ความขัดแย้งที่เกิดจากงานก่อสร้าง
ความขัดแย้งในการทำงานก่อสร้างมักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่ทำงาน ยังไม่สิ้นสุด หรือแม้งานเสร็จแล้วก็ยังก็อาจจะมีความขัดแย้งหลงอยู่ได้ ความหมายของคำว่าความขัดแย้งในการทำงานก่อสร้างเกิดขึ้นได้หลายประการ เช่น การขัดแย้งของแบบก่อสร้าง ระหว่างแบบสถาปัตยกรรมและแบบโครงสร้างหรือแบบงานระบบต่างๆ
ตัวอย่างเช่น ในแบบสถาปัตยกรรมกำหนดให้มีพื้นยื่น แต่ในแบบโครงสร้างไม่มีรายละเอียดสำหรับการทำงาน หรือการกำหนดขนาดหรือระดับในแบบขัดแย้งกัน ซึ่งถ้าไม่มีการตรวจพบ ก่อนที่จะทำงานก็อาจจะเกิดความเสียหายจนอาจต้องทุบทำใหม่
สำหรับงานโครงการขนาดใหญ่ที่มีระบบและขั้นตอนการทำงานที่ละเอียดซับซ้อน ความขัดแย้งต่างๆ จะมีการกำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติเพื่อให้งานสามารถสำเร็จลุล่วงได้ เช่น จะต้องมีการทำรายละเอียดของแบบสำหรับก่อสร้าง (Shop Drawing) ให้ผู้ควบคุมงานตรวจสอบอนุมัติก่อนการลงมือทำงานจริง ไม่ใช่ทำตามแบบที่ใช้ประมูลงาน (Contract Drawing) เนื่องจากแบบประมูลงานอาจมีจุดบกพร่องได้ เพราะอาจจัดทำด้วยเวลาที่จำกัด
กล่าวโดยย่อสำหรับงานที่มีระบบแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะมีทางออกของ ปัญหาเสมอ แต่บางครั้งก็มีการฟ้องร้องกัน หรือถ้าเป็นงานของรัฐก็อาจต้องใช้อนุญาโตตุลาการตัดสิน ซึ่งส่วนมากแล้วหน่วยงานรัฐมักจะแพ้ ที่บางครั้งเรียกกันว่า “เสียค่าโง่”
ทว่าความขัดแย้งของงานก่อสร้างที่ไม่ใช่งานที่มีระบบ หรือข้อระเบียบสำหรับแก้ความขัดแย้ง เช่น งานสร้างบ้าน เมื่อทำงานไปก็มีโอกาสที่จะเกิดข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าของและผู้รับเหมาขึ้น ได้
ตัวอย่างที่มักเป็นสาเหตุของความขัดแย้งหลัก คือการเปลี่ยนแปลงเพิ่ม-ลดงานจากรูปแบบสัญญาเริ่มต้น และไม่ได้มีเอกสารสัญญาระบุว่าจะต้องทำอย่างไร ต่างฝ่ายก็จะอ้างเหตุผลของตัวเองเป็นหลัก
ผมขอยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริงกับการทำงานก่อสร้างงานหนึ่งดังนี้ เมื่อได้ทำการตกลงเรื่องราคาค่าก่อสร้างและได้มีการทำเอกสารรายละเอียดของ ราคา (BOQ : Bill of Quantity) ซึ่งในรายการได้รวมวัสดุที่ตกลงกันว่าเจ้าของจะเป็นผู้จัดหา เช่น กระเบื้องและสุขภัณฑ์ แต่ให้ใส่ราคาประมาณการลงใน BOQ เพื่อให้ทราบวงเงินงบประมาณทั้งหมดของงานสำหรับยื่นกู้กับธนาคาร
ผู้รับเหมาก็ได้ใส่ราคาตามความต้องการของเจ้าของ โดยเป็นที่เข้าใจว่ามูลค่างานจริงจากใน BOQ จะต้องหักรายการราคาของวัสดุที่เจ้าของจะเป็นผู้จัดซื้อเอง แต่เมื่อทำงานจริงทางฝ่ายเข้าของนอกจากหักราคาค่าวัสดุที่ซื้อเองแล้วยังให้ หักราคาค่าวัสดุที่ซื้อเองแล้วยังให้หักค่าดำเนินการ-กำไรซึ่งทางผู้รับเหมา คิดเป็นเปอร์เซ็นต์รวมจากมูลค่างานทั้งหมดด้วย
ตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นนี้เนื่องจากเป็นงานเล็ก การคิดราคาค่าดำเนินการ-กำไรของผู้รับเหมาได้คิดประมาณการจากระยะเวลาที่ ต้องทำงานว่าใช้เวลากี่เดือน ควรมีค่าดำเนินการ-กำไรต่อเดือนเป็นเท่าไหร่ และก็ทราบอยู่แล้วว่าจะต้องหักค่าวัสดุออก โดยไม่ได้คาดคิดว่าฝ่ายเจ้าของจะบังคับให้หักค่าดำเนินการ-กำไรออก ตามสัดส่วนของราคาวัสดุด้วย
ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์เรื่องการลดงานลง สำหรับงานขนาดใหญ่จะไม่มีปัญหาข้อโต้แย้ง เพราะจะต้องมีระบุลงในสัญญาอย่างชัดเจนแน่นอน แต่เนื่องจากเป็นงานขนาดเล็กไม่ได้ระบุชัดเจนลงในสัญญาที่นำส่งธนาคารเพื่อ กู้เงิน เป็นเพียงการตกลงด้วยวาจาของทั้งสองฝ่าย ทำให้การทำงานเกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น สุดท้ายผู้รับเหมาก็ต้องเป็นฝ่ายยินยอมเพื่อยุติเรื่อง
ดังนั้นผมขอแนะนำให้การทำสัญญาก่อสร้างจะต้องระบุเรื่องต่างๆ ลงให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดต่อกัน อย่ามองเพียงว่าไม่เป็นไร
เพราะบางครั้งถ้าเป็นความขัดแย้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราคาสูงแล้ว อาจทำให้เรื่องบานปลายจนงานไม่เสร็จ เพราะเกิดการทิ้งงานกลางคันไม่ยอมทำต่อ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของงานได้ครับ