"เงินถุงแดง" มรดกรัชกาลที่ 3 ที่รักษาเอกราชของชาติ จากวิกฤต ร.ศ.112
"พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"
ความหมายของ เงินถุงแดง
“เงินถุงแดง” เป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิศริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
นอกจากจะถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถใช้ในการแผ่นดินแล้ว ทรงเก็บหอมรอมริบเงินที่ได้จากการค้าส่วนพระองค์ไว้เป็นจำนวนมากโดยเก็บใส่ "ถุงผ้าสีแดง" ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “เงินพระคลังข้างที่” คำว่า “พระคลังข้างที่” ทรงพระราชทานเป็นทุนสำรองให้แก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขันในเวลาต่อมา
เงินในถุงแดงที่ทรงสะสมนี้ประมาณ 4 หมื่นชั่งเศษ โดยก่อนเสด็จสวรรคตได้มีพระดำรัสสั่งเสียมอบเงินถุงแดงนี้ไว้ใช้ไถ่บ้านไถ่เมือง แต่ได้ทรงขอไว้สำหรับปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเสีย 1 หมื่นชั่ง ซึ่งภายหลังก็จริงดังพระราชดำรัส เมื่อถึงเวลาต้องไถ่บ้านไถ่เมืองกับฝรั่งเศสในสมัย รศ 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยเราต้องใช้เงิน 3 หมื่นชั่งเศษของพระนั่งเกล้าฯ ไถ่บ้านไถ่เมือง ซึ่งเวลานั้นก็ประมาณ สองล้านห้า-สองล้านหก ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย
ในเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศามหาโกษาธิบดี ได้กล่าวถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่สำคัญเมื่อใกล้สวรรคตพระราชทานแก่ขุนนาง ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าฯ ไว้ว่า
"การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด
ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใยได้หมด อาลัยแต่วัดวา สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด
ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทำนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายในราชการแผ่นดินมีอยู่ 40,000 ชั่งนี้
ขอสัก 10,000 ชั่งเถิดให้ไว้บำรุงวัดวาที่ยังค้างอยู่"
จากพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงถึงพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของรัชกาลที่ 3 ทรงเห็นภัยคุกคามเอกราชสยามจากชาติตะวันตกในยุคนั้น ทรงห่วงใยบ้านเมืองและวัดวาอารามที่ทรงสร้างขึ้นไว้ให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 3
มีข้อสังเกตว่าในคติจีนมีความเชื่อว่า ถุงผ้าสีแดงสามารถขับไล่ภยันตรายและสิ่งชั่วร้ายได้ และสื่อความหมายอันเป็นมงคล และความโชคดี สันนิษฐานว่าการเก็บเงินใส่ถุงผ้าสีแดง อาจได้รับอิทธิพลจากคติจีนดังกล่าว ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างเฟื่องฟู จึงน่าจะสัมพันธ์กับการนำเงินใส่ซองสีแดงมอบให้ลูกหลานในเทศกาลหรืองานมงคลของจีน อันแสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวย ความสุขสวัสดิมงคลและความโชคดีด้วยเช่นกัน
เหรียญที่อยู่ในเงินถุงแดง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ สื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนและใช้ในระบบเศรษฐกิจและการค้าขายระหว่างประเทศ จึงน่าจะเป็นเงินเหรียญต่างประเทศที่มีการยอมรับกันในยุคนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเงินต่างประเทศ เช่น เงินเม็กซิโก เงินเปรู และเงินรูปีของอินเดีย เป็นต้น เป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันอยู่ในเมืองไทยแล้ว แม้ว่าสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าของไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นเงินพดด้วงก็ตาม
สันนิษฐานว่าเงินใน ถุงแดงน่าจะเป็นเงินต่างประเทศที่ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น ดังเช่น เหรียญรูปนกของเม็กซิโก ซึ่งใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่หลายชาติให้การยอมรับในสมัยนั้น
