บริเวณหัวลำโพง) ซึ่งสมัยนั้นเป็นทุ่งนา และทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คลองนี้ได้รับการขุดลอกและทำเขื่อน ตลอดทั้งสองฟากคลอง พร้อมกับปลูกต้นไม้เป็นที่ร่มรื่น แม้แต่เมืองเวนิสก็ต้องอาย เพราะของเรามีทั้งคลอง ทั้งถนนขนาน 2 ฟากคลอง ที่สามารถให้เรือ และรถจอดเทียบกันได้ ส่วนเมืองเวนิส มีแต่คลองอย่างเดียว ไม่มีถนนขยานกับคลองเหมือนเมืองไทย
คลองเปรมประชากร
เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดเป็นคลองแรก ในรัชกาลของพระองค์ โดยโปรดฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กอง พระชลธารวินิจฉัย เป็นผู้ปักหมายกรุย และจ้างจีนขุด เมื่อ พ.ศ. 2412 (จุลศักราช1231) เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2413 (จุลศักราช 1232) รวมประมาณ 18 เดือน เป็นเงินประมาณ 1,000 ชั่งเศษ
คลองนี้ ตั้งต้นที่คลองผดุงกรุงเกษม ตรงหน้าวัดโสมนัสวิหาร ส่วนปลายคลอง ไปทะลุที่ตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า (คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
สถานที่สำคัญ ๆ ซึ่งตั้งอยู่ที่สองฝั่งคลองนี้ มีพระราชวังดุสิต วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปัจจุบัน ก็มีพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน (พระราชวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน) ทำเนียบรัฐบาล (ตั้งอยู่ปากคลอง) สวนสัตว์ดุสิต โรงเรียนวชิราวุธ และโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ที่บางซื่อ เป็นต้น
คลองเปรมประชากร มีถนนพระราม 5 ขนานไปจนถึงบางซื่อ และมีถนนนครปฐม ขนานตั้งแต่หน้าทำเนียบรัฐบาลไปจนถึงวัดเบญจมบพิตร
คลองแสนแสบ
เป็นคลองที่ห่างไกลจากพระนครมาก เมื่อสมัยกว่า 100 ปีมาแล้ว แต่กลายเป็นคลอง ที่เกือบจะพูดได้ว่าอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ
คลองนี้ แต่เดิมตั้งแต่สี่แยกมหานาค ผ่านสระปทุม ประตูน้ำ วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) วัดบางกะปิ จนถึงวัดใหม่ช่องลม เรียกว่า คลองบางกะปิ ต่อจากนั้นไปเรียกว่า คลองแสนแสบ
คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุด ตั้งแต่หัวหมาก ไปถึงบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2380 (จุลศักราช 1199) เพื่อเป็นทางลำเลียงกองทัพครั้งทำสงครามกับญวน
สองฝั่งคลองแสนแสบ มีสถานที่สำคัญซึ่งสมควรจะกล่าอยู่ 2 แห่ง คือ สระปทุม กับวัดมักกะสัน
สระปทุม ปัจจุบัน อยู่หลังย่านการค้าราชประสงค์ หลังตึกกองการเงิน กรมตำรวจ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และข้างวัดสระปทุมวนาราม เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมกับวัดสระปทุม โดยให้ขุดสระ เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ปลูกบัวต่าง ๆ ส่วนบนเกาะ ปลูกไม้ดอกนานาพันธุ์ และสร้างพระที่นั่งประทับแรมพลับพลา โรงละคร ที่เจ้าจอมอยู่ โรงครัวข้างใน โรงครัวเลี้ยงขุนนาง แล้วพระองค์เสด็จทางชลมารค ตามคลองบางกะปิ มาประทับแรม ณ วังสระปทุม นานถึง 2-3 วัน ทุกปี
วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) อยู่ริมคลองกลางทุ่งบางกะปิ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นที่ตัดคอประหารชีวิตนักโทษ เมื่อประมาณหลาย ปีมาแล้ว ตั้งแต่ประตูน้ำ จนถึงอำเภอบางกะปิ ยังไม่มีถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และถนนคลองตันขนาบ เช่นปัจจุบัน ปรากฏว่า มีเรือเมล์ขาว บริษัทนายเลิศ วิ่งระหว่างประตูน้ำ กับอำเภอมีนบุรี เป็นประจำ แม้เวลานี้ ก็ยังมีเรือวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารตามบ้านริมคลองอยู่
