หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ความเป็นมาของว่าวไทย

โพสท์โดย I AM THOR

ว่าวเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันดีมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นการละเล่นและเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของ
ประเทศ เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ราคาก็ไม่แพงมากนัก หรือถ้าสามารถทำเองได้ยิ่งประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะวัสดุที่ใช้ทำก็เป็นวัสดุพื้นบ้าน
ที่หาได้ง่าย แต่การทำต้องมีทักษะว่าวจึงจะขึ้นได้ดี เรียกว่าติดลม การเล่นว่าวมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มิได้เป็นการเล่นเพียงแต่สนุกสนาน
เหมือนกับปัจจุบันนี้เท่านั้น มีประวัติและความเป็นมาที่น่าสนใจของตำนานว่าวไทย

ประวัติและความเป็นมาของว่าวไทย
ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ว่าวมิได้ใช้เฉพาะเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่มีการใช้ว่าวในการสงคราม คือตอนที่พระยายมราช (สังข์)
เจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นกบฎ พระเพทราชาสั่งกองทัพไปปราบเมืองไม่สำเร็จ ในครั้งที่ 2 แม่ทัพอยุธยาคิดเผาเมืองอุบายหนึ่งนั้นใช้หม้อ
ดินบรรจุดินดำผูกสายป่านว่าวจุฬาไปถึงหม้อดินดำระเบิดตกไปไหม้บ้านเมืองจากประวัติศาสตร์ตอนนี้ปรากฏเป็นชื่อว่าวจุฬาเป็นครั้งแรก
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวยังคงเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมโดยเฉพาะรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสนับสนุนกีฬาเล่นว่าว มีการประกวดและแข่งขันว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า โดยมีกติกาการแข่งขันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การแข่งขัน
ยุติธรรมและสนุกสนาน สถานที่เล่นว่าวในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันคือท้องสนาม
หลวง ส่วนในต่างจังหวัดก็นิยมเล่นตามที่โล่งกว้าง หรือตามท้องนาทั่วไป ซึ่งไม่มีต้นไม้เป็นที่ขัดขวางของการเล่น และสะดวกต่อเล่น ต่อมา
ประเทศมีการพัฒนา ผู้คนมากขึ้น ทำให้สภาพในเมืองหลวงหรือตัวเมืองในจังหวัดอื่น ๆ มีชุมชนแออัด สิ่งก่อสร้างตึกรามและสายไฟต่างๆ
เป็นสิ่งกีดขวางของการเล่นว่าว ประกอบสภาพเศรษฐกิจทำให้คนต้องดิ้นรนทำมาหากิน ไม่มีจิตใจที่จะคิดสนุกสนานไปชมการเล่นว่าวได้
ดังแต่ก่อน จึงทำให้วงการกีฬาว่าวซบเซาไประยะหนึ่ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2526 ได้มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนได้ร่วมมือกันฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้นมาอีกครั้ง โดยการ
จัดงาน "มหกรรมว่าวไทย" ณ บริเวณท้องสนามหลวง มีการประกวดว่าวชนิดต่าง ๆ มากมาย ทั้งว่าวแผง ว่าวประเภทสวยงาม ประเภท
ความคิด และว่าวตลกขบขัน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในงานนี้ด้วย และในปีต่อมา
คือ พ.ศ.2527 ทางกรุงเทพมหานครก็ได้จัดงานนี้อีกเรียกว่า "งานประเพณีว่าวไทย" ณ ท้องสนามหลวง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ก็เสด็จฯเป็นองค์ประธานอีกครั้ง ส่วนสำคัญคือการประกวดว่าวภาพและการแข่งขันว่าวจุฬา กับว่าปักเป้า นอกจากนั้น
มีนิทรรศการว่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ประชาชนได้ชม และในปีต่อ ๆ มาทางกรุงเทพมหานครก็ได้จัดงานประเพณีการเล่นว่าวขึ้นทุกปีจน
ถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาชมเป็นอย่างมาก ได้ความสนุกสนาน และเชียร์กันขณะมีการแข่งขันว่าว ณ บริเวณ
ท้องสนามหลวง

