‘ตู้เย็นดินเผา’ ไม่ง้อไฟฟ้า ไม่ต้องเติมน้ำยา ราคาเพียง 1,600 บาท
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเมื่อรายงานจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ระบุว่า มีคนจำนวนมากบนโลกใบนี้ที่ทรมานจากการได้รับอาหารไม่พอเพียง ในขณะที่เรากลับทิ้งอาหารกองพะเนินกว่า 1.4 พันล้านตันต่อปี และหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราจำเป็นต้องทิ้งเพราะอาหารสดหมดอายุ เน่าเสีย ทานไม่ได้…จะเก็บยืดอายุอาหารในตู้เย็นเหมือนบ้านเราก็คงไม่มี เหตุเพราะตู้เย็นมีราคาสูง และที่สำคัญ หลายๆ ประเทศที่ด้อยพัฒนาไม่มีแหล่งพลังงานที่เพียงพอสำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อทุกครัวเรือน
ด้วยเหตุนี้ Mansukh Prajapati เจ้าของธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาที่สานต่อแนวคิดจากครอบครัวได้นำคุณสมบัติของเนื้อดินหลังการเผาผสมผสานกับหลักทฤษฎีการระเหยเป็นไอของน้ำ สร้างตู้เย็นดินเผาภายใต้ชื่อ MittiCool ที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า แต่สามารถยึดอายุอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ และนม ได้นานขึ้นกว่าสัปดาห์ตามประเภทและชนิดของอาหารสดนั้นๆ
ตู้เย็นดินเผา MittiCool แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ส่วนด้านบนที่มีฝาเปิด-ปิดสำหรับใส่น้ำให้ความเย็น และส่วนล่างที่เป็นช่องสำหรับใส่อาหารสด โดยใช้เนื้อดินเผาที่มีความพรุนน้ำซึมผ่านได้เป็นส่วนกั้นระหว่างช่องทั้งสอง น้ำที่ถูกเก็บไว้ทางด้านบนจะค่อยๆ ซึมผ่านเนื้อดินสู่ด้านล่าง จากนั้นจะค่อยๆ ระเหยกลายเป็นไอ กระบวนการนี้มีส่วนช่วยให้ช่องเก็บอาหารสดมีความเย็นเพิ่มขึ้น
จากการทดลองพบว่า ช่องเก็บอาหารสดทางด้านล่างมีอุณหภูมิต่ำกว่าภายนอกประมาณ 8 องศาเซลเซียส ซึ่งช่วยให้อาหารคงความสดได้นานกว่าเดิม ลดปัญหาของเน่าเสีย โดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมเลย นอกจากนี้ พื้นที่ใส่น้ำด้านบนยังทำหน้าที่เป็นกระติกน้ำเย็นขนาดย่อม โดยเราสามารถเปิดก๊อกน้ำทางด้านหน้าเพื่อรินน้ำใส่แก้วได้อย่างสะดวก
นอกจากคุณสมบัติชั้นเยี่ยมแล้ว เนื้อดินที่ถูกนำมาใช้ในตู้เย็นดินเผายังเป็นดินที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น Gujarat อันเป็นที่ตั้งของโรงงาน Prajapati แต่ข้อเสียเพียงเล็กน้อยของตู้เย็น MittiCool ที่พบคือ ตู้เย็นดินเผามีน้ำหนักมาก และใช้เวลาในการผลิตต่อชิ้นถึง 10 วัน
ด้วยแนวคิดรักษ์โลก ลดพลังงาน แถมยึดอายุให้กับอาหารสด จึงทำให้นวัตกรรมงานออกแบบตู้เย็นดินเผา MittiCool กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับชุมชนในประเทศด้อยพัฒนาได้อย่างลงตัว
สนนราคาเครื่องละ 50 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 1,600 บาทที่สุดคุ้มค่าจริงๆ
https://www.facebook.com/TownHallNow26/photos/pcb.313723642134121/313723122134173/?type=1&theater
ที่มา www.creativemove.com
ที่มา www.creativemove.com