เหรียญนกเม็กซิโก มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนมีรูปนกอินทรีย์อยู่ด้านหนึ่ง (รูปนกอินทรีย์กางปีกปากคาบอสรพิษ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก) ไทยจึงเรียก "เหรียญนก"
นอกจากนี้จากข้อสันนิษฐานที่เชื่อว่าเหรียญนกเม็กซิโกเป็นเหรียญเงินในถุงแดง เนื่องจากเหรียญนกเม็กซิกันที่พบเป็นรูปพิมพ์ มีความพิเศษที่พิมพ์กำกับปี ค.ศ.1821-1921 (พ.ศ.2364-2464) ไว้ว่าเป็นที่ระลึกเมื่อครบรอบหนึ่งศตวรรษที่นำออกใช้ เหรียญดังกล่าวน่าจะเป็นเหรียญเงินที่ใช้ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) สอดคล้องกับหลักฐานเอกสารฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเงินค่าปรับสงครามของไทยที่ชำระด้วยเหรียญเม็กซิกัน ในเอกสารฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเงินเม็กซิกันที่บรรทุกมาใส่เรือมาจากสยามในเหตุการณ์ ร.ศ.112 มีน้ำหนักประมาณ 23 ตัน
หนังสือพิมพ์ในยุโรปลงภาพล้อเลียนสงครามฝรั่งเศส-สยาม
ว่าเป็นดั่งเหมือน "หมาป่ากับลูกแกะ"
วิกฤตเหตุการณ์ ร.ศ.112
ไทยต้องจ่ายค่าปรับแก่ฝรั่งเศส ภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะเสียดินแดน
เหตุการณ์ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) สมัยรัชกาลที่ 5 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ไทยเกือบเสียเอกราชมากที่สุด เมื่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพลเข้ามา
ภาพการรบระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ใน วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ
ซึ่งนำไปสู่การเสียดินแดนฝั่งซ้ายลุ่มแม่น้ำโขง ยึุดเมืองจันทบุรีเป็นประกันและไทยต้องเสียค่าปรับจำนวนสูงมาก
ในวันที่ 13 กรกฏาคม ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) เรือรบฝรั่งเศสก็ได้ชัยชนะ รุกผ่านเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยา เทียบท่าอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในพระนครได้สำเร็จ และได้หันปืนใหญ่น้อยบนเรือจังก้าเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง โดยฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลสยามมีอยู่ข้อหนึ่งที่สยามต้องจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์ โดยชำระเป็นเงินเหรียญทันทีเป็นการชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ โดยกำหนดภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสจะปิดอ่าวไทยทันที และสั่งทูตฝรั่งเศสออกจากสยาม โดยสยามอาจตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้
ซึ่ง “วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒” เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในอดีตที่สร้างความเศร้าโศก เสียพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่เป็นอันเสวยหรือบรรทม จนประชวรหนัก เพราะเหตุทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัย ขมขื่นและระทมทุกข์ จากชาิติฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม จนท้อพระทัยว่า พระนามของพระองค์จะถูกลูกหลานในอนาคตติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เปรียบเสมือนสองกษัตริย์ “ทวิราช” ที่สูญเสียเศวตฉัตรแห่งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้กับอังวะในปี พ.ศ. 2310 และเป็นที่ทราบกันดีว่าวิฤติการณ์ ร.ศ.112 ในครั้งนี้ ได้เป็นจุดเริ่มแห่งความเจ็บช้ำในพระทัยต่อพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์และทรงจดจำมิลืมเลือน จึงทรงสักยันต์ "ตราด ร.ศ.๑๑๒" ไว้ตรงพระอุระของพระองค์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความเจ็บช้ำที่เกิดจากเหตุการณ์ในกาลนั้น
ในเรื่อง สืบจากภาพอิสรภาพของสยามแลกด้วยเงินค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์ ได้กล่าวว่า