การทำว่าวจากภูมิปัญญาของคนไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน มีอยู่ 5 ประเภท
1. การทำว่าวจากวัสดุธรรมชาติ ใช้ใบตองตึงเป็นวัสดุในการทำตัวว่าว ใบตองตึงไม่ใช่ใบกล้วยเป็นใบไม้ทางภาคอีสานในอดีตใช้ห่อ
อาหาร ลักษณะเป็นใบใหญ่ ๆ นำมาตากแห้งหรือใบไม้อื่น ๆ เช่น ใบกระบอก ใบยางแดง ใบมะม่วงหิมพานต์ หรือใบไม้ต่าง ๆ ที่มีขนาด
ใหญ่ เป็นการทำว่าวลักษณะง่าย นำใบไม้มาต่อเชือกติดหาง ซึ่งเด็ก ๆ ในชนบทภาคต่าง ๆ นิยมนำมาทำเล่นเรียกว่า ว่าวใบไม้
2. การทำว่าวจากกระดาษธรรมดาหรือกระดาษทำว่าวขั้นตอนวิธีการทำเริ่มจากมีแบบแผนมากขึ้นวิธีการทำตัดกระดาษทำว่าวตาม
แบบ ติดกระดาษทำว่าวเข้ากับโครงว่าทำจากไม้ไผ่ ผูกซุงต่อเชือกต่อหางหรือไม่มีหางก็ได้ การทำว่าวประเภทนี้จะมีการทำแบบ การขึ้น
โครง การวัดตัดที่มีสัดส่วนสมดุลย์ เช่น ว่าวประทุน หรือว่าวกระป๋อง ว่าวอีลุ้มเป็นว่าวไม่มีหาง แต่ถ้ามีหางจะเรียกว่าว่างปักเป้ามา ว่าวหัวฉีก
ว่าวปลา ว่าวปลาปีกแอ่น ฯลฯ
3. การทำว่าวมีลักษณะซับซ้อนมากกว่าประเภทที่ 2 ติดอุปกรณ์เสริมทำให้เกิดเสียงขณะที่นำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าเรียกว่า แอกหรือสะนู
หรือธนู มีลักษณะทำจากไม้ไผ่ทรงกระบอกส่วนกลางกลวงนำมาติดเข้ากับโครงว่าวบริเวณส่วนหัวของว่าว เมื่อว่าวกินลมบนท้องฟ้าจะมีเสียง
ดังแอก ๆ เสียงจะยาวหรือสั้น ดังหรือค่อยขึ้นอยู่กับเทคนิคการทำแอก เช่น ว่าวควาย ว่าวนกปีหมอน ว่าวนกปีกแอ่น ว่าววงเดือน หรือที่
ประเทศมาเลเซียเรียกว่า ว่าวบูรันบูแล
4. การทำว่าวในลักษณะแผงความเชื่อเครื่องลางของขลัง การทำว่าวรูปผีและการเล่นว่าวผีมีลักษณะไม่แตกต่างกับการเล่นว่าวชนิด
อื่น ๆ แต่แผงด้วยความเชื่อ เมื่อชักว่าวขึ้นท้องฟ้าปลิวขาดตกบนหลังคาบ้านหรือบริเวณบ้านใคร บ้านนั้นต้องมีการนิมนต์พระมาสวดหรือทำ
บุญให้ครบ 7 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าโชคร้ายหรือจะมีเรื่องไม่ดีเข้ามาสู่บ้าน ลักษณะของว่าวผีส่วนหัวเป็นหน้าผีแลบลิ้นยาว ๆ พุงโตเหมือนหนัง
ตะลุง มีแขนมีขา จะดูว่าเป็นผีตัวผู้หรือผีตัวเมียให้สังเกตที่อวัยวะเพศ มีผ้าสีแดงเรียกว่าตะปิ้งปิดบริเวณอวัยวะเพศ เอกลักษณะของว่าวทำ
ให้คนพบเห็นน่ากลัว และติดแอกเพื่อทำให้เกิดเสียงดังขึ้นเวลาชักอยู่บนท้องฟ้า
5. การทำว่าวมีการออกแบบตกแต่งพิเศษทำให้สวยงามมีรูปร่างแปลก ๆ เช่น ว่าวแมงปอ ว่าวงู หรือว่าวประดิษฐ์อื่น ๆ เช่น ว่าวสิงห์
ของบริษัทบุญรอด ว่าวประเภทสวยงามทุกชนิด