ส่วนทางฝั่งธนบุรี ปัจจุบันมีคลองที่สำคัญอยู่หลายคลอง อาทิ คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองมอญ คลองภาษีเจริญ และคลองดาวคะนอง เป็นต้น
จากหนังสือ "มิตรพลี" พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ เล่าถึงเรื่องคลองในกรุงเทพฯ เมื่อสมัยต้น ๆ รัชกาลที่ 5 ว่า สกปรก และตื้นเขินมาก เพราะคนชอบเทขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลลงในคลอง แม้แต่ส้วมหรือที่สมัยก่อนเรียกว่า "เว็จ" ก็ชอบสร้างไว้ริมคลอง จึงทำให้ขยะมูลฝอย และอุจจาระลอยตามน้ำขึ้นน้ำลงเป็นแพ
ความจริง ทางการสมัยนั้น ก็เห็นความสำคัญของคลองเหมือนกัน จึงได้ตราพระราชบัญญัติ รักษาคลองขึ้นเรียกว่า "พระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร์ศก 121" พระราชบัญญัตินี้กล่าวถึงความสำคัญของคลองว่า
"มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า การเพาะปลูกก็ดี การค้าขายไปมาก็ดี ในพระราชอาณาเขตนี้ ทางน้ำลำคลองเป็นสำคัญ และในเวลานี้ คลองก็มีอยู่แล้วเป็นอันมาก แต่ชำรุดตื้นเขินไปเสียโดยมาก เหตุเพราะยังมิได้จัดการรักษาให้พอเพียง ทรงพระราชดำริจะบำรุงและรักษาคลองเก่า ที่มีอยู่แล้ว และที่จะขุดขึ้นใหม่ให้เรียบร้อยถาวร เพื่อใช้ประโยชน์และสะดวกแก่ธุระ ของราษฎรยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้"
ข้อห้ามในพระราชบัญญัตินี้ ที่สำคัญก็คือ ห้ามไม่ให้ทิ้งขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ลงในคูคลอง ผู้ที่ทำผิดมาตรนี้ จะถูกปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ กับถ้าปล่อยให้สัตว์พาหนะ และสัตว์เลี้ยง เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ลงคลอง ซึ่งไม่ใช่ท่าข้ามทางการอนุญาต จะต้องถูกปรับ เป็นรายตัว ตัวละไม่เกิน 10บาทเป็นต้น
แต่ก็อย่างว่า ราษฎรสมัยนั้น ส่วนใหญ่เคยทำอย่างไรก็คงทำอยู่อย่างนั้น เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวด และกวดขันในการห้ามปราม และจับกุมเท่าใดนัก อีกประการหนึ่ง กำลังเจ้าหน้าที่ก็มีน้อย ราษฎรทำอะไร ๆ ตามอำเภอใจได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเกรงกลัวเจ้าหน้าที่
ต่อมาเมื่อมิสเตอร์ อิริก เซ็น.เย. ลอซัน เป็นผู้บังคับการ กรมกองตระเวน (ตำรวย) กรุงเทพฯ ในตอนปลายรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการกวดขันรักษาคลองในกรุงเทพฯ ยิ่งกว่าแต่ก่อน
ในหนังสือธรรมเนียมราชการ กรมกองตระเวนซึ่ง มิสเตอร์ ลอซัน ได้เขียนขึ้นไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมกองตระเวนระบุว่า ถ้าใครทำสะพานท่าน้ำ หรือปลูกบ้านเรือน ยื่นลงไปในคลอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนทิ้งของโสโครก และปลูกเว็จในคลอง ถือว่าเป็นความผิดทั้งสิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ กรมกองตระเวนจะต้องทำการจับกุมส่งฟ้องศาล
เพื่อให้ท่านได้ทราบว่ากรุงเทพมหานคร เมื่อก่อนที่จะถมคลอง สร้างถนนในยุคพัฒนานั้น มีคลองอะไรบ้าง จึงขอนำรายชื่อคลอง ซึ่งปรากฏอยู่ในบัญชีคลองแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ให้ใช้พระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร์ศก 121 พุทธศักราช 2484 ทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี ซึ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2484 มาลงไว้ ดังต่อไปนี้
ฝั่งพระนคร
1. คลองบางซื่อ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคันคลองประปา
2. คลองสามเสน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลองบางกระสัน
3. คลองเปรมประชากร จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงคลองบางซื่อ
4. คลองผดุงกรุงเกษม จากปากคลองทางเหนือ ถึงปากคลองทางใต้
5. คลองบางลำพู จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปากคลองมหานาค
6. คลองโอ่งอ่าง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปากคลองมหานาค
7. คลองตลาด จากปากคลองทางทิศเหนือ ถึงปากคลองทางให้
8. คลองวัดเทพธิดา จากคลองตลาด ถึงคอลโอ่งอ่าง
9. คลองวัดราชบพิธ จากคลองตลาดถึงคลองโอ่งอ่าง
10. คลองมหานาค จากคลองบางลำพู ถึงคลองผดุงกรุงเกษม
11. คลองบางกะปิ จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ (หลักเขตที่ 6)
12. คลองหัวลำโพง จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงคลองเตย
13. คลองสวนหลวง จากคลองนางหงษ์ ถึงคลองหัวลำโพง
14. คลองอรชร จากคลองบางกะปิ ถึงคลองหัวลำโพง
15. คลองราชดำริ จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระราม 4
16. คลองไผ่สิงห์โต จากคลองราชดำริ ถึงคลองหัวลำโพง
17. คลองสีลม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองหัวลำโพง
18. คลองสาธร จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองหัวลำโพง
19. คลองขื่อหน้า จากคลองบางกะปิ ถึงคลองสามเสน
20. คลองวัดใหม่ จากคลองบางซื่อ ถึงวัดใหม่ทองเสน
21. คลองข้างกรมช่างแสง จากคลองบางซื่อ ถึงโรงเรียนทหารสื่อสาร
22. คลองบางกระบือ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลองวัดน้อย
23. คลองวัดน้อย จากคลองเปรมประชากร ถึงปลายคลองบางกระบือ
24. คลองบางทองหลาง จากคลองสามเสน ถึงถนนองครักษ์
25. คลองส้มป่อย จากคลองสามเสน คลองบางกะปิ ถึงถนนราชวัตรเก่า ถนนเพชรบุรี
26. คลองอั้งโล่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงโรงพยาบาลวชิระ
27. คลองวัดส้มเกลี้ยง จากแม้น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนขาว
28. คลองวัดราชาธิวาส จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนสามเสน
29. คลองบ้านญวน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนสามเสน
30. คลองบางขุนพรหม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์ หลังโรงเรียนนายร้อยทหารบก
31. คลองวัดมงกุฏกษัตริย์ (คือ มกุฏกษัตริยาราม) จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงหลังวัดมงกุฏกษัตริย์
32. คลองวัดโสมนัสวิหาร จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนจักรพรรดิพงษ์ หลังวัดโสมนัสวิหาร
33. คลองวัดตรีทศเทพ จากคลองบางลำพู ถึงหลังวัดตรีทศเทพ และจากคลองบางลำพู ถึงข้างวัดตรีทศเทพ
34. คลองบ้านหล่อ จากคลองบางลำภู ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์
35. คลองวัดปริณายก จากคลองบางลำพู ถึงหลังวัดปริณายก
36. คลองจุลนาค จากคลองมหานาค ถึงถนนนครสวรรค์
37. คลองวัดคอกหมู จากคลองมหานาค ถึงหลังวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค)
38. คลองวัดสมณานัมบริหาร (คือวัดญวน) จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนพิษณุโลก และจากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงหลังวัดสมณานัมฯ
39. คลองลำปรัก จากคลองวัดสมณานัมฯ ถึงคลองวัดขื่อหน้า
40. คลองวัดรังษี จากคลองบางลำพู ถึงถนนดินสอ
41. คลองวัดบวรนิเวศน์ จากคลองบางลำพู ถึงถนนบ้านแขก
42. คลองนางชี จากคลองมหานาค ถึงสะพานแม้นศรี
43. คลองวัดเทพศิรินทร์ จากคลองผดุงกรุงเกษม ถึงถนนพลับพลาไชย