“ปัญหาของไทยในตอนนั้นคือ การที่จะแสวงหาเงินจำนวนมากนั้นมาชำระให้ทันเส้นตาย
เสนาบดีพระคลังมหาสมบัติถวายรายงานจำนวนเงินในพระคลังไม่เพียงพอกับจำนวนที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง
แต่แล้วมีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทูลเตือนให้ทราบถึงเงินพระคลังข้างที่
จากสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสะสมไว้จำนวนหนึ่งในถุงแดง”
"ภาพทางการฝรั่งเศสขนเงินเหรียญนกเม็กซิโก เป็นเงินแผ่นดินที่เก็บในถุงแดง
ซึ่งสะสมใว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จำนวน 3,000,000 ฟรังก์เหรียญทอง หรือราว 1,560,000 บาทในขณะนั้น
พร้อมกับสยามต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วย เพื่อเป็นค่าปรับจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112"
เงินถุงแดงจึงถูกนำมาใช้สมทบเป็นค่าปรับที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง โดยนำไปสมทบกับเงินในท้องพระคลังหลวงที่มีอยู่นำไปเป็นค่าปรับสงครามแก่ฝรั่งเศส ก็ยังไม่พอกับเงิน 3 ล้านฟรังก์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการ จึงช่วยกันถวายเงิน ทองและสร้อย เพชรนิลจินดาไปแลกเป็นเงินเหรียญ รวบรวมใส่ถุงขนออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูต้นสนไปยังท่าราชวรดิษฐ์กันตลอดทั้งวันทั้งคืนออกไปหลายเที่ยว เนื่องจากมีเวลาจำกัดเพียง 48 ชั่วโมง กล่าวกันว่าน้ำหนักของเงินเหรียญที่ใส่รถออกไปหลายเที่ยว ทำให้ถนนเป็นรอยสึกเพราะน้ำหนักของเงินเหรียญจำนวนมากมายมีน้ำหนักถึง 21 ตัน
บทส่งท้าย
เงินถุงแดง ไม่ได้เป็นเพียงแต่พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงนำมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองในเหตุการณ์ ร.ศ.112 เท่านั้นแต่เรื่องราวของเงินถุงแดงยังได้สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ส่งอิทธิพลให้เกิดเหรียญกษาปณ์ไทยในสมัยต่อมา
นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็น พระราชวินิจฉัยและพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ทรงเล็งเห็นภัยที่คุกคามเอกราชของประเทศชาติของชาติตะวันตกในยุคนั้น กับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดกับสยามประเทศในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นไปตามที่ทรงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าถึง 43 ปี
"การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้
การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว"
พระราชดำรัสของพระองค์ซึ่งได้กล่าวในข้างต้นเป็นสิ่งที่ทันสมัยและเป็นสิ่งที่คนไทยในปัจจุบันควรยึดถือปฏิบัติตาม เงินถุงแดงจึงเป็นเหมือนสิ่งเตือนสติคนไทยให้ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท รู้จักเก็บออมไว้เพื่อไว้ใช้เมื่อยามจำเป็นดังนั้นเงินถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสะสมและพระราชทานให้แก่แผ่นดินนำมาใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองจนสามารถช่วยกอบกู้เอกราชของชาติไว้ได้ จึงถือเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยให้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยและสยามประเทศ.
จากเจ้าของกระทู้. :: อ่านเพื่อประเทืองปัญญา เพราะใครหลายคนอาจลงลืมไปบ้างกระมัง ว่ากว่าจะเป็นไทย บรรพบุรุษต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง. เราจะยอมให้ประเทศถูกแบ่งแยก ออกไปอีกอย่างนั้นหรือ..
======================
เรียบเรียงจากที่มา :
http://quietwordz.wordpress.com/2006/04/24/เงินถุงแดง-มรดกจากรัชกา/
ภาพประกอบ จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์_ร.ศ._112
http://www.klangluang.com/th/index.php?option=com_content&task=view&id=379&Itemid=1