ปัจจุบันว่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ

1. ว่าวแผง คือว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้าง และส่วนยาว ตัวอย่างเช่น ว่าวจุฬา ปักเป้า อีลุ้ม หรือว่าวรูปสัตว์ ต่าง ๆ
2. ว่าวภาพ คือว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษเพื่อแสดงแนวคิด ฝีมือในการประดิษฐ์ แบ่งเป็นประเภทย่อยได้ 3 ชนิด
ว่าวประเภทสวยงาม
ว่าวประเภทความคิด
และว่าวประเภทตลกขบขัน
ว่าวแผงเท่านั้นที่นิยมนำมาคว้าหรือแข่งขันกัน ส่วนว่าวภาพจะทำสำหรับชักขึ้นอวดรูปร่างว่าวมากกว่าและนิยมชักให้ลอยนิ่งอยู่ใน
อากาศให้คนชม

ว่าวในแต่ละภาคของประเทศไทย
ถ้าจะกล่าวถึงเอกลักษณ์ของการทำว่าวในแต่ละภาคของประเทศไทยแล้วก็ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้เล่น และ
ก็ขึ้นอยู่วัยของผู้เล่นด้วย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะทำยากขึ้นมาหน่อย ว่าวไทยในแต่ละภาคของประเทศไทย แยกได้ดังนี้

ภาคกลาง
ว่าวที่เล่นกันมีรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแบบดั้งเดิม คือว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวหาง ว่าวอีแพรด ว่าวอีลุ้มส่วน
รูปแบบใหม่ที่รับมาจากต่างประเทศ เช่น ว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวปลา ว่าวคน ว่าวผีเสื้อ

ภาคเหนือ
ลักษณะของว่าวไทยภาคเหนือ แต่เดิมมีรูปแบบที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ โดยมีโครงทำจากไม้ไผ่ นำมาไขว้กันมีแกนกลางอันหนึ่ง และอีก
อันหนึ่งโค้งทำเป็นปีกว่าว จะไม่ใช้เชือกช่วยในการทำโครงก่อน ใช้กระดาษปิดทับโครงไม้เลยทีเดียว รูปร่างของว่าวก็คล้าย ๆ กับว่าวปักเป้า
ของภาคกลาง แต่ไม่มีหางและพู่และมีชนิดเดียว ไม่มีหลายประเภทเหมือนภาคกลาง ลักษณะของว่าวก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยหา
ซื้อว่าวตามท้องตลาด ซึ่งเป็นว่าวรูปแบบใหม่ ๆ คือรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ว่าวงู ว่าวนก

ภาคตะวันออก
ว่าวที่มีรูปแบบดั้งเดิม และรูปแบบที่เหมือนกับภาค อื่น ๆ ได้แก่ ว่าวอีลุ้ม ว่าวหาง ว่าวหัวแตก ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวกระดาษ และว่าวใบ
มะกอกส่วนว่าวรูปแบบจากต่างประเทศไม่เป็นที่นิยมในภาคนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประชาชนส่วนมากนิยมเล่นว่าวพื้นเมืองกัน และว่าวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ ว่าวหาง หรือว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไปได้แก่ว่าวอีลุ้ม
(หรือว่าวอีลุ่ม) ว่าวปลาโทดโทงและว่าวประทุน บางครั้งก็มีการแข่งขันในงานบุญ เช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ การแข่งขันว่าวนี้ตัดสินได้หลายอย่าง
เช่น ว่าวสวย ว่าวที่ขึ้นได้สูงที่สุดหรือว่าวที่มีเสียงดังเพราะที่สุด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีจัดการแข่งขันว่าวเป็นกีฬาพื้นเมืองของจังหวัด

