สตรีผู้มีปัญญายิ่งกว่าไอน์สไตน์
ในอินเดียมีสุภาพสตรีผู้หนึ่งชื่อว่า สกุนตลา เธอได้เดินทางไปรอบโลกและได้เยือนมหาวิทยาลัยแทบทุกมหาวิทยาลัย เพื่อสาธิตการใช้ปัญญาญาณของเธอ เธอมีการศึกษาแค่ระดับมัธยมปลาย และเธอก็ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์
ในช่วงที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น เธอได้เคยเข้าไปสาธิตเรื่องนี้ต่อหน้าของเขา ด้วยการนั่งอยู่หน้ากระดานดำในมือถือชอล์กอยู่
ให้คนตั้งโจทย์อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ บางครั้งขณะที่ยังถามไม่ทันเสร็จ เธอก็เริ่มเขียนคำตอบลงบนกระดานดำแล้ว
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้มอบวุฒิบัตรให้กับเธอ และเธอก็เคยโชว์วุฒิบัตรนี้ต่อข้าพเจ้า ( Osho - ผู้เขียน) เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าเดินทางไปยังเมืองมัทดราส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ เธอได้นำวุฒิบัตรมากมายมาให้ข้าพเจ้าดู และหนึ่งใบนั้น ก็คือใบที่ไอน์สไตน์เขียนไว้ว่า
"ข้าพเจ้าได้ให้สุภาพสตรีท่านนี้แก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ซึ่งโดยปกติแล้วข้าพเจ้าจะต้องใช้เวลาถึง ๓ ชั่วโมงในการแก้ปัญหาตามกรรมวิธี ตามขั้นตอน สำหรับผู้ที่ไม่เคยแก้ปัญหาทำนองนี้ อาจต้องใช้เวลาถึง ๖ ชั่วโมง มีวิธีทำที่ยาวจนต้องเขียนเต็มกระดาน ไม่มีทางที่จะกระโดดข้ามขั้นตอนเข้าไปหาคำตอบได้เลย ..."
แต่แล้วไอน์สไตน์ก็ต้องแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะที่เขาเขียนโจทย์ยังไม่ทันจะเสร็จ สกุนตลาก็เริ่มเขียนคำตอบลงบนกระดานแล้ว ไอน์สไตน์งงมากและคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้
เขาถามเธอว่า "คุณทำได้อย่างไร ? สกุนตลา ตอบว่า "ไม่รู้เหมือนกันว่าฉันทำได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่อยู่ดี ๆ ก็ผุดขึ้นมา พอคุณตั้งโจทย์ ตัวเลขต่าง ๆ ก็ปรากฏแก่ฉัน ฉันเห็นเลขต่างๆ เต็มไปหมด ฉันก็ได้แต่เพียงแค่เขียนตามมันไปเรื่อยๆ เท่านั้น"
สุภาพสตรีผู้นี้เกิดมาพร้อมกับปัญญาญาณที่ทำงานอยู่ในตัวของเธอ (ปัญญาญาณ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Intuition" หรือ
ภาษาไทยว่า "การรู้แบบปิ๊งแว้บ" - ผู้เขียน)
แต่ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหลือเกิน ในเวลานั้น ไม่มีใครสนใจว่า ผู้ที่มีปัญญาญาณระดับนี้สามารถเข้าถึงสภาวะแห่งการรู้แจ้งได้ง่ายมาก ไม่มีใครตระหนักในเรื่องนั้น ทุกคนมัวแต่ไปให้ความสนใจในประเด็นที่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดของธรรมชาติมากกว่า
(สรุปว่า สกุนตลาสามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้รวดเร็วมาก สามารถให้คำตอบได้ทันที เร็วกว่าไอน์สไตน์ ซึ่งปกติไอน์สไตน์จะต้อง
ใช้เวลาแก้ปัญหาถึง ๓ ชั่วโมง จึงเป็นผู้ที่มีปัญญากว่าไอน์สไตน์ - ผู้เขียน)
http://www.oknation.net/blog/surasakc/2010/03/24/entry-1