44. คลองศาลเจ้าเก่า จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงถนนทรงวาด
45. คลองวัดปทุมคงคา จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงวัดปทุมคงคา
46. คลองวัดสระบัว จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระรามที่ 1
47. คลองนางหงษ์ จากคลองบางกะปิ ถึงคลองวัดสระบัว
48. คลองข้าวัดใหม่ จากคลองบางกะปิ ถึงถนนพระรามที่ 1
49. คลองพญาไท จากคลองบางกะปิ ถึงถนนเพชรบุรี
50. คลองสวนน้อย จากคลองบางกะปิ ถึงตำบลพญาไท
51. คลองซุง จากคลองบากะปิ ถึงถนนเพลินจิต
52. คลองบางกระสัน จากคลองบางกะปิ ถึงคลองสามเสน
53. คลองเตย จากปากคลองหัวลำโพง ถึงปลายคลอง
54. คลองหัวลำโพงเก่า จากตรงตรอกสะพานสว่าง ถึงถนนสี่พระยา
55. คลองช่องนนทรีย์ จากถนนสี่พระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 9-10
56. คลองข้างบ้านหมอเฮย์ จากคลองสีลม ถึงคลองสาธร
57. คลองข้างป่าช้าจีน จากคลองสาธร ถึงป่าช้าจีน
58. คลองวัดยานนาวา จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
59. คลองกรวย จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 10-11
60. คลองบางขวาง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 10-11
61. คลองบ้านใหม่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ หลักเขตที่ 10-11
62. คลองสวนหลวง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
63. คลองวัว จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุเหร่าแขก
64. คลองบางคอแหลม จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงปลายคลอง
ฝั่งธนบุรี
1. คลองบางกอกน้อย จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุดเขตเทศบาล
2. คลองบางขุนเทียน ตั้งแต่สี่แยกคลองมอญ ถึงคลองบางกอกน้อย
3. คลองลัดบางขุนสี จากคลองบางขุนศรี ถึงคลองบางกอกน้อย
4. คลองบางขุนนนท์ จากคลองบางกอกน้อย ถึงคลองลัดบางขันสี
5. คลองวัดมะ จากคลองบางขุนสี ถึงคลองบางขุนนนท์
6. คลองมอญ จากแม่น้เจ้าพระยา ถึงสี่แยกบางกอกใหญ่
7. คลองบ้านขมิ้น จากคลองมอญถึงทางรถไฟสายบางกอกน้อย
8. คลองวัดอรุณ จากคลองอมญ ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
9. คลองวัดราชสิทธิ จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองวัดอรุณ
10. คลองวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม ปัจจุบัน) จากคลองบางใหญ่ ถึงคลองมอญ
11. คลองบางกอกใหญ่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสี่แยกปากคลองมอญ (แต่ก่อนเรียกว่า คลองบางหลวง)
12. คลองวัดบุปผาราม จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองสาน
13. คลองกุดีจีน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองวัดบุปผาราม
14. คลองสาน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
15. คลองสมเด็จ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองสาน
16. คลองบางไสไก่ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางกอกใหญ่
17. คลองบางลำภูล่าง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
18. คลองต้นไทร จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางไส้ไก่
19. คลองบางน้ำชล ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางกอกใหญ่
20. คลองบางสะแก จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงคลองบางค้อ
21. คลองบางค้อ จากคลองดาวคะนอง ถึงคลองด่าน
22. คลองด่าน จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
23. คลองดาวคะนอง จากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสุดเขเทศบาล
24. คลองบางหว้า จากคลองด่าน ถึงสุดเขตเทศบาล
25. คลองภาษีเจริญ จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
26. คลองบางจาก จากคลองบางกอกใหญ่ ถึงสุดเขตเทศบาล
27. คลองวัดประดู่ จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองบางจาก
28. คลองวัดปรก จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองด่าน
29. คลองรางบัว จากคลองภาษีเจริญ ถึรงคลองบางหว้า
30. คลองวัดเพลง จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองวัดปรก
31. คลองตาแผลง จากคลองด่าน ถึงคลองรางบัว
คลองดังกล่าวมานี้ ปัจจุบัน ถูกถมขยายถนนเป็นจำนวนมาก เช่น คลองหัวลำโพง ถูกถมขยายถนนพระราม4 ตั้งแต่ต้นคลองที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปจนถึงคลองเตย คลองสีลม ถูกถมขยายถนนสีลม เป็นต้น
ดังนั้น คลองต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเหลือแต่ชื่อ ซึ่งนับวันจะเลือนหายจากความทรงจำของชาวกรุงเทพฯ ไปทุกที อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จะหมดไป แต่แม่น้ำเจ้าพระยา ก็ยังคงเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อกรุงเทพฯ อยู่เหมือนเดิม
จะต่างกันก็แต่ว่า กรุงเทพฯ สมัยก่อน ไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่สมัยนี้มีสะพานข้าแม่น้ำเจ้าพระยาหลายสะพาน
ส่วนกรุงเทพฯ สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่ก่อน มีแต่เรือแพ จอดเรียงกันเป็นแถวเหมือนถนนแพ เวลานี้ ก็เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง แน่นขนัดไปหมด แม่น้ำเจ้าพระยาจึงแปลกตาไปกว่าอดีตมาก
สำหรับยานพาหนะทางน้ำ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากเรือสำเภา เรือกำปั่นไฟ เรือรบหลวง ที่จอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ปรากฏว่า มีเรือกลไฟ โยงเรือต่อบรรทุกข้าว ฯลฯ แล่นอยู่ในแม่น้ำลำคลองด้วย แต่ยานพาหนะทางน้ำส่วนใหญ่ เป็นเรือพาย เรือแจว เรือพาย ก็มีเรือมาด (คือเรือที่ขุดจากซุงไม้ขนาดเล็ก) เรือสำปั้น และเรือบด (มาจากคำว่า "โบ๊ต. ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่แปลว่า เรือ) ส่วนเรือแจว ก็มีเรือแหวด (คือเรือมาด ขนาดใหญ่ มีเก๋งกลางลำเรือ) เรือหางแมงป่อง (เป็นเรือเมืองเหนือ ใช้ขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองเหนือ)
ส่วนเรือยนต์ และเรือเครื่องติดท้าย เพิ่งจะมีเอาเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 นี้เอง
ปัจจุบันในแม่น้ำลำคลอง นอกจากจะเต็มไปด้วยเรือ ต่าง ๆ แล้ว ยังมีเรือหางยาว ซึ่งเข้ามามีบทบาท เป็นเจ้าแห่งท้องน้ำ อยู่ในขณะนี้อีกด้วย
ขุดคลองลัดเป็นแม่น้ำ
ด้วยเหตุผลการค้าสำเภาทางทะเลของกรุงศรีอยุธยากับนานาชาติ ที่ต้องแล่นสำเภา จากอ่าวไทยเข้าตามลำน้ำเจ้าพระยา ขึ้นสู่พระนครศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ต้องทรงทำนุบำรุงเส้นคมนาคมทางน้ำ ให้สะดวก และรวดเร็ว เห็นได้จากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้ซ่อมคลองสำโรง และคลองทับนาง เป็นต้น
นับแต่นั้นมา พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ คงโปรดให้พิจารณาวางแผน ขุดคอลงลัดเพื่อขจัดอุปสรรคการเดินทางในแม่น้ำ (เจ้าพระยา) ที่คดโค้งหลายแห่ง มีแห่งหนึ่งที่ต้องแก้ไข คือบริเวณที่เป็นกรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ลงมือขุดคลองลัดแห่งนี้สำเร็จในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ในปีใดปีหนึ่ง ระหว่าง พ.ศ. 2077 - 2089 ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1. เส้นทางแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเก่าลดความสำคัญลง เพราะคดโค้ง เสียเวลาเดินทาง นานเข้าก็แคบลงเป็นคลอง ต่อมามีชื่อเรียกคลอง บางกอกน้อย - คลองบางกอกใหญ่ สืบมาทุกวันนี้
2. มีแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) เกิดขึ้น ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย (บริเวณโรงพยาบาลศิริราช กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ (บริเวณพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี กับปากคลองตลาด)
ก่อนขุดคลองลัด มีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่า ครั้งหนึ่ง ผู้จอดเรือแพพักแรมหุงหาอาหารเช้ากิน บริเวณริมฝั่งโค้งน้ำทางเหนือ (คือปากคลองบางกอกน้อย) เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็ถ่อพายเรือแพ เข้าแม่น้ำคดโค้งต่อไป ใช้เวลาเต็มวัน ก็จอดพักหุงหาอาหารเย็นกินบริเวณริมฝั่งโค้งน้ำทางใต้ (คือปากคลองบางกอกใหญ่) เมื่อตั้งหม้อข้าว เพื่อหุงข้าวด้วยฟืนเสร็จแล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า ลืมไม้ขัดหม้อ สำหรับฝาหม้อรินน้ำข้าวออกไว้ที่ปากคลองบางกอกน้อย ที่พักหุงข้าวเมื่อตอนข้า จึงรีบเดินลัดเรือกสวนไปเอาไม้ขัดหม้อ ที่ลืมไว้ เมื่อได้กลับมาที่เดิมก็พอดีข้าวเดือดทันใช้ขัดฝาหม้อรินน้ำข้าว
คำบอกเล่าอย่างนี้ แสดงให้เห็นลักษณะคดโค้งของแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเก่า ที่เสียเวลาเดินทางเต็มวัน ถ้าตัดตรงลงช่วงคอคอดคดโค้ง จะใช้เวลาเพียงชั่วหม้อข้าวเดือดเท่านั้น
ตรงบริเวณคลองบางกอกใหญ่นี่เอง เมื่อขุดคลองลัดแล้ว จะกลายเป็นชุมชนบ้านเมืองใหม่ต่อไปข้างหน้า เพราะโค้งแม่น้ำเดิมตรงนี้ เป็นบริเวณเวิ้งน้ำ กว้างใหญ่ตามธรรมชาติ ที่ได้ชื่อในสมัยหลังว่า บางหลวง แต่คนทั่วไป เข้าใจเป็นชื่อคลองบางกอกใหญ่
บางทีอาจมีข้อกังขาว่า แต่ก่อนนั้นขุดคลองกันอย่างไร ? ดังนั้น จึงจะแทรกเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ไว้ ตอนหนึ่งว่า "การขุดลัดครั้งแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชา เห็นจะไม่ได้ขุดแผ่นดินดอน คงจะมีคลองลัดเล็ก ๆ ซึ่งเขาเดินเรือกันอยู่แล้วเป็นสิ่งนำทางขุดซ้ำรอย ให้เป็นคลองกว้างขวาง" (สาส์นสมเด็จ เล่ม 14: คุรุสภา 2526: หน้า 226) และทรงย้ำอีกว่า "คลองลัด น่าจะเป็นชาวบ้านขุดบางประจบกัน
กรณีขุดคลองโคกขาม ให้เป็นคลองมหาชัยสมัยหลัง ๆ (ครั้งพระเจ้าเสือ) ถ้าหากพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ตามธรรมชาติแล้ว จะเห็นว่า บริเวณดังกล่าว เป็นเส้นทางน้ำ คือคูคลองคดเคี้ยวจำนวนมาก แต่ก็มีทางน้ำลัดตัดตรง ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และทั้งที่ชาวบ้านขุดลัดกันเองขึ้นมาก่อน เพื่อความสะดวกในการคมนาคม ต่อมาภายหลังทางราชการ จึงปรับปรุงให้กว้างขวาง และเป็นแนวตรงมากขึ้น
มีตัวอย่างการขุดคลองหมาหอน (สุนัขหอน) ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหกลาโหม (หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ในสมัยรัชกาลที่ 4) ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการ ให้เป็นแม่กอง ไปขุดแต่งซ๋อมคลองนี้ พิจารณาแล้วจึงให้วิธี "จ้างจีนขุดที่น้ำชน แยกเข้าไปริมบ้านโพธิ์หักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎร ชาวบ้านลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยว ก็ลึกอยู่ได้ไม่ตื้นมาจนทุกวันนี้" (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, เล่ม 1, คุรุสภา 2504. หน้า 95)
เหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะมีวิธีการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้อีก
ตลอดลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยา จนนออทะเล อ่าวไทย มีช่วงคดโค้งหลายแห่ง ซึ่งเป็นอุปสรรค ต่อการคมนาคมทางน้ำ พระเจ้าแผ่นดิน ในกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดให้ขุดคลองลัด เพื่อย่นระระทางหลายแห่งด้วยกัน ถ้านับเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมีดังนี้
1. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034 - 2072) ขุดซ่อมคลองสำโรง และคลองทับนาง
2. สมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089) ขุดคลองลัดที่บางกอก
3. สมเด็จพระมหาจักพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111) ขุดคลองลัดที่บางกรวย
4. สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153 - 2171) ขุดคลองลัด เกร็ดใหญ่ที่สามโคก
5. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 - 2199) ขุดคลองลัด จากเมืองนนทบุรี มาออกบางกรวย (หรือตั้งแต่ปากคลองแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี ลงมาจนถึงวัดเขมาฯ)
6. สมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2245 - 2251) ขุดคลองมหาชัย
7. สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251 - 2275) ขุดคลองที่เรียกว่า ปากเกร็ด
แผนที่การขุดแม่น้ำเจ้าพระยา
1. ขุดในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089)
2. สมเด็จพระมหาจักพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111)
3. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 - 2199)
1. ขุดในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089)
2. สมเด็จพระมหาจักพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111)
3. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 - 2199)
แม่น้ำ เจ้าพระยา ที่เห็นว่ามีขนาดใหญ่ กัน กรุงเทพ เพราะถูกขุดให้กว้างขึ้นเพื่อใช้ ในการเดินทางเข้าออกของเรือค้าขายอยุธยา
แต่ พอถึง เกาะเมืองอยุธยา และเลยขึ้นไปเมืองต่าง ๆแล้วจะเห็นได้ว่า ลำน้ำจะมีขนาดเล็กกว่า กรุงเทพ
แม่น้ำเจ้าพระยา
ที่มา:
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
20 VOTES (4/5 จาก 5 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ใคร ๆ ก็มาไทยแลนด์ 'หลิวอี้เฟย' โพสต์รูปเที่ยวเมืองไทยกรมอุตุประกาศเลื่อนฤดูหนาว"เหล่าบอสดิไอคอน" ยังคงรอชะตากรรมในเรือนจำ ไม่รู้ได้ประกันหรือไม่ ?ไฮดี คลุม แปลงโฉมเป็นET ฉลองเทศกาลฮาโลวีนภาพยิ้มแรกของโลก ที่หลายคนยังไม่รู้และไม่เคยเห็น นายแบบหล่อน่ารักมากๆ"บิ๊กเต่า" เปิดเผยความคืบหน้าคดี "ทนายบอสพอล" ฟ้องร้องนักร้อง โดยยืนยันว่ามีความชัดเจนในระดับหนึ่ง พร้อมเตือนให้ตรวจสอบหลักฐานก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเดือดสนั่น ชาวอาเซียนเปิดศึกคอมเมนต์ หลังเจอกัมพูชาลอกชุดและโปสเตอร์ไทยแบบเนียนๆHot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
"เหล่าบอสดิไอคอน" ยังคงรอชะตากรรมในเรือนจำ ไม่รู้ได้ประกันหรือไม่ ?ใคร ๆ ก็มาไทยแลนด์ 'หลิวอี้เฟย' โพสต์รูปเที่ยวเมืองไทยเดือดสนั่น ชาวอาเซียนเปิดศึกคอมเมนต์ หลังเจอกัมพูชาลอกชุดและโปสเตอร์ไทยแบบเนียนๆ"บิ๊กเต่า" เปิดเผยความคืบหน้าคดี "ทนายบอสพอล" ฟ้องร้องนักร้อง โดยยืนยันว่ามีความชัดเจนในระดับหนึ่ง พร้อมเตือนให้ตรวจสอบหลักฐานก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะคนไทยดับจากการยิงจรวด ใกล้ชายแดนอิสราเอล-เลบานอน