ภาคใต้
ในภาคใต้นี้มีว่าวเล่นกันจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตจังหวัดสงขลา มีว่าวที่มีรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น ว่าวนก ว่าวนกปีกแอ่น ว่าวนกยูง
ว่าวปลาวาฬ ว่าวปลาปีกแอ่น ว่าวควาย ว่าวใบยาง และว่าวกระป๋อง หรือว่าวกระดาษ เป็นต้น ในเขตจังหวัดที่อยู่ใต้สงขลาลงไปนั้น ชาวบ้าน
นิยมเล่นว่าววงเดือนอย่างเดียว ว่าวที่มีรูปแบบอื่น ๆ ไม่นิยมประดิษฐ์กัน และที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของภาคใต้คือ มักนิยมติดแอกหรือที่เรียก
กันว่าสะนู หรือธนู ไว้ที่ส่วนหัวของว่าว
หากจะกล่าว ถึงว่าวไทยด้วยกันแล้ว ว่าวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ว่าวจุฬา กับว่าวปักเป้า แม้จะทำเล่นกันเฉพาะในภาคกลาง
ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นว่าวประจำชาติไทย มีลักษณะผิดแปลกแตกต่างกับว่าวของชาติต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปร่าง ทั้งการเคลื่อนไหวใน
อากาศ กล่าวคือเป็นว่าวที่สวยงามด้วยรูปทรงและฝีมือที่ประดิษฐ์อย่างประณีตที่สุด และสามารถบังคับให้เคลื่อนไหวได้ด้วยอาการต่าง ๆ
อย่างสง่างามและคล่องแคล่วว่องไว ด้วยสายป่านที่ชักว่าวนั้นเพียงสายเดียว ตรงข้ามกับว่าวนานาชาติ ที่มีความสวยงามที่สีสรรแพรวพราว
แต่ส่วนมากลอยลมอยู่เฉย ๆ ไม่อาจบังคับให้เคลื่อนไหวอย่างว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าได้ ว่าวจุฬา มีลักษณะคล้ายดาวห้าแฉก มุมไม่เท่ากัน
ไม่มีหาง ผูกคอซุงที่อก ทำให้ส่ายไปมาได้ ส่วนว่าวปักเป้ารูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ผูกคอซุงที่อกเช่นเดียวกัน มีหางยาวไว้ถ่วง
น้ำหนักที่มุมล่างของตัวว่าว

กติกาการแข่งขัน
ถ้าดูจากขนาดรูปร่างแล้ว ว่าวจุฬามีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของว่าวปักเป้า หรืออาจโตกว่าปักเป้า บางตัวมีความยาวถึง 2 เมตร ว่าว
จุฬามีอาวุธคือ "จำปา" เป็นไม้เหลาโค้งประกบติดสายป่านต่อจากคอซุงลงมา ติดประมาณ 3-5 ดอก ประโยชน์คือใช้สำหรับเกี่ยวว่าวปักเป้า
ให้ตาย แล้วจะได้ชักรอกไปกินเสีย
ส่วนว่าวปักเป้ามี "เหนียง" เป็นห่วงป่านติดใต้คอซุงลงมา เอาไว้คล้องตัวว่าวจุฬา ในวงการแข่งขันว่าว ถือว่าว่าวจุฬาได้เปรียบกว่า
ว่าวปักเป้าโดยรูปร่างและอาวุธ กติกาจึงต้องต่อให้ว่าวปักเป้า 2 ต่อ 1

