ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีกขาด น่ากลัวกว่าที่คิด
ข้อเท้าพลิก เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นกีฬาโดยเฉพาะผู้ที่เล่นกีฬาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเท้าจะได้รับบาดเจ็บง่าย หรือในกรณี ข้อเท้าพลิก ที่เกิดจากการเดินในที่พื้นผิวขรุขระ
การบาดเจ็บอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อยซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่วันจนไปถึงอาการรุนแรงซึ่งต้องได้รับการรักษาและคำแนะนำจากแพทย์ มิฉะนั้นอาจจะเกิดผลแทรกซ้อนและทุกข์กลภาพในเวลาต่อมา
ซึ่งโดยปกติเมื่อมีข้อเท้าพลิกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการพลิกเข้าด้านใน จะทำให้เอ็นข้อเท้าทางด้านนอกได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทางการแพทย์ได้แบ่งความรุนแรงของการบาดเจ็บออกเป็น 3 ระดับ
- ระดับที่ 1 มีการยืดหรือขาดของเอ็นเพียงเล็กน้อย อาจจะพบเพียงบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ
- ระดับที่ 2 จะมีการฉีกขาดของเอ็นเพียงบางส่วน (โดยปกติจะไม่เกินร้อยละ 50) ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากจนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้
- ระดับที่ 3 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด จะมีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด มักจะพบว่าไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ และส่วนใหญ่จะพบว่ามีความหลวมของข้อ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ เช่น การใช้ไม้ดาม ใส่เฝือก ใช้ผ้ายืดพัน หรือใช้ไม้เท้าพยุงเวลาเดิน
2. ให้ประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยความเย็น ในระยะ 24-48 ชั่วโมงแรก โดยประคบครั้งละ 10-20 นาที วันละหลายๆ ครั้ง เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดมายังบริเวณที่บาดเจ็บ ความเย็นทำให้เส้นเลือดหดตัว ลดการบวม การห้อเลือด การฟกช้ำ ((วิธีการประคบเย็น ให้ใช้น้ำแข็งผสมน้ำใส่ถุงพลาสติกห่อด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่ง แล้ววางที่บริเวณที่บาดเจ็บโดยปกติสามารถวางได้นานถึง 20 นาที หรือจนมีความรู้สึกชา โดยให้ทำเช่นนี้ทุก 2-4 ชั่วโมง เป็นเวลา 2-3 วัน)
3. ไม่แนะนำให้ใช้ความร้อน เช่น ยาหม่อง ครีมนวด เพราะจะทำให้ข้อบวมมากขึ้น
4. ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อที่เคล็ดเพื่อลดบวม แต่ไม่ควรพันแน่นเกินไป เพราะจะทำให้ปลายเท้าบวมได้
5. ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เช่น เวลานั่งควรยกเท้าพาดเก้าอี้ ไม่ควรนั่งห้อยเท้านานๆ เวลานอนก็ใช้หมอนรองขา
6. ถ้าปวดมากอาจรับประทานยาแก้ปวด
7. เมื่อพ้นระยะ 24-48 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ) ให้ใช้ความร้อนช่วย เช่น กระเป๋าไฟฟ้า ถุงร้อน ครีมนวด โลชั่น น้ำมัน สเปรย์ เป็นต้น โดยอาจจะประคบด้วยความร้อน (น้ำอุ่น) 4 นาที สลับกับความเย็น 1 นาที ร่วมกับการบริหารข้อเท้า
กรณีที่มีการบาดเจ็บรุนแรง โดยไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ซึ่งบ่งบอกว่ามีการบาดเจ็บรุนแรง ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะมีการซักประวัติและตรวจร่างกาย และอาจจะต้องมีการตรวจภาพถ่ายรังสีในกรณีที่มีความสงสัยว่ามีกระดูกหักหรือการการบาดเจ็บอื่นร่วมด้วย
เนื่องจากการบาดเจ็บของข้อเท้าโดยการพลิกเข้าด้านในอาจทำให้มีกระดูกหักได้ เช่นบริเวณตาตุ่มด้านในและนอก กระดูกฝ่าเท้า รวมไปถึงกระดูกผิวข้อของข้อเท้า แพทย์อาจจะใส่เฝือกกรณีมีการบาดเจ็บรุนแรงมาก
ส่วนการรักษาในระยะต่อมาจะเป็นการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ และความรู้สึกของเอ็นรอบข้อเท้าเพื่อทีจะเป็นการป้องกันการเกิดการบาดเจ็บซ้ำ ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์