"หอหลวงเชียงตุง" จากมรดกวัฒนธรรมสู่โรงแรมไร้รากเหง้า
โพสท์โดย คุณชายชุน
หอหลวงเมืองเชียงตุงในอดีต
ในอดีต ดินแดนไทยใหญ่ หรือ เมืองไต มีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาล แบ่งเป็น 33 เมือง แต่ละเมืองปกครองด้วยเจ้าฟ้ารวมทั้งหมด 33 พระองค์ ซึ่งระบบเจ้าฟ้ามีความผูกพันกับผู้คนในเมืองไตมาช้านาน เจ้าฟ้าสำหรับผู้คนในเวลานั้นเปรียบเสมือนเจ้าชีวิตและได้รับการยกย่องให้อยู่เหนือประชาชนธรรมดาหอหลวง หรือ พระราชวังของเจ้าฟ้าผู้ครองเมืองจึงเปรียบเสมือนสถานที่อันทรงคุณค่า เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเจ้าฟ้า และรากฐาน วัฒนธรรมไทยใหญ่ เรื่องราวที่จะย้อนรำลึกนึกถึงในวันนี้คือหอหลวงสำคัญของไทยใหญ่นั่นคือ "หอหลงเชียงตุง" วังเก่าเจ้าฟ้าที่เหลือเพียงความทรงจำ แม้ว่าจะถูกทำลายจนไม่เหลือซากจากการคุกคาม ของเผด็จการพม่าก็ตาม แต่สถานที่ดังกล่าวก็ยังอบอวลไปด้วยภาพอดีตที่น่าจดจำและรอยประวัติศาสตร์ที่ชาวไทยใหญ่ไม่มีวันลืม
(เมืองเชียงตุง) ระยะทาง168 กิโลเมตรจากชายแดนอำเภอแม่สาย สภาพถนนลาดยางตะปุ่มตะป่ำและคดเคี้ยว ขนานกับสายน้ำเชี่ยวกราก โอบล้อมด้วยขุนเขาและนาขั้นบันไดเขียวชะอุ่ม การเดินทางไปยังเมือง “เชียงตุง” หากเดินทางด้วยรถยนต์จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
ภาพเมืองเชียงตุงในอดีต(บริเวณด้านหน้าหอคำหรือหอหลวงเจ้าฟ้า)
“เชียงตุง” หรือ “นครเขมรัฐ” เป็นเมืองสำคัญอันดับต้นๆ ของเมืองไตในอดีต ปัจจุบันคือเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของรัฐฉาน โดยเฉพาะชาวไทยที่แห่กันไปเที่ยวหลังจากมีละครอิงประวัติศาสตร์เชียงตุงเผยแพร่ในโทรทัศน์ ในอดีต เชียงตุงมีความเจริญมาก มีเมืองบริวารหลายสิบเมือง สมัยที่เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือ เจ้าอินแถลงเป็นเจ้าฟ้าครองเมืองคือช่วงที่เชียงตุงเรียกได้ว่ารุ่งเรืองถึงขีดสุด และในช่วงนี้เองที่มีการสร้างหอหลวงเชียงตุงซึ่งมีความงดงามใหญ่โตและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาหอหลวงทั้งหลายในเมืองไต
เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ผู้สร้างหอหลวงเชียงตุง
หอหลวงเชียงตุงถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2448 หลังจากที่เจ้าอินแถลงกลับจากการประชุมร่วมกับขุนนางอังกฤษที่ประเทศอินเดีย หอหลวงเป็นอาคารคอนกรีตใหญ่โตและสง่างามแบบอินเดียผสมยุโรปและมีหลังคาแบบไทยเขิน ที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ที่เจ้าฟ้าใช้ว่าราชการและใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
เจ้านางสุคันธาหนึ่งในพระธิดาของเจ้าอินแถลง (สมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่และใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่จนสิ้นชีวิต) ได้รำลึกความทรงจำช่วงวัยเด็กเกี่ยวกับหอหลวงไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้านางที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านั้นว่า หอหลวงเชียงตุงมีห้องใหญ่โตถึงเก้าห้อง แบ่งออกเป็นสามปีก ปีกซ้ายเป็นห้องของเจ้าฟ้า ห้องโถงใหญ่ใช้สำหรับรับรองขุนนางเวลามีงานใหญ่โต และถัดไปเป็นห้องเก็บเงิน ท้องพระคลัง “ฉันยังจำได้ว่า เวลาที่พวกพนักงานเทเงินออกมานับ บางทีเราโชคดีเราเล่นกันอยู่ข้างล่าง จะมีเงินไหลลอดออกมาจากพื้นข้างบน ได้มาครั้งละแถบๆ”
เจ้านางสุคันธาพระธิดาในเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
ส่วนห้องของมหาเทวีอยู่ส่วนหลังของอาคาร ปีกขวาเป็นห้องของเจ้าจอมสามห้อง และห้องมหาดเล็กอีกหนึ่งห้อง บริเวณชั้นล่างส่วนหนึ่งแบ่งไว้สำหรับต้อนรับเวลามีงานปีใหม่หรือจัดงานเลี้ยงพวกเจ้าเมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุงเมื่อเข้ามาคารวะเจ้าฟ้าในพิธีคารวะ ซึ่งเจ้าเมืองต่างๆที่อยู่ในอาณัติจะมาแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้าฟ้าเชียงตุงปีละสองครั้ง คือช่วงปีใหม่และออกพรรษา พิธีดังกล่าวจะมีด้วยกันสองวัน วันแรกเป็นการรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าฟ้า โดยจะมีอาหารหลักอยู่ห้าอย่างคือ แกงฮังเล น้ำซุปถั่วลันเตา ผักกุ่มดอง แคบหมูกับน้ำพริกอ่อง และข้าวเหนียว ส่วนวันที่สองจึงจะเป็นพิธีคารวะ
“ในวันนี้เจ้าพ่อจะประทับบนแท่นแก้ว ส่วนพวกเจ้าเมืองจากสามสิบกว่าเมืองจะทยอยกันเข้าไปในห้องพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนมาวางไว้ตรงหน้าแท่นที่เจ้าพ่อประทับคนละขัน เชื่อไหมว่า เขาปักเทียนเล่มใหญ่อย่างกับท่อนไม้มาในขันที่ทำจากเงินแท้ ตีเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบางๆ เจาะรูตรงกลางประดับด้วยดอกบานไม่รู้โรยทั้งข้างบนข้างล่าง เสียบมาโดยรอบเทียนจำนวนห้าดอก หลังจากนั้น เจ้าเมืองจะ “สูมา” หรือไหว้เจ้าพ่อ เจ้าพ่อให้พรตอบ แล้วพวกช่างฟ้อนก็มาฟ้อนหางนกยูงให้พวกแขกบ้านแขกเมืองดู เป็นอันเสร็จพิธี” ภาพในอดีตอันแจ่มชัดถูกบอกเล่าโดยเจ้านางสุคันธา ในหนังสือเล่มเดียวกัน
เจ้าจายหลวงเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเชียงตุง
ทว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ของสหภาพพม่าได้ทำให้ความทรงจำ เกี่ยวกับชีวิตในหอหลวงเชียงตุงของเจ้านางต้องกลายเป็นเพียงอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับคืน เมื่อนายพลเนวินกระทำการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2505 ซึ่งในขณะนั้นเป็นสมัยที่เจ้าจายหลวงสืบทอดราชบัลลังก์รุ่นหลานของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง (ปกครองเมืองต่อจากเจ้าฟ้า ก๋องไตผู้เป็นบิดาซึ่งถูกคนร้ายลอบสังหารหน้าหอหลวง) รัฐบาลเนวินไม่ต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นสหภาพพม่าในขณะนั้นแยกตัวออกจากพม่าไปปกครองตนเองตามข้อตกลง ในสนธิสัญญาปางหลวง จึงต้องกำจัดแกนนำคนสำคัญทางการเมืองให้หมดไป เจ้าจายหลวงถูกคุมขังในกรุงย่างกุ้งนานถึง 6 ปีจนสิ้นพระชนม์ นับจากนั้นเป็นต้นมา หอหลวงเชียงตุงคู่บ้านคู่เมืองได้ถูกยึดให้เป็นสถานที่ราชการของทางการพม่าและถูกทุบทิ้งทำลายลงโดยไม่เหลือเศษซากในปี พ.ศ.2534 โดยรัฐบาลอ้างเหตุผลเพื่อการท่องเที่ยว รัฐบาลพม่าได้ใช้แรงงานนักโทษในการรื้อถอนโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากชาวเมืองหรือแม้กระทั่งการร้องขอจากพระสงฆ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ นอกจากนี้ยังจับชาวบ้านบางคนที่พูดตำหนิการกระทำของเจ้าหน้าที่ขังคุกอยู่หลายปี และ
ลงนามสนธิสัญญาปางโหลง
ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2540 รัฐบาลพม่าได้สร้างโรงแรมนิวเชียงตุงขึ้นมาทับพื้นที่ที่เคยเป็นหอหลวงเดิมทำให้ชาวเมืองต้องเจ็บปวดใจเป็นครั้งที่สอง การทำลายหอหลวงซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของวัฒนธรรมและรากเหง้าของคนไทยใหญ่โดยสร้างโรงแรมขึ้นมาทับ ในขณะที่เมืองเชียงตุงมีที่ว่างมากมายพอที่จะสร้างโรงแรมได้นับไม่ถ้วน ถือเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีวันลืมไปจากความทรงจำของชาวไทยใหญ่ได้ ในยุคหลังๆ “เจิงแลว” หรือ “Freedom Way” วงดนตรีไทยใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการแต่งเพลงสะท้อนการเมืองในพม่า ได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในฐานะคนรุ่นหลังผ่านบทเพลงภาษาไทยใหญ่ที่มีชื่อว่า “หอหลวงเชียงตุง” มีใจความว่า
“ร้อยปีพันปี ปลูกสร้างมาตั้งแต่ยุคปู่ย่าตายาย นอนก็ไม่ฝันจะจมหายไป (หอหลวงเชียงตุงๆ) เสียดายจริงๆ เจ้าของไปอยู่แห่งใด ไม่เสียดายมรดกของแผ่นดินหรือวัฒนธรรมเก่าแก่ ประชาชนเสียดายพวกเราเสียดายแทนเจ้าของอย่าคิดจะก้มหัว อย่าคิดจะหวาดกลัว จงโต้เถียงคืนเถิดเจ็บใจนัก ยักษ์แปดตนที่ให้เฝ้าเมืองเชียงตุงไปซุกอยู่ซอกมุมใดพระสงฆ์กับประชาชน พวกที่ห้ามปรามเขาเป็นแต่การห้ามเปล่าๆ จงลุกฮือรบเอาเถิดแย่งเอาฟันเอาแทงเอาจึงจะได้ธรณีสูบคนนั้น สูบแค่คนเดียวแต่คนกลืนชาตินั้น มันมอดม้วยตระกูลหายยืนยาวคราวไกล ใครเล่าจะลืมได้ พร้อมใจกันจดจำไว้เถิด”
เรื่องราวของสิ่งลี้ลับและอาถรรพ์ของวิญญาณที่เสียชีวิตในระหว่างการรื้อถอนอาคารซึ่งต้องใช้เวลานานนับเดือนเป็นที่กล่าวถึงในหมู่ชาวบ้าน โรงแรมนิวเชียงตุงที่อยู่เบื้องหน้าเราในวันนี้จึงแทบไม่ต่างอะไรกับภาพนิ่งที่ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิตและวี่แววความเคลื่อนไหวใดๆ นอกจากเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทหารพม่านายหนึ่งที่ประจำการอยู่ในป้อมยาม เรื่องราวของสิ่งลี้ลับอาจยากต่อการพิสูจน์ จะจริงเท็จอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่การใช้การท่องเที่ยว เป็นเหตุผลในการทุบหอหลวงนั้น ชาวเมืองเชียงตุงรู้ดีว่าเป็นเรื่องโกหกของรัฐบาลพม่าโดยที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์ใดๆ
ในวันนี้หอหลวงเชียงตุงจึงเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ถูกแทนทับด้วยโรงแรมไร้รากเหง้าแห่งเงาเผด็จการ เมื่อชาวเมืองเชียงตุงผ่านผืนดินตรงนั้นคราใดก็เหลือแต่เพียงความทรงจำอันเจ็บปวดและหดหู่จากการกระทำของรัฐบาลเผด็จการไร้สัจจะ
ที่มา: http://salweennews.org/home/?p=3462 , wikipedia , pantip , picpost postjung, คุณชายชุนเรียบเรียง
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
72 VOTES (4/5 จาก 18 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 มาแน่! คนทั่วไปรับผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
น้องเต้าหู้แจกไข่ให้ชาวบ้าน แต่กลับเจอมนุษย์ป้ารุมเข้ามาจัดการ ทำเอาน้องอึ้งจนพูดไม่ออก เห็นแล้วรู้สึกอายแทนจริงๆน้ำใจยิ่งใหญ่! หนุ่มไร้เงินขอติดรถกลับบ้าน เจอผู้ให้เต็มคันสุดอบอุ่น