ปักเป้าจะแพ้จุฬาได้หลายกรณี เช่น
1. จุฬาคว้าตัวปักเป้าติด และทำให้ตายคือ ปักเป้าผ่อนสายป่านไม่ได้ เพราะ "จำปา"จุฬาบีบรัดหางพาดซุงหรือสายเครื่องป่านจุฬา
2. กินหางตัวเอง คือหางปักเป้าพันกันเอง
3. ตัวว่าวปักเป้ากระดาษขาดมากจนว่าวเอียงสายแร่งหัวหรือปีกขาด ไม้อกหรือปีกหัก หางขาดเหลือแต่ตัวว่าวหรือตัวว่าวขาด เหลือ
แต่หางติดป่านจุฬา
4. สายเหนียงขาด
5. ตัวปักเป้าลอดซุงจุฬา แล้วจะยาวหรือสั้นกว่าก็ตาม
6. ทำร้ายจุฬาจนกระดาษขาด หรือสักขาดเป็นรูโต ไม้อกหรือปีกหรือขากบหัก
7. ป่านมัดซุงจุฬา
8. จุฬาเข้าตาร้ายประกบติดกัน หรือเข้าเหนียง เป็นต้น
ถ้าขณะเมื่อจุฬาพาปักเป้าไปยังไม่ถึงมือ ปักเป้าเกิดหลุดขาดลอยตามลมมาตกในเขตปักเป้าได้ ก็เป็นอันล้มเลิกกันไปในเที่ยวนั้น
จุฬาจะเอาปักเป้าเป็นแพ้ไม่ได้
ส่วนจุฬาจะแพ้ปักเป้าเมื่อต้องติดปักเป้าตกดินกลับขึ้นอีกไม่ได้ จะตกด้วยประการใด ๆ เช่น ติดต้นไม้ตกขาดลอยติดกันไป หรือขาด
หน้ารอกมาจับได้ในเขตศูนย์ของปักเป้า ถึงแม้ว่าว่าวทั้งสองจะยังขึ้นอยู่ไม่ตกดินก็ตาม หรือแม้แต่จะแฉลบลงดินด้วยมือคนชักว่าวของจุฬา
ก็ตาม เมื่อตกลงในเขตปักเป้าแล้วก็เป็นอันต้องแพ้ปักเป้าทั้งสิ้น แต่ถ้าเมื่อก่อนจะตก ว่าวหลุดจากกันไปในอากาศโดยไม่ติดพันแต่อย่างใด
ก็เป็นอันเลิกกันไปไม่แพ้และชนะ ผู้ชมการแข่งขันว่าวสนุกสนานตรงที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ต่างเอาใจช่วยว่าวที่ตนคาดว่าชนะ มีผู้เปรียบว่าวจุฬา
ซึ่งโฉบส่ายไปมาเหมือนนักเลงโตว่าเป็นฝ่ายชาย และเปรียบว่าวปักเป้าที่ตัวเล็กและโฉบฉวัดเฉวียนว่าแม่เปรต หรือเป็นฝ่ายหญิงก็มี เวลา
แข่งว่าวจะมีการบรรเลงดนตรีไทยคือวงปีพาทย์ให้เข้ากับท่วงทำนองการต่อสู้ของว่าวจุฬาและปักเป้าด้วย เป็นที่สนุกสนานกันมากมีผู้สนใจ
ชมไม่แพ้ยามมีนักขัตฤกษ์ทีเดียว
นั่นก็เป็นรายละเอียดของตำนานว่าวไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อเขียนของ เนื้อหาและภาพประกอบจากของรศ.ดร.ภิญโญ-
สุวรรณคีรี ในหนังสือตำนานว่าวไทย
กล่าวได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ในอดีตที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังให้ได้เห็นสามารถทำ
ตามและคิดรูปแบบใหม่ในลักษณะต่าง ๆ ของว่าวไทย นอกจากการเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้ว สิ่งสำคัญคือมีความสมัครสมานสามัคคี
ของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของไทยสืบ

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
I AM THOR's profile


โพสท์โดย: I AM THOR
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
44 VOTES (4/5 จาก 11 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
iPhone รุ่นประหยัดมาแล้ว!5 วิธีใช้แอร์ผิดๆ ที่ทำให้เปลืองไฟและแอร์พังเร็ว!หนูอายเพื่อน!! ลูกสาวถึงกับร้องไห้ หลังคุณพ่อสายแฟ (ชั่น) มารับที่โรงเรียน ถึงกับถาม “พ่อไม่มีชุดธรรมดาปกติกับเค้าบ้างเหรอ” 😆เช้านี้อิสราเอลยิงขีปนาวุธ โจมตีอิหร่านแล้ววว!! สาวพม่ารีวิว! ค่าใช้จ่ายในการมาเรียนที่ประเทศไทย?"เมร่อน" ทำให้ "ไอซ์ ปรีชญา" กลับมาสดใสอีกครั้ง..หลังผ่านมรสุมมานาน 9 ปี"กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่" นั่งท้ายกระบะมาคอนเสิร์ต..ทำเอาการ์ดไม่เชื่อว่าเป็นศิลปินเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ในอิหร่านพลังมหัศจรรย์ของ "เกลือ" เปลี่ยนการซักผ้าให้สะอาดง่าย
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
"เมร่อน" ทำให้ "ไอซ์ ปรีชญา" กลับมาสดใสอีกครั้ง..หลังผ่านมรสุมมานาน 9 ปีสาวพม่ารีวิว! ค่าใช้จ่ายในการมาเรียนที่ประเทศไทย?ทับสมิงคาล งูพิษอันดับ 8 ของโลก12 เทพเจ้ากรีกมีใครบ้าง
ตั้งกระทู้